svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เหตุผลกฎหมายคุ้มครองแรงงานไฉนมีเพียง 2 ร่างผ่าน-ส่วน "เซีย จำปาทอง" อดไปต่อ

07 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถือเป็นก้าวแรกสำหรับผู้ใช้แรงงานหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ ได้มีมติเห็นชอบรับร่างกฎหมายในการเพิ่มสิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยเป็นร่างของ "วรรณวิภา ไม้สน" จากพรรคก้าวไกล และร่างของ "วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์" สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย

แต่ประเด็นที่ให้ชวนจับตา คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดย "เซีย จำปาทอง" สส.ปีกแรงงาน จากก้าวไกล กลับถูกตีตก ซึ่งต่างจากอีกร่างกฎหมายที่เสนอโดยสายแรงงานจากพรรคเดียวกัน

เทียบเนื้อหากฎหมายทั้ง 2 ร่าง ของ 2 สส.ก้าวไกล

ร่างของ "เซีย จำปาทอง" นั้น มีใจความสำคัญที่ต้องการแก้ไขรวมทั้งสิ้น 10 ข้อ

ซึ่งหลักสำคัญของร่างกฎหมายนี้พุ่งเป้าไปยัง การให้ทำงาน 40 ชั่วโมง หรือ 5 วันต่อสัปดาห์ เวลาทำงานรวมทั้งสิ้นของลูกจ้าง หากเกินต้องได้เงินค่าทำงานนอกเวลา หรือ โอที และนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วัน รวมถึงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

เหตุผลกฎหมายคุ้มครองแรงงานไฉนมีเพียง 2 ร่างผ่าน-ส่วน "เซีย จำปาทอง" อดไปต่อ

ในส่วนของ "วรรณวิภา ไม้สน" หัวใจสำคัญ คือ

ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดหรือเลี้ยงดูบุตรครรภ์หนึ่ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน และกำหนดให้มารดาของบุตรสามารถมอบสิทธิการลงเลี้ยงดูบุตรส่วนของตน ให้บิดาตามกฎหมายของบุตร หรือคู่สมรสตามกฎหมายของตนได้ไม่เกิน 90 วัน ในกรณีไม่มีบิดาหรือมารดาให้ผู้ปกครองตามกฎหมายได้รับสิทธิ
 

ปัดร่างตกเท่ากับทำประเทศเสียโอกาสพัฒนา

โดย "เซีย จำปาทอง" ยอมรับว่าผิดหวังหลังสภามีมติไม่รับหลักการวาระแรก ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้ใช้แรงงานมากว่า 30 ปี รวมถึงเป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้ หวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนทำงานในประเทศนี้ให้ดีขึ้น ด้วยหลักการ "ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต" และขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน เช่น ไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ แรงงานอิสระ ให้ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสากล 

เซีย จำปาทอง

ทั้งนี้ การปัดตกร่างดังกล่าวทำให้ประเทศเสียโอกาสสร้างความเสมอภาคทางสังคม เสียโอกาสเพิ่มผลิตภาพการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่สำคัญของผู้แทนราษฎร ที่มีความประสงค์ดีต่อคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศ 

 

"ผิดหวังต่อผู้แทนของประชาชนที่คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่วาระแรก โดยไม่สนใจเนื้อหาว่า จะเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานอย่างไร ท่านมองข้ามการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทำงาน ทั้งที่พวกเขาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  และทุกอย่างที่เราเสนอ ล้วนเป็นเรื่องพื้นฐาน แม้กระทั่งในสังคมออนไลน์ เราพบเห็นฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก ก็เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ และยืนยันว่า ก้าวไกลจะเดินหน้าผลักดันกฎหมายเพื่อเปลี่ยนชีวิตคนทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป"

เหตุผลที่ต้องแยกเสนอกฎหมาย

ถัดมาทางฝาก "วรรณวิภา ไม้สน" แม้ร่างกฎหมายที่เสนอไปจะผ่านความเห็นชอบในวาระแรก แต่ได้อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องแยกร่างกฎหมายเป็นหลายฉบับ เนื่องด้วยประสบการณ์จากสมัยพรรคอนาคตใหม่ ที่เมื่อเสนอไปเพียงฉบับเดียว พอถูกสภาปัดตก หลักการและวาระหลายอย่างในร่างกฎหมายนั้น ก็ถูกปัดตกทั้งหมดด้วย

วรรณวิภา ไม้สน

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้จึงยื่น 2 ฉบับ คือ ร่างที่เสนอคุ้มครองคนทำงานภาครัฐและเพิ่มสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ ซึ่งต่อมาถูกวินิจฉัยเป็นร่างการเงิน และร่างของ "เซีย จำปาทอง" ซึ่งไม่ใช่ร่างการเงิน โดยหลังจากนี้ต้องไปต่อสู้เรื่องเนื้อหาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) เพราะร่างหลักคือร่างของรัฐบาล ที่เสนอสิทธิลาคลอดเพียง 98 วัน รวมถึงพิจารณาประเด็นการคุ้มครองคนทำงานภาครัฐ จะครอบคลุมกลุ่มใดบ้าง

ร่างกฎหมายสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ 30%

ถัดมายังซีกรัฐบาล โดย "ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ" สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาล อธิบายเหตุผลถึงรับร่างกฎหมายเพียงแค่ 2 ฉบับ ยกเว้นร่างของเซีย นั้น เนื่องจากมีหลักการแตกต่างกัน ซึ่งการสื่อสารว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคร่วมรัฐบาลตีตกทุกร่างของก้าวไกล หรือไม่ให้ความสนใจภาคแรงงาน จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ

สำหรับร่างที่ได้รับหลักการไปนั้นเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานในมาตรฐานที่สูงขึ้น และเพื่อไทยก็เห็นด้วยจึงโหวตรับทั้ง 2 ร่างข้างต้น และการที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่รับอีกร่างนั้น ผู้แทนจากพรรคร่วมรัฐบาลได้อภิปรายชัดเจนว่า จะสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและภาคการผลิตมากขึ้น 30% รวมถึงอาจส่งผลให้บริษัทขนาดเล็กต่างๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันล้มตายลง

 

"ซึ่งจะเกิดผลในทางกลับกัน โดยอาจสร้างผลลบ ทำให้พี่น้องแรงงานจำนวนมาก ไม่สามารถหางานได้ หรือต้องถูกเลิกจ้างแทน กฎหมายที่คาดหวังจะยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน อาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงแทน และเพื่อไทยให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน เราตั้งใจที่จะผลักดันการปรับขึ้นค่าแรง ตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน และสมดุลกับทุกฝ่าย ภายใต้เป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนดีขึ้น จะเลือกคิดเพียงมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้นไม่ได้"

 

logoline