svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี" ชี้ "ศักดิ์สยาม" อภิปรายรถไฟฟ้าสายสีส้ม "คนละคดี” จับตาครม."ฮั้ว"

19 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทวี" ร่ายยาว ชี้ "ศักดิ์สยาม อภิปราย รถไฟฟ้าสายสีส้ม “อ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคนละคดีคนละประเด็น” เป็นการ “ฟอกดำให้เป็นดำ” จับตา นำเข้าครม. จะ “ร่วมกันฮั้วประมูล” หรือไม่

19 กุมภาพันธ์ 2566 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Tawee Sodsong - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า รถไฟฟ้าสายสีส้ม “อ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคนละคดีคนละประเด็น” เป็นการ “ฟอกดำให้เป็นดำ” เพื่อนำเข้า ครม. “ร่วมกันฮั้วประมูล”

ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อ้างว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงคดีเสร็จสิ้นฝ่าย รัฐบาล (รฟม.) กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย  ได้เสนอให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาร่วมทุนตาม มาตรา 41 เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาลงมา ครม. จะพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามมาตรา 42 นั้น

เห็นว่า ในเรื่องขั้นตอนการตรวจสอบ “คำสั่งทางปกครอง” เป็นคนละคดีคนละประเด็นกับที่จะนำเข้า ครม. ที่มีส่วนต่างรัฐต้องเสียหายมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่อ้างเป็นคนละคดีคนละประเด็นกัน เรื่องที่นำเข้า ครม. ศาลยังไม่เคยตัดสิน การดำเนินการประมูลครั้งล่าสุด จนได้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 2 เป็นเหตุการณ์ภายหลังฟ้องคดีฟ้องร้องตามคำพิพากษาฯ

\"ทวี\" ชี้ \"ศักดิ์สยาม\" อภิปรายรถไฟฟ้าสายสีส้ม \"คนละคดี” จับตาครม.\"ฮั้ว\"

สำหรับการประมูลครั้งที่ 2 กระผมและคณะได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ให้ตรวจสอบเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 และแสวงหาผลประโยชน์มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประเทศชาติเสียหาย

ผลการประกวดราคาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 โดยระบุว่า BEM เป็นผู้ชนะการประมูล ที่มีส่วนต่างราคาที่รัฐบาลต้องชดเชย (เสียหาย) จำนวนมากกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท นั้น คำถามมีว่า 

     1.) เหตุใด ITD ที่มีประสบการณ์ประมูลโครงการรัฐมาอย่างโชกโชน ถึงกล้าเสนอราคาสูงถึง 102,635 ล้านบาท มากกว่าราคากลางที่เป็นกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ 9,675 ล้านบาท ที่ส่อไปไม่สุจริต

     2.) เป็นการ “จงใจ” ยื่นข้อเสนอเพื่อให้พ่ายแพ้ตั้งแต่ในมุ้งหรือไม่ ? หรือ “จงใจ” ทำให้ข้อเสนออีกเจ้า “ดูดี” หรือไม่ ?

     3.) ในช่วงที่ รฟม.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิคเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ก่อนเดินหน้าพิจารณาข้อเสนอราคาต่อไป หลายฝ่ายได้ออกโรงทักท้วง ต่อกรณีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาให้ ITD ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ทั้ง ๆ ที่กรรมการผู้มีอำนาจของ ITD ต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งเข้าข่ายลักษณะ “ต้องห้าม” การร่วมลงทุนหรือเข้าประมูลโครงการรัฐตั้งแต่แรก ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 (ประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ)

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

การปล่อยให้ ITD Group ซึ่งมีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนฯ ทั้ง ๆ ที่ มาตรา 39 ของ พ.ร.บ. ร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 ประกอบกับข้อ 9.3 ของประกาศเชิญชวนดังกล่าวได้กำหนดอย่างชัดเจนว่า คณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม. ต้องประเมินให้ ITD Group ไม่ผ่าน และต้องไม่เปิดข้อเสนอด้านราคาของ ITD Group ต่อไปหรือจะเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ. ร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 ที่กำหนดว่า ถ้าเหลือผู้ยื่นข้อเสนอถูกต้องเพียงรายเดียวและการดำเนินการต่อไปไม่ทำให้รัฐได้ประโยชน์ จะต้องยกเลิกการประมูล 

     4.) ผลประโยชน์ที่รัฐเสียหายจากการเปิดซองราคาของกิจการร่วมค้า BSR (BTS – STECON) ต่อหน้าสื่อมวลชน โดยกิจการร่วมค้า BSR ได้ขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐสุทธิเพียง 9,675 ล้านบาทเท่านั้น ต่ำกว่ากลุ่ม BEM ที่ยื่นขอรับเงินชดเชยจากภาครัฐสูงกว่า 78,287.95 ล้านบาท มีส่วนต่างที่รัฐต้องเสียหายมากถึง 68,432 ล้านบาท ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์อย่างกว้างขวาง

พฤติกรรมสมคบกันสร้างคู่เทียบเทียบเพื่อวัตถุประสงค์ที่ให้กลุ่มบริษัทของตัวเองเข้าทำสัญญากับ รฟม. โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันรายอื่น เอาเปรียบรัฐ เข้าข่ายฮั้วประมูล และยังทำให้สามารถ จะถลุงเงินที่ซุกอยู่ในสัมปทานโครงการนี้  ย่อมมีความผิดตาม มาตรา 10-11-12 และ 13 พระราชบัญญัติความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และผิดทั้งหลักเกณฑ์และขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 39 และ 40 ของ พ.ร.บ ร่วมลงทุน พ.ศ. 2562

ตามหลักของธรรมชาติที่ “อำนาจสามารถปกปิดความจริงได้ แต่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงความจริงได้เลย” รถไฟฟ้าสายสีส้มที่กำลังจะนำเข้า ครม. รัฐบาลหวังฟอกด้วยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคนละคดีคนละประเด็นกัน เสมือน “ฟอกดำให้เป็นดำ” ที่ ครม. ด้วย 

(หมายเหตุ - ขอบคุณ ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ อภิปรายสื่อสารชัดเจนมากตามคลิป ครับ)

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ / เลขาธิการพรรคประชาชาติ

ขอบคุณเพจ Tawee Sodsong - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง

logoline