svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์" ดำผุดดำว่าย งมหาผลประโยชน์ชาติ อย่างไม่สิ้นสุด

26 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรณี"เรือดำน้ำ ไร้เครื่องยนต์"หากเกิดในประเทศประชาธิปไตย เราอาจได้เห็น "การไต่สวนในรัฐสภา"เพื่อให้ได้คำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นในการกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง ติดตามในเจาะประเด็นร้อน โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

"การจัดซื้อเรือดำน้ำ"ของกองทัพเรือไทย เกิดปัญหาขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนสุดท้ายแล้วปรากฏความชัดเจนว่า ยังไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ให้แก่เรือดำน้ำตามที่ราชนาวีไทยได้ให้รัฐบาลจีนดำเนินการ กล่าวคือ จีนไม่สามารถทำตามเงื่อนไขสัญญาที่ต้องใช้เครื่องยนต์ของเยอรมนี (MTU) ในเรือดำน้ำนี้ได้

หรือกล่าวในทางสัญญาจัดซื้อจัดจ้างคือ เกิดการที่ผู้รับสัญญาไม่อาจดำเนินการตาม TOR ที่ลงนามไปแล้วนั่นเอง

\"เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์\" ดำผุดดำว่าย งมหาผลประโยชน์ชาติ อย่างไม่สิ้นสุด

ถ้าเรื่องเช่นนี้เกิดในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว เราอาจได้เห็น "การไต่สวนในรัฐสภา" (parliamentary hearing) เพื่อให้ได้คำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นในการกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ (ในประเด็นเรื่อง accountability- ความรับผิดชอบในตำแหน่งอำนาจหน้าที่)

แต่ในบริบทแบบการเมืองไทย ปัญหาเรือดำน้ำกลายเป็น "ความคลุมเครือ" ที่กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ ไม่เคยมีคำตอบอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีตั้งแต่ต้น จนเกิดสภาวะว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็น "เรื่องของทหาร" สังคมไม่มีความจำเป็นต้องรับรู้และเกี่ยวข้อง หรือที่เป็นสำนวนในอดีตเรียกว่า "เขตทหารห้ามเข้า"…การจัดซื้อยุทโธปกรณ์เช่น กรณีเรือดำน้ำ กลายเป็น "เขตทหารห้ามเข้า" ในทางการเมืองอย่างชัดเจน

ว่าที่จริงแล้ว ผู้นำทหารควรต้องตระหนักว่า เรือดำน้ำนี้ไม่ได้ถูกจัดซื้อด้วยเงินส่วนตัวของรัฐมนตรีกลาโหมหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าพวกเขาออกสตางค์ซื้อให้แก่กองทัพไทยแล้ว สังคมคงไม่จำเป็นต้องวิจารณ์อะไรมากนัก (ไม่ต่างกันกับปัญหาการจัดซื้อเอฟ-35 ของกองทัพอากาศ) ฉะนั้น หากย้อนกลับไปดูในช่วงที่ผ่านมาแล้ว เราจะพบว่ากระทรวงกลาโหมและกองทัพไม่เคยแถลงเรื่องการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์อย่างจริงจัง นอกจากบอกสังคมว่า เป็นความต้องการของเหล่าทัพ เสมือนหนึ่งการส่งสัญญาณทางการเมืองว่า "อย่าถามมาก… อย่าสงสัยมาก"

แฟ้มภาพ ประกอบเรื่อง เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์

อย่างไรก็ตาม เรื่อง "ตลกที่ไม่ชวนหัวเราะ" กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อมีข่าวว่า ผู้บัญชาการทหารเรือไทย พยายามที่จะหาหนทางประนีประนอมกับจีน เพื่อแก้ปัญหา "เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์" ด้วยการเปลี่ยนสัญญาจัดซื้อจาก"เครื่องยนต์เยอรมัน" ไปเป็น "เครื่องยนต์จีน" (CHD 620) วันนี้ ผู้นำทหารไทยที่เป็น "ลูกค้าอาวุธจีน" จะมีท่าทีแบบ "โค้งคำนับ" และยอมทุกอย่าง จีนจะเสนออะไร ผู้นำทหารไทยก็ต้องยอมรับ โดยไม่คำนึงว่าข้อเสนอนั้นจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัญญาเพียงใดหรือไม่ก็ตาม 

ท่าทีแบบยอมจำนนเช่นนี้ ทำให้เกิดสถานะ "ผู้ซื้อที่ไร้อำนาจต่อรอง" และต้องคอย "งอนง้อ" ขอจีนไม่เลิก จนทำให้เกิดคำถามตามมาลับหลังว่า จีนได้ให้อะไรเป็นผลประโยชน์ตอบแทนแก่บรรดา "นายพลเหล่าจัดซื้อ" ของกองทัพไทยหรือไม่ (นายพลในกองทัพไทยเมื่อเติบโตในทางราชการแล้ว พวกเขาหลายคนไม่ว่าจะอยู่ในเหล่าทัพใด มักย้ายสังกัดไปอยู่หน่วยเดียวกันคือ "เหล่าจัดซื้อ" ซึ่งเป็นเหล่าที่ใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลมากที่สุดในกองทัพและกระทรวงกลาโหมไทย!)

แฟ้มภาพ เรือดำน้ำ ไร้เครื่องยนต์  งมหาผลประโยชน์ชาติอย่างไม่สิ้นสุด

ในกรณีเรือดำน้ำจึงน่าแปลกใจว่า ราชนาวีไทยไม่เคยแสดงบทบาทเป็น "smart buyer" ที่มีอำนาจการต่อรองกับผู้ขาย เมื่อผู้ขายผิดสัญญาในสาระสำคัญ คือ เครื่องยนต์เรือดำน้ำ จะคิดตามข้อเสนอของจีนแบบง่ายๆ ว่า เครื่องยนต์จีนใช้ได้ และไม่มีปัญหานั้น เป็นประเด็นที่ผู้ซื้อต้องวินิจฉัยด้วยความ "ใคร่ครวญและรอบคอบ" และต้องไม่เริ่มคิดด้วยความต้องการเฉพาะหน้า ที่พวก"ลัทธิบูชาเรือดำน้ำ" ในกองทัพเรือที่มีคำตอบประการเดียวว่า ทร. ไทย จะต้องมีเรือดำน้ำเท่านั้น ไม่มีแล้ว ทร.จะทำหน้าที่ในความเป็นกองทัพเรือไม่ได้

แต่ต้องเริ่มด้วยคำถามว่า เครื่องยนต์จีนนั้น มีประสิทธิภาพเท่ากับเครื่องยนต์เยอรมันหรือไม่ และเครื่องยนต์จีนใช้กับเรือดำน้ำได้จริงเพียงใด …

การเอาเครื่องเรือรบบนผิวน้ำมาใช้กับเรือดำน้ำตามข้อเสนอของจีน เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ และหากเกิดปัญหาทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยของชีวิตลูกเรือไทยแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ (แค่ปัญหาเรือหลวงสุโขทัยจม จนบัดนี้ยังหาความรับผิดชอบไม่ได้เลย!)

นอกจากนี้ ในความเป็นจริงของธุรกิจอาวุธในเวทีโลกนั้น ตลาดไม่ใช่ "ตลาดผู้ขาย" เพียงฝ่ายเดียวเช่นในอดีต จึงทำให้ต้องเกิดอาการ "งอนง้อ" ของผู้ซื้อ แต่ตลาดอาวุธสมัยใหม่ เป็น "ตลาดผู้ซื้อ" ที่ผู้ซื้อมีอำนาจการต่อรองอย่างมาก อันเป็นผลจากการแข่งขันของผู้เสนอขายในตลาดโลก 

แฟ้มภาพประกอบเรื่อง เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำกองทัพเรืออาจเชื่อเสมอว่า สังคมการเมืองไทยที่ดำรงสภาวะ "ทหารเป็นใหญ่" (civilian supremacy) นั้น การเปลี่ยนแปลงสัญญาในสาระสำคัญจะไม่ทำให้เกิดการฟ้องร้องในทางกฎหมาย เพราะอย่างไรเสีย องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำทุจริต จะ "ไม่กล้า" เอาผิดผู้นำทหาร และก็ "ไม่เคย" เอาผิดผู้นำทหารด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลง TOR จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล (ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนในกรณีนี้ ตอบได้เลยว่า เตรียมย้ายบ้านไปนอนคุกได้เลย)

หากกองทัพเรือต้องให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอการเปลี่ยนแปลง TOR เครื่องยนต์เรือดำน้ำไทยสัญชาติจีน ก็ไม่น่าใช่เรื่องยาก เพราะหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มักจะพูดสนับสนุนทหารในทุกเรื่องอย่างไม่คิด ดังนั้น ทร. อาจมั่นใจว่า มติ ครม. จะช่วยให้แก้ปัญหา "เรือไร้เครื่อง" ได้ ถ้าทำเช่นนั้นจริง ครม.ก็อาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบในทางอาญาด้วย หากเกิดการไต่สวนขึ้นในอนาคต 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรือดำน้ำคือ ตัวแทนของปัญหา "ความไม่โปร่งใส" ของกองทัพ ไม่ต่างจากปัญหาจีที-200 (กล่องพลาสติกพร้อมก้านเหล็ก) เรือเหาะ (ที่ไม่เหาะ) รถถังยูเครน (ที่ไม่มีเครื่องยนต์เยอรมัน) … ปัญหาทั้งหมดนี้คือ คำตอบว่า "การปฏิรูปกองทัพ" เป็นสิ่งที่ต้องกระทำจริงๆ

หลังการเลือกตั้ง 2566 ( บนเงื่อนไขว่า ถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ทะเลาะกันเองจนหมดแรงไปก่อน )!

logoline