svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ถอดรหัส “ร่วมรัฐบาล” หลังการเลือกตั้งปี 2566

31 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และท่าทีของ 7 พรรคการเมือง ที่นำไปสู่การถอดรหัสในการร่วมรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งนี้

แน่นอนแหละว่า หลังจาก "การเลือกตั้ง" พรรคใดจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หรือได้เข้าร่วมรัฐบาล ปัจจัยที่สำคัญก็ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงที่ได้รับ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดที่ทรงพลังที่สุด ในการใช้เป็นอำนาจต่อรอง

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่พอมานำมาใช้ในการประเมินเบื้องต้นได้ก็คือ “ท่าทีที่ชัดเจน” และ “ไม่ชัดเจน” ของแต่ละพรรค ที่พอมีร่องรอยให้สามารถนำมาถอดรหัสในการร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งได้ในระดับหนึ่ง ดังต่อไปนี้

กลุ่มพรรคที่มีท่าทีชัดเจน

พรรคในกลุ่มนี้ ก็ได้แก่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่มีท่าทีชัดเจน คือ ไม่ร่วมกับพรรคต่างขั้วเด็ดขาด ด้วยการประกาศตัวเป็น “หัวขบวนอนุรักษ์นิยม”

ซึ่งถึงแม้ว่า “รวมไทยสร้างชาติ” อาจได้คะแนนเสียงไม่มากนัก อยู่ในระดับพรรคขนาดกลาง แต่ด้วยมีแต้มต่อที่ ส.ว. จำนวนหนึ่ง ที่ยังมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ

ทำให้ทางพรรคคาดหวังว่า หากได้คะแนนเสียงไม่ขี้ริ้วขี้เหร่จนเกินไปนัก (ต้องได้ไม่ต่ำกว่า 25 เสียง ถึงมีสิทธิเสนอแคนดิเดตนายกฯ) อาจได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มพรรคตัวแปร”

ถอดรหัส “ร่วมรัฐบาล” หลังการเลือกตั้งปี 2566

แต่จะสนับสนุนให้ “แคนดิเดตฯ ของพรรค” ได้เป็นนายกฯ หรือแค่เชิญเข้าร่วมร่วมรัฐบาล ก็ขึ้นอยู่กับตัวเลข ส.ส. เป็นสำคัญ แต่สิ่งที่ชัดเจนแน่นอนก็คือ ในรัฐบาลชุดนั้นต้องไม่มีพรรคต่างขั้วตัวเอ้ อย่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคก้าวไกล” เด็ดขาด

พรรคต่อมาที่มีท่าทีชัดเจน ก็คือ “พรรคก้าวไกล” ที่ประกาศอย่างหนักแน่น ไม่ขอร่วมรัฐบาลกับ “รวมไทยสร้างชาติ” และ “พลังประชารัฐ” อย่างเด็ดขาด ทำให้หากเกิดกรณีมีการจัดตั้งรัฐบาลสลับขั้ว “พรรคก้าวไกล” ก็ประกาศแล้วว่า ยอมทำหน้าที่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน

ส่วนพรรคต่อมาก็คือ “เสรีรวมไทย” ที่ประกาศอย่างชัดเจน “ไม่ร่วมรัฐบาลกับ “บิ๊กตู่” แต่อยู่กับ “บิ๊กป้อม” ได้ ดังนั้นในกรณีที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลับขั้ว หากไม่มี “พรรครวมไทยสร้างชาติ” อยู่ในสมการ “เสรีรวมไทย” ก็มีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาล ค่อนข้างชัวร์

ถอดรหัส “ร่วมรัฐบาล” หลังการเลือกตั้งปี 2566

บทความที่น่าสนใจ

กลุ่มพรรคตัวแปร

ในกลุ่มนี้ ก็ประกอบด้วย “พรรคพลังประชารัฐ” , “พรรคภูมิใจไทย” และ “พรรคประชาธิปัตย์” ด้วยท่าทีประนีประนอม ร่วมรัฐบาลได้กับทุกขั้ว ทำให้ทั้ง 3 พรรคมีแนวโน้มได้เป็นรัฐบาลสูงมาก

โดยเฉพาะในกรณีของ “พรรคพลังประชารัฐ” แม้อาจจะได้จำนวน ส.ส. ในเลเวลพรรคขนาดกลาง แต่ด้วยแต้มต่อคือเสียง ส.ว. จำนวนหนึ่ง ดังนั้นถ้าสถานการณ์เข้าทาง ก็อาจสามารถต่อรองให้ “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ คนที่ 30 ได้เลยเชียว

ส่วน “พรรคภูมิใจไทย” ที่คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะได้ ส.ส. ในระดับ 80 คน (+ -) แต่ช่วงหลังๆ ก็พยายามสงวนท่าที ไม่ขอแข่งเป็นนายกฯ กับใคร ดังนั้นถ้าสถานการณ์เข้าทาง ก็จะมีอำนาจต่อรองมหาศาล ขออะไรก็ได้ทุกอย่าง ยกเว้นตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

ส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” ที่หากได้ ส.ส. ตามเป้าที่วางไว้ คือ 52 คนขึ้นไป หรือไม่น้อยกว่านี้มากนัก ก็จะเป็นอีกพรรคตัวแปร ที่มีอำนาจต่อรองไม่น้อยในการเลือกตำแหน่ง “รัฐมนตรี”

ถอดรหัส “ร่วมรัฐบาล” หลังการเลือกตั้งปี 2566

พรรคที่แสดงท่าทีไม่ร่วมกับพรรคต่างขั้ว (ถ้าไม่จำเป็น)

แม้ที่ผ่านมา “พรรคเพื่อไทย” จะออกมาปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า เรื่องดีลลับกับ “พรรคพลังประชารัฐ” แต่เมื่อขอตอบชัดๆ ว่าหลังเลือกตั้งจะจับมือกับ “พรรคพลังประชารัฐ” หรือไม่ หากถอดรหัสจากท่าที คำตอบที่ได้ก็ประมาณ “ไม่ร่วมกับพรรคต่างขั้ว (ถ้าไม่จำเป็น)”

ซึ่งสาเหตุที่ท่าทีของ “เพื่อไทย” ถูกตั้งข้อสงสัยว่า “ไม่ชัดเจน” ก็เนื่องด้วยเดิมพันที่สูง ที่ในครั้งนี้ต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น แต่ด้วยโอกาสที่จะแลนด์สไลด์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก

ซึ่งจากวิเคราะห์ของเหล่ากูรูทางการเมืองส่วนใหญ่ หรือแม้แต่พรรคการเมืองด้วยกันเอง ต่างก็ประเมินว่า ตัวเลข ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย จะอยู่ราวๆ 200 (+ -)  

ดังนั้นหากสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง บีบบังคับให้ต้องเลือกระหว่าง “การเป็นรัฐบาล” หรือ “ศรัทธาของประชาชน” ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วในวันนั้น “พรรคเพื่อไทย” จะเลือกอะไร ?  

logoline