svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักศึกษาฝึกงาน ทำงานล่วงเวลา-ทำงานวันหยุด ขัดกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่

24 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกรณีเพจ "บ้านกูเอง" ทำคลิปสัมภาษณ์อดีตนักศึกษาฝึกงานบริษัทยูทูบเบอร์หลายล้านซับ มีทีมงานเพียง 8 คน แต่หลอกใช้แรงงานนักศึกษาฟรี 30 ชีวิต ต้องทำงาน 7 วัน เลิกงานตี 3 ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้มาฝึกงานเพื่อแลกเกรด ไม่มีสวัสดิการใดๆ มีแค่ "น้ำเปล่า" ให้ นักศึกษาทำงานหนักจนทนไม่ไหวต้องแจ้งมหาวิทยาลัย เพื่อขอย้ายที่ฝึกงาน และประเด็นนี้กำลังเป็นไวรัลในโลกออนไลน์

Nation STORY ชวนทำความเข้าใจกรณีสถาบันการศึกษาส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบกิจการ การทำงานล่วงเวลา-ทำงานวันหยุด และทำงานอันตราย ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่?

"การฝึกงาน" คือ การให้นักศึกษานำทักษะและวิชาที่ได้เรียนรู้มาไปใช้ในการทำงานจริง โดยนำความรู้จากภาคทฤษฏีไปสู่การฝึกการปฏิบัติในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเสริมทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งสถานศึกษาจะทำข้อตกลงร่วมกับกับสถานประกอบการ เพื่อส่งนักศึกษามาฝึกงานตามหลักสูตรการศึกษาในสาขาวิชาเรียนที่สถาบันการศึกษากำหนดไว้ โดยสถานประกอบการจะเป็นผู้ประเมินผลการฝึกงานร่วมกับสถานศึกษา

เครดิตภาพ : สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

ที่ผ่านมามีกรณีข่าวต่างๆ เกี่ยวกับนักศึกษาฝึกงานประสบอันตรายระหว่างการฝึกงาน และมีนักศึกษาฝึกงานในสถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องทำงานล่วงเวลา ทำให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ต้องออกมาเตือนบ่อยๆ ว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

และเพื่อดูแลคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานเหล่านี้ให้มีความปลอดภัยในการฝึกงานในสถานประกอบกิจการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้กำชับสถานศึกษาในสังกัดให้กำกับดูแลการส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบกิจการ โดยห้ามไม่ให้ทำงานล่วงเวลา ห้ามทำงานในวันหยุด และให้มีการกำหนดเวลาฝึกงาน ตลอดจนมอบหมายงานที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับเด็กตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยังได้ให้แนวนายจ้าง และสถาบันการศึกษาว่า หากจะจ่ายค่าจ้าง ค่าเบี้ยเลี้ยงให้นักศึกษาฝึกงาน เป็นสิ่งที่ดี น้องๆ จะได้มีขวัญกำลังใจในการฝึกงาน ที่สำคัญวันเวลาการพัก วันหยุด ควรอยู่ในกรอบกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ไม่เกิน 8 ชั่วโมง มีวันหยุดต่างๆ ให้เขาได้หยุด เป็นต้น

แต่สำหรับกรณีเลี่ยงกฎหมาย อ้างว่าเป็นการฝึกงาน หรือ นักศึกษามาขอฝึกเอง สถาบันเขาไม่รู้เรื่อง ไม่มีหนังสือมาขอฝึก และใช้งาน มอบงานเขาเหมือนกับลูกจ้างปกติ เช่นนี้ ถือเป็นการทำงานปกติ มีฐานะเป็นนายจ้างลูกจ้างกัน ต้องทำตามกฎหมายปกติทุกประการ จะอ้างว่าฝึกงานมิได้

กฎหมายแรงงานของนักศึกษาฝึกงาน อาจแตกต่างกับกฎหมายแรงงาน พนักงานพาร์ตไทม์ และกฎหมายแรงงานของพนักงานประจำ ตำแหน่ง นักศึกษาฝึกงาน จะต้องเป็นบุคคลที่อายุ 15 ปีขึ้นไป เท่านั้น และทำงานได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน มีเวลาพักอย่างน้อย 1 ชม./วัน

แบบไม่จ่ายค่าตอบแทน

ตามที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงไว้ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงานตามกฎหมายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือตามที่สถาบันการศึกษาส่งมาฝึกงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา "ไม่ว่าแบบใดก็ตาม บริษัทจะไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้าง และส่งเงินสมทบประกันสังคม"

แบบจ่ายค่าตอบแทน

ตามกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาฝึกงาน แต่ถ้าบริษัทเลือกที่อยากจะให้ค่าตอบแทนเอง ส่วนเรทค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับว่าสัญญาฝึกงานนั้นระบุไว้อย่างไรบ้าง หากระบุไว้ว่าเป็นสัญญาจ้างงาน ก็ต้องอิงตามกฎหมายแรงงาน มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามจังหวัด เหมือนพนักงานปกติ

แต่ส่วนมาก บริษัทมักเลือกจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้ที่จะเรียกว่าเป็น "เบี้ยเลี้ยง" เพื่อตอบแทนการฝึกแทนมากกว่า

โดยเมื่อในสัญญาฝึกงาน ระบุไว้แล้วว่าจะได้เงินเป็นเบี้ยเลี้ยง บริษัทก็ต้องจ่ายเงินตามกฎหมายเบี้ยเลี้ยงปกติ ซึ่งก็คือ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดนั้นๆ

 

อ้างอิง : สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3  , สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน , Flash HR Blog , Spring News

 

logoline