svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ปฏิรูปตำรวจ"เสียงเรียกร้องภายหลังเกิดปฏิกิริยา "ชูวิทย์เอฟแฟ็กซ์"

13 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

8 ปีหลังรัฐประหารแล้ว "การปฏิรูปตำรวจ" กลายเป็นเพียงรายการ "จำอวด" ของผู้นำทหาร ที่เวียนผลัดกันเข้ามาควบคุมองค์กรตำรวจ ติดตามได้ในเจาะประเด็น "รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข"

ผลสะเทือนจาก "ชูวิทย์เอฟแฟ็กซ์"  ที่เดินหน้าเปิดโปงเรื่องราวของอาชญากรรมข้ามชาติจากกลุ่ม "จีนเทา" ที่มีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย และยังเปิดโปงเครือข่ายการพนันออนไลน์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการอยู่เบื้องหลัง จนวันนี้ภาพลักษณ์ที่ปรากฏคือ ตำรวจไทยกลายเป็น "แนวร่วมใกล้ชิด" ของอาชญากรรมข้ามชาติจีน ในอีกด้านตำรวจทำหน้าที่เป็น "เจ้าของบ่อนพนันออนไลน์" เสียเอง 
     

ข้อมูลอย่างที่เป็นผลจาก "ชูวิทย์เอฟแฟ็กซ์" ซึ่งเปิดเผยออกมาในแต่ละวัน ทำให้สังคมไทยได้รับรู้ด้วยความตกใจ แม้สังคมจะรู้อยู่แก่ใจถึงบทบาทของ "ตำรวจเทา" มาแล้วในหลายเรื่องก็ตาม ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากกรณีนี้ คือ เกิดเสียงเรียกร้องอย่างมากที่ต้องการเห็นการ "ปฏิรูปตำรวจ" เกิดขึ้นมากกว่าการนำเสนอเรื่องการแยกอำนาจการสอบสวนอย่างที่ถูกชูขึ้นมาเป็นประเด็นหลังรัฐประหาร 2557 อีกทั้ง 8 ปีหลังรัฐประหารแล้ว การปฏิรูปตำรวจกลายเป็นเพียงรายการ "จำอวด" ของผู้นำทหาร ที่เวียนผลัดกันเข้ามาควบคุมองค์กรตำรวจ

วันนี้เสียงเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจคู่ขนานกับการปฏิรูปทหาร เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว แม้มิติของการปฏิรูปอาจจะแตกต่างกันออกไป ตามเงื่อนไขของบทบาทและพฤติกรรมของบุคคลาการและองค์กร แต่หลักการไม่ได้แตกต่างกัน
     

ถ้าการปฏิรูปกองทัพต้องการสร้าง "ทหารอาชีพ" (professional military) เช่นไร การปฏิรูปตำรวจก็ต้องการสร้าง "ตำรวจอาชีพ"(professional police) เช่นนั้น …เป้าหมายหลักของการปฏิรูปองค์กรทั้งสองไม่ได้แตกต่างกัน คือ สร้างทหารให้เป็นมืออาชีพ เช่นเดียวกับสร้างตำรวจให้เป็นมืออาชีพด้วย

ถ้าทหารไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ภารกิจของการป้องกันประเทศจะถูกเบี่ยงเบนให้เป็นอื่น เช่น การป้องกันประเทศกลายเป็นการแทรกแซงทางการเมือง หรือเมื่อการป้องกันประเทศไม่ถูกนิยามให้เกิดความชัดเจนแล้ว บทบาททหารจึงกลายเป็นเรื่องการสร้างอำนาจของผู้นำทหารโดยอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือหลัก 
       

นทำนองเดียวกัน ถ้าตำรวจไม่เป็นมืออาชีพแล้ว การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย คำขวัญของ "แก๊งตำรวจ" เหล่านี้จึงไม่ใช่ "พิทักษ์สันติราษฎร์" แต่จะเป็น "พิทักษ์เทา" ดังเช่นที่เห็นบทบาทของตำรวจเช่นนี้ในการให้ความคุ้มครองแก่บรรดา "แก๊งจีนเทา" และ "แก๊งพนัน" เป็นต้น จนต้นทุนทางสังคมของสถาบันตำรวจในสังคมไทย ลดต่ำลงอย่างมาก นอกจากนี้ การปฏิรูปตำรวจ/ทหารมีจุดเชื่อมที่สำคัญคือ ผู้นำทหารโดยเฉพาะผู้นำรัฐประหารจะต้องยุติบทบาทในการครอบงำองค์กรตำรวจ
       

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว"การปฏิรูปตำรวจ"จึงถูกมองจากสังคมว่า เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในกระบวนการแก้ปัญหา ไม่ว่าการปฏิรูปตำรวจจะสามารถเปลี่ยน "วัฒนธรรมองค์กร" ของตำรวจได้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อย การเริ่มต้นการปฏิรูปคือ จุดเริ่มของการสร้างความเปลี่ยนแปลง อันจะเป็นหนทางในการ "เพิ่มทุนทางสังคม" ให้แก่องค์กรตำรวจ วันนี้องค์กรตำรวจกำลังอยู่ใน "วิกฤตศรัทธา" ที่มีภาวะ "ขาดทุนทางสังคม"อย่างน่าเป็นห่วง


การปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มด้วยหลักการพื้นฐานว่า ตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย และตำรวจก็จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วย การเป็นผู้รักษากฎหมายไม่ใช่ปัจจัยที่อนุญาตให้ตำรวจมีอำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีอำนาจที่จะดำเนินการนอกกรอบทางกฎหมายได้ (ทหารก็อยู่ภายใต้หลักการนี้เช่นกัน) ดังนั้น การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องถูกกำกับด้วย "ประมวลจริยธรรมและธรรมภิบาลของวิชาชีพ"  และประมวลนี้จะเป็นตัวกำหนดนิยามของความเป็น "ตำรวจอาชีพ" เพื่อกำหนดอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในสังคม 

 

นอกจากนี้จะต้องตระหนักว่า ตำรวจในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีภารกิจไม่ได้มีเพียงในเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อยคือ การ "พิทักษ์สันติราษฎร์" เท่านั้น หากยังมีหน้าที่ในการ "พิทักษ์สิทธิมนุษยชน” และทั้งยังต้องทำให้องค์กรตำรวจมีสภาวะ "เปิดกว้าง-ตรวจสอบได้"  เนื่องจากตำรวจเป็น "องค์กรติดอาวุธ" ของรัฐ ที่อยู่อย่างใกล้ชิดกับประชาชนในสังคม อันทำให้ การตรวจสอบตำรวจจากภาคประชาสังคม เป็นประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในการที่สังคมจะต้องมีบทบาทในการ  "กำกับ-ตรวจสอบ" เพื่อให้องค์กรและบุคลากรของสถาบันตำรวจมีความโปร่งใส และทำหน้าที่ในความเป็น "ตำรวจอาชีพ" อย่างมี "ธรรมาภิบาล" 
     

ดังนั้น กลไกและกระบวนการตรวจสอบตำรวจ ทั้งในแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการจึงมีความสำคัญในการสร้างตำรวจอาชีพ อีกทั้ง กลไกและกระบวนการเช่นนี้จะมีบทบาทโดยตรงในการควบคุมให้ตำรวจอยู่ภายใต้กฎหมาย และปฎิบัติหน้าที่ภายใต้ข้องบังคับของ "ประมวลจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาลตำรวจ"
     

 

แน่นอนว่า การปฏิรูปตำรวจไทยภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองและวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และการปฏิรูปไม่ใช่ในแบบที่ประธานคณะกรรมการข้าราชตำรวจ (คือนายกรัฐมนตรี) จะมาพูดแบบโยนความรับผิดชอบว่า ให้ไปจัดการกันเองทางกฎหมาย ถ้าประธาน ก. ตร. ไม่ตระหนักถึงปัญหาและความหนักหน่วงที่สถาบันตำรวจกำลังเผชิญอยู่แล้ว สงสัยก่อนจะปฏิรูปตำรวจ คงต้องปฏิรูปท่านประธานเป็นคนแรกครับ!
  

logoline