svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“นายกรัฐมนตรี” ต้องเป็น ส.ส. หรือไม่ ? กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน

05 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ที่มาของข้อเรียกร้อง “นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส.” ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535

“นายกรัฐมนตรี” ควรเป็น ส.ส. หรือไม่ ? กลายเป็นคำถามขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากแคนดิเดตนายกฯ ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ไม่ได้ลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ นั่นก็คือ “บิ๊กตู่ – ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จาก “พรรครวมไทยสร้างชาติ” กับ “อุ๊งอิ๊งค์ - แพทองธาร ชินวัตร” และ “เศรษฐา ทวีสิน” จาก “พรรคเพื่อไทย”

ซึ่งหากว่ากันในแง่กฎหมายก็ “สามารถทำได้” เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดเอาไว้ แต่ถ้าพูดถึงในแง่ที่ว่า ควรหรือไม่ควร ก็เป็นเรื่องของสามัญสำนึกของแต่ละพรรค ของแต่ละบุคคล

ประเด็น “นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.” กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน

หากย้อนทบทวนความทรงจำไปยังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน เมื่อ 30 ปีก่อน ประเด็นนี้ก็เคยทำให้การเมืองไทยลุกเป็นไฟมาแล้ว จนเป็นหนึ่งในปัจจัยนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่ประชาชนจำนวนมากต้องสังเวยด้วยเลือดและน้ำตา โดยมี 2 ข้อเรียกร้องสำคัญคือ 1. “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และ 2. นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

ดังนั้นประเด็น “นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.” จึงเปรียบเสมือนมรดกแห่งการต่อสู้ของประชาชนในเชิงประวัติศาสตร์ โดยต่อมาก็ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 รัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน และดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย

แต่ก่อนการรัฐประหารปี 2549 ก็มีความพยายามจุดกระแส “นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.” แต่ก็ไม่ได้รับการขานรับนัก กระนั้นก็ตามที ด้วยประเด็น “นายกต้องเป็น ส.ส.” ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อันเนื่องมาจากมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนเป็นจุดเริ่มต้น ในรัฐธรรมนูญ ฉบับต่อมา คือเวอร์ชั่นปี 2550 ก็ยังคงกำหนดให้ “นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.”

“นายกรัฐมนตรี” ต้องเป็น ส.ส. หรือไม่ ? กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้กำหนด “นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.”

แต่แล้วใน “รัฐธรรมนูญปี 2560” ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของ คสช. ในปี 2557 ก็ไม่ได้กำหนดให้ “นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.” โดยระบุว่า ผู้ที่มีสิทธิเป็นนายกฯ ต้องเป็นแคนดิเดตฯ ของพรรคการเมือง ที่ยื่นรายชื่อไว้ก่อนวันเลือกตั้ง และพรรคพรรคนั้นจะต้องได้ ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 25 คน จึงจะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตฯ เข้าชิงตำแหน่งนายกฯ ได้

ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ แคนดิเดตนายกฯ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ ก็จะมีชื่ออยู่ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนในแง่ที่ว่า ทำไมบางพรรคจึงไม่ให้แคนดิเดตนายกฯ ลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หลักๆ ก็คาดว่าน่าจะเป็นเหตุผลในเชิงเทคนิค เพื่อไม่ให้เบียดบังโควต้าของสมาชิกคนอื่นๆ รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาศึกชิงอันดับปาร์ตี้ลิสต์ ที่สร้างความปวดขมับให้กับหลายพรรคการเมือง

อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะเนื่องมาจากเจตจำนงของแคนดิเดตนายกฯ เอง  ที่ต้องการเป็นนายกฯ เท่านั้น ไม่ประสงค์จะทำหน้าที่อื่นในสภา เพราะสมมติว่า หากพรรคที่ตนสังกัดไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่หากตัวเองได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งบางคนอาจมองว่า มันไม่คุ้ม หากได้เป็นเพียง ส.ส. หรือรัฐมนตรีเท่านั้น

“นายกรัฐมนตรี” ต้องเป็น ส.ส. หรือไม่ ? กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน

ในกรณีของ “บิ๊กตู่” สังคมไม่ค่อยรู้สึกแปลกใจนัก แต่ที่เซอร์ไพรส์ก็คือ การตัดสินใจของ “พรรคเพื่อไทย” ที่เคยประกาศว่า จะทำให้ไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หนำซ้ำเมื่อปลายปีที่แล้วยัง “เล่นใหญ่” ยื่นเรื่องขอแก้รัฐธรรมนูญ “ต้องให้นายกฯ เป็น ส.ส.”

ดังนั้นเมื่อไม่มีชื่อของ “อุ๊งอิ๊งค์” กับ “เศรษฐา” ในปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ก็ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นมาทันที แม้จะมีการอ้างว่า การเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ได้ยึดโยงกับประชาชนแล้ว เพราะหากประชาชนเลือกผู้สมัครทั้งระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อของพรรคใดเยอะ นั่นก็เท่ากับว่า อยากให้แคนดิเดตฯ ของพรรคพรรคนั้นได้เป็นนายกฯ นั่นเอง

รวมถึงข้ออ้างแบบหลังชนฝา ที่บอกว่า “พรรคเพื่อไทย” ปฏิบัติตามกฎกติกา ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ตัวเองเคยระบุว่า หลายๆ มาตราในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งมาตราที่ว่าด้วยเรื่องของที่มานายกรัฐมนตรี

ซึ่งในกรณีที่อ้างว่า กระทำตามกฎกติกาในรัฐธรรมนูญ ก็เกิดคำถามตามมาว่า แล้วมันจะต่างอะไรกับที่ “เหล่า ส.ว. แต่งตั้ง” ไม่ยอมปิดสวิตช์ตัวเอง แต่ยืนยันจะใช้สิทธิโหวตเลือกนายกฯ เพราะก็เป็นการปฏิบัติตามกติการัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเช่นเดียวกัน ?

“นายกรัฐมนตรี” ต้องเป็น ส.ส. หรือไม่ ? กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ประเด็นเรื่อง “นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.” เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน ฉะนั้นแล้วการแสดงความจริงใจอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุด โดยไม่ต้องสรรหาคำอธิบายมากมายให้วุ่นวาย จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ... นอกจากพรรคการเมืองพรรคนั้นไม่ได้เรียนรู้ หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเลย    

logoline