svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“ชนะเลือกตั้งปี 2566” ในความหมายของแต่ละพรรคการเมือง

สิ่งที่คาดหวัง เป้าหมาย ที่เปรียบได้กับหลักชัยของพรรคการเมืองต่างๆ ที่กลายเป็นยุทธศาสตร์ในการกำหนดยุทธวิธีสู้ศึกเลือกตั้งปี 2566

“การเลือกตั้ง” ในบริบทของประเทศไทย “ได้ ส.ส. มากที่สุด” ไม่ได้หมายความว่า “ชนะ” หรือ “จัดตั้งรัฐบาลได้เสมอไป” ตัวอย่างก็มีให้เห็นมาแล้ว จากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ฉีกธรรมเนียมปฏิบัติ และมารยาททางการเมืองที่ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ สิ่งที่เป็นไฮไลต์จึงไม่ใช่ “พรรคใดได้ ส.ส. มากที่สุด” แต่คือพรรคใดจะรวบรวมคะแนนเสียงทั้งในส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. ได้มากที่สุดในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ดังนั้นแล้ว ยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ของแต่ละพรรคจึงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสรรพกำลังภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ

ซึ่งแน่นอนแหละว่า ทุกพรรคอยากเป็นรัฐบาล แต่เมื่อประเมินจากศักยภาพของตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็ทำให้นิยามคำว่า “ชนะเลือกตั้งปี 2566” ของแต่ละพรรค มีความหมายที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

“ชนะเลือกตั้งปี 2566” ในความหมายของแต่ละพรรคการเมือง

บทความที่น่าสนใจ

1. พรรคเพื่อไทย

สิ่งที่หวัง : แลนด์สไลด์ และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

มีการประเมินกันครั้งแล้วครั้งเล่าจนเกือบกลายเป็นข้อเท็จจริงไปแล้ว ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น นั่นก็คือ พรรคที่จะได้ ส.ส. มากที่สุด คือ “พรรคเพื่อไทย” แต่ถึงกระนั้นก็ตามที มันเป็นคนละเรื่องกับการได้เป็นรัฐบาล

ดังตัวอย่างในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ “พรรคเพื่อไทย” แม้จะส่งผู้สมัครลงไม่ครบทุกเขต แต่ก็ได้ ส.ส. เป็นอันดับ 1 แต่ด้วยแต้มที่ชนะไม่ขาด ไม่สูงจากอันดับ 2 นั่นก็คือ “พลังประชารัฐ” มากนัก ที่ต่อมาสามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ได้เกิน 250 แบบปริ่มๆ และเหล่า ส.ว. ก็โหวตหนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องกล้ำกลืนเป็นฝ่ายค้านมาเกือบ 4 ปี

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ “พรรคเพื่อไทย” ยังคงเสียเปรียบเรื่อง ส.ว. ที่ยังมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ แต่ก็หวังว่า ถ้าสามารถได้ ส.ส. อย่างถล่มทลาย ก็จะสร้างความชอบธรรมกดดันไม่ให้ ส.ว. เลือกแคนดิเดตนายกฯ ที่ส่อไปทางสวนมติแห่งมหาชน

ดังนั้นแล้วเป้าหมายที่ "พรรคเพื่อไทย" วางไว้ก็คือ ต้อง “แลนด์สไลด์” เท่านั้น ล่าสุดได้มีการขยับเป้าขึ้นเป็น 310 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ

แต่จากการประเมินของพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงเหล่ากูรูในวันนี้ ก็เห็นตรงกันว่า แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะได้ ส.ส. มากที่สุด แต่คาดว่า ไม่ถึงขั้นแลนด์สไลด์ น่าจะอยู่ราวๆ 200 (+ -) และแนวโน้มตรงนี้ ทำให้อีก 2 พรรคมีลุ้นที่จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้จะได้จำนวน ส.ส. ไม่มากนักก็ตาม

“ชนะเลือกตั้งปี 2566” ในความหมายของแต่ละพรรคการเมือง

2. พรรคพลังประชารัฐ

สิ่งที่หวัง : ได้ ส.ส. มากกว่า “รวมไทยสร้างชาติ” และ “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้มีความเป็นไปได้ที่ “พรรคพลังประชารัฐ” จะลดสเกลลงจากพรรคขนาดใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง โดยคาดว่าจะได้ ส.ส. ประมาณ 40 คน (+ -) แต่ด้วยแต้มต่อ ที่รู้ๆ กันว่า มี ส.ว. จำนวนหนึ่งพร้อมให้การสนับสนุน ทำให้ชื่อของ “บิ๊กป้อม” เป็น 1 ใน “ตัวเต็ง” ที่มีโอกาสเป็นนายกฯ คนต่อไป

โดย “บิ๊กป้อม” ใช้ยุทธวิธีที่ยืดหยุ่น ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า พร้อมร่วมรัฐบาลกับทั้ง 2 ขั้ว ภายใต้สโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ซึ่งหมากที่วางไว้ก็คือ หาก “เพื่อไทย” ไม่แลนด์สไลด์ แต่อยากเป็นรัฐบาล ก็อาจจำเป็นต้องบวกกับ “พลังประชารัฐ” ที่มาพร้อมเสียง ส.ว. จำนวนหนึ่ง ด้วยการแท็กทีมกัน ภายใต้เงื่อนไข “บิ๊กป้อม” ต้องเป็นนายกฯ

แต่สมมติว่า “พรรครวมไทยสร้างชาติ” สามารถรวบรวมจำนวน ส.ส. จากพรรคต่างๆ ได้ในระดับมีลุ้น และถ้าได้ “พลังประชารัฐ” มาร่วมด้วย ก็จะได้เสียง ส.ว. สนับสนุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ซึ่งในกรณีนี้หาก “พลังประชารัฐ” ได้ ส.ส. มากกว่า “รวมไทยสร้างชาติ” ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ “บิ๊กป้อม” สามารถต่อรองตำแหน่ง “นายกฯ” ได้อีกเช่นกัน หากทาง “รวมไทยสร้างชาติ” ต้องการเป็นรัฐบาล การเดินเกมของ “พลังประชารัฐ” จึงเรียกว่า “ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง” เลยเชียว

“ชนะเลือกตั้งปี 2566” ในความหมายของแต่ละพรรคการเมือง

3. พรรครวมไทยสร้างชาติ

สิ่งที่หวัง : ได้ ส.ส. มากกว่า “พลังประชารัฐ” และ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ

แม้จะเป็นพรรคเกิดใหม่ แต่กูรูหลายคนก็เห็นพ้องต้องกันว่า ประมาทไม่ได้เด็ดขาด เพราะต้องยอมรับว่า ชื่อของ “บิ๊กตู่” ยังขายได้ในกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งเมื่อประกาศตัวเป็นหัวขบวน ขอยืนอยู่คนละข้างกับ “พรรคเพื่อไทย” ทำให้ได้ใจ “พลพรรคฝ่ายขวา” เป็นอย่างมาก

โดยประเมินว่า “พรรครวมไทยสร้างชาติ” น่าจะได้ ส.ส.  35 – 40 คน ซึ่งเป็นเรตใกล้เคียงกับ “พรรคพลังประชารัฐ” แต่ก็มีความได้เปรียบตรงมีเสียง ส.ว. จำนวนหนึ่ง ที่คาดว่าน่าจะมากกว่า “บิ๊กป้อม” แต่ถ้าทั้ง “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” ผลึกกำลังกัน ก็จะได้เสียง ส.ว. หนุนอย่างเป็นกอบเป็นกำ ในระดับยกสภาเลยทีเดียว

ซึ่งสมมติว่า หลังเลือกตั้งทั้ง 2 พรรคตกลงปลงใจกลับมาเป็นทองแผ่นเดียวกัน หาก “รวมไทยสร้างชาติ” ได้ ส.ส. มากกว่า “พลังประชารัฐ” ตรงนี้ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ “บิ๊กตู่” สามารถต่อรองตำแหน่ง “นายกฯ” ได้เช่นเดียวกัน

“ชนะเลือกตั้งปี 2566” ในความหมายของแต่ละพรรคการเมือง

4. พรรคก้าวไกล

สิ่งที่หวัง : ได้ร่วมรัฐบาลเฉพาะกับขั้วประชาธิปไตย

สมมติว่า “พรรคเพื่อไทย” ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมี “พรรคก้าวไกล” ร่วมด้วยเสมอไป อันเนื่องมาจาก “พรรคก้าวไกล” ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่ขอร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ไม่ขอร่วมงานกับ 3 ป. ไม่ว่าจะ ป.ใดก็ตาม อย่างเด็ดขาด

ดังนั้นในกรณีที่ “พรรคเพื่อไทย” มีความจำเป็นต้องแท็กทีมกับ “พลังประชารัฐ” เพื่อจัดตั้งรัฐบาล “พรรคก้าวไกล” ก็ต้องกลายเป็น “ฝ่ายค้าน” ไปโดยปริยาย ตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชน  

“ชนะเลือกตั้งปี 2566” ในความหมายของแต่ละพรรคการเมือง

5. พรรคเสรีรวมไทย

สิ่งที่หวัง : ได้ร่วมรัฐบาล โดยไม่มี “รวมไทยสร้างชาติ”

“พรรคเสรีรวมไทย” ของ “ตู่ใหญ่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ก็เป็นอีกพรรคหนึ่งที่ประกาศอย่างชัดเจน ไม่ขอร่วมรัฐบาลกับ “บิ๊กตู่” แต่สามารถร่วมงานกับ “บิ๊กป้อม” ได้

ฉะนั้นแล้ว สมมติว่า หาก “พรรคเพื่อไทย” มีความจำเป็นต้องแท็กทีมกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กป้อม” หรือ “แคนดิเดตฯ เพื่อไทย” เป็นนายกฯ “พรรคเสรีรวมไทย” ก็มีโอกาสได้ร่วมรัฐบาล จึงมีแนวโน้มสูงว่า หากหลังเลือกตั้ง “พรรคเพื่อไทย” เป็นรัฐบาล “พรรคเสรีรวมไทย” ก็จะได้เข้าร่วมด้วยอย่างแน่นอน  

“ชนะเลือกตั้งปี 2566” ในความหมายของแต่ละพรรคการเมือง

6. พรรคภูมิใจไทย

สิ่งที่หวัง : ได้ร่วมรัฐบาล แบบมีอำนาจต่อรอง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดกันว่า “พรรคภูมิใจไทย” จะได้ ส.ส. มากเป็นอันดับ 2 รองจาก “พรรคเพื่อไทย” ตัวเลขกลมๆ น่าจะอยู่ที่ 80 ที่นั่ง แต่หากจะวางเป้าไว้ 100 ก็ถือว่า ไม่ใช่เรตที่ไกลเกินเอื้อม

แต่ถึงกระนั้นก็ตามที “ภูมิใจไทย” ก็เลือกเดินหมาก “ไม่แข่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” กับใคร เน้นชัวร์ไว้ก่อน ขอให้ได้เป็นรัฐบาลแน่ๆ ไม่ว่าจะอยู่กับขั้วใดก็ได้หมด

และด้วยจำนวน ส.ส. ที่คาดว่าจะค่อนข้างสูง จึงทำให้ “พรรคภูมิใจไทย” กลายเป็น “พรรคตัวแปร” ที่มีอำนาจต่อรองสูงตามไปด้วย

“ชนะเลือกตั้งปี 2566” ในความหมายของแต่ละพรรคการเมือง

7. พรรคประชาธิปัตย์

สิ่งที่หวัง : ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่าเลือกตั้งครั้งก่อน และเป็นรัฐบาล

“ประชาธิปัตย์ก็เป็นอีกหนึ่งพรรคที่วางยุทธศาสตร์ไว้อย่างชัดเจน ว่าต้องเป็น “รัฐบาล” เท่านั้น และตั้งเป้าแบบไม่กดดันตัวเองนัก นั่นก็คือต้องได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งปี 2562 นั่นก็คือ 52 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีความเป็นไปได้อยู่

และหากเป็นไปได้ตามเป้า ก็คาดว่า “ประชาธิปัตย์” จะกลายเป็น “พรรคตัวแปร” ที่แม้ได้ ส.ส. ไม่มากนัก แต่ก็มีพลังอำนาจในการต่อรอง สามารถเลือก “เก้าอี้รัฐมนตรี” ที่หมายปองได้เลยทีเดียว   

“ชนะเลือกตั้งปี 2566” ในความหมายของแต่ละพรรคการเมือง