svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับ "ก้าวไกล-ภูมิใจไทย" ตีตกฉบับ "เซีย"

06 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับ "พรรคก้าวไกล-ภูมิใจไทย" ขยายวันลาคลอด พร้อมตีตกฉบับ "เซีย จำปาทอง"

6 มีนาคม 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ (6 มี.ค.) มีวาระสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จำนวน 4 ฉบับ ที่นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นางสาววรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก

โดยร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยนายเซียนั้น มีสาระสำคัญ อาทิ การเพิ่มคำนิยามการจ้างงานรายเดือน, การให้การจ้างงานมีความเท่าเทียมทุกด้าน และให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แสดงออกถึงการกีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ หรือทำการอื่นใดให้ผู้อื่นไม่ได้รับสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมาย รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมให้เวลาทำงานของลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง เว้นแต่เป็นงานอันตราย ที่จะต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง พร้อมเพิ่มบทบัญญัติที่นายจ้าง จะต้องจ้างงานเป็นรายเดือนทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่งานที่มีความเฉพาะไม่มีความต่อเนื่อง หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างงานแบบกำหนดระยะเวลาโดยรับรองรายรับ ไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และให้ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับพนักงานระบบอื่นของนายจ้าง

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ลูกจ้าง ที่ทำงานติดต่อกันมาแล้ว ครบ 120 วัน มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน/ปี และมีสิทธิให้ลูกจ้าง มีสิทธิ์ลาไปดูแลครอบครัวที่ป่วยได้ปีละไม่เกิน 15 วัน รวมถึงจะต้องมีห้องให้นมบุตร หรือเก็บน้ำนมในที่ทำงาน พร้อมการแก้ไขหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้าง ให้เหมาะต่อค่าครองชีพ และเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตามการประกาศของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ อัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเปลี่ยนชีวิตแรงงานให้ "มีเวลาทำงาน พักผ่อน และใช้ชีวิต"

ส่วนร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานของนางสาววรรณวิภา เสนอแก้ไขให้แรงงานสามารถใช้สิทธิลาคลอดจาก 98 วัน เป็น 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และสิทธิประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน และให้มารดา มอบสิทธิวันลาเลี้ยงดูบุตร ได้คู่สมรสของตนหรือผู้ปกครองได้ ไม่เกิน 90 วัน

ขณะที่ ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่พรรคภูมิใจไทยเสนอนั้น มีการแก้ไขเพียงวันลาคลอดได้ ไม่เกิน 98 วัน โดยให้รวมวันลาตรวจครรภ์ก่อนลาคลอดด้วย และให้นายจ้างจ่ายค่าแรงเต็มตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 49 วัน แต่ให้ลูกจ้างชาย สิทธิลาเพื่อช่วยเหลือภรรยาที่ลาคลอด ตามที่ตกลงในสัญญาจ้างงานด้วย

สำหรับการอภิปรายของ สส.นั้น สส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ต่างสนับสนุนให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานทั้ง 3 ฉบับ ที่จะช่วยให้แรงงานได้รับความเท่าเทียม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งการให้แรงงานทั้งชาย และหญิง สามารถลางานเพื่อเลี้ยงถูกได้ รวมถึงการการันตีปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี หลังจากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ผ่านมาไม่เป็นธรรม จนเกิดความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือน และเด็กเกิดน้อยขึ้น ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต และไม่สามารถฝากความคาดหวังได้ เพราะคณะกรรมการปรับอัตราค่าจ้าง ยังใช้สูตรการคำนวณเดิม จนทำให้ค่าแรงถูกปรับขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ด้าน นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายพร้อมกระเป๋าไรเดอร์ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ภายในกระเป๋าเต็มไปด้วยปัญหาของไรเดอร์ ทั้งปัญหาสภาพการจ้างงานที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างการจ้างงาน และเป็นแค่พาร์ทเนอร์ จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย, ปัญหาค่ารอบ ที่ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และไรเดอร์ไม่สามารถเรียกร้องใด ๆ ได้, ปัญหาการทำงาน ที่จำนวนงานต่อรอบมากขึ้น จนเกิดความล่าช้าในการจัดส่ง, และปัญหาค่าใช้จ่าย หรือต้นทุน ที่ไรเดอร์ต้องแบกรับภาระ ทั้งค่าเครดิตรับงาน ค่ากระเป๋า หรือเสื้อแจ็คเก็ต ค่าน้ำมัน ค่าเสื่อมสภาพรถ ค่าน้ำมัน และค่าโทรศัพท์ โดยที่บริษัทแพล็ตฟอร์มไม่ได้ร่วมชดเชยให้ รวมถึงปัญหาการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ ที่ไม่ได้มีผลใด ๆ เพราะไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้างตามกฎหมาย จึงไม่มีสภาพบังคับต่อบริษัทเจ้าของแพล็ตฟอร์ม และปัญหาความตาย ที่ไรเดอร์ต้องแลกกับจำนวนรอบที่เพิ่มมากขึ้น จนเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน เป็นต้น จึงหวังว่า ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะสร้างความเท่าเทียมในการเป็นแรงงาน ไม่ถูกเอาเปรียบ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ของไรเดอร์ได้

แต่สำหรับการอภิปรายของ สส.พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ กลับไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยเห็นว่า นวัตกรรมใหม่ ๆ ในร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอหาก หากฟังแล้ว อาจดูดี เป็นประโยชน์ต่อแรงงานทั้งประเทศ แต่อาจกลับกลายเป็นลูกกวาดอาบยาพิษ หรือเป็นเพียงเหรียญด้านเดียว ที่มาตรการตามกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอมานั้น ทั้งวันลาไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่ป่วยได้ จะกลายเป็นภาระให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก-รายน้อย SMEs ร้านอาหาร หรือโรงแรม ฯลฯ ที่จะต้องแบกรับต้นทุนวันหยุดของแรงงาน ที่เป็นต้นทุนกว่า 20% จนอาจกระทบต่อกิจการ และต้องปิดตัวลง และแรงงานอาจจะถูก Disruption เพราะผู้ประกอบการหันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อขีดการแข่งขันของประเทศด้วย เพราะแรงงานตกงาน และเชื่อว่า จะไม่มีผู้ประกอบการรายใด ใจดีมากพอยอมแบกรับภาระไว้ และประชาชนรวมถึงแรงงาน อาจจะต้องซื้อสินค้าที่แพงขึ้นจากท้องตลาด จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทย ที่จะไม่เหมือนเดิม ที่ทุกคนอยากเห็นจริง ๆ หรือ และย้ำว่า พรรคภูมิใจไทย อยากเห็นกฎหมายแรงงาน ที่คุ้มครองสิทธิแรงงานให้ดีมากขึ้น และไม่ใช่การซ้ำเติมผู้ประกอบการรายย่อยจนอาจต้องล้มละลาย และสามารถทำได้จริง มากกว่าการออกกฎหมายที่เอาใจเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งชั่วครั้งชั่วคราว และเป็นหายนะระยะยาวกับประเทศ   

ด้าน นางสาวจิรัชยา สัพโส สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ยังแสดงความกังวลถึงการกำหนดค่าจ้างรายเดือน และขึ้นค่าจ้างทุกปี หรือลดชั่วโมงการทำงาน จะเกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาต่อผู้ประกอบการรายย่อย ที่สภาพการเงินอาจไม่คล่องตัว รวมถึงอาจมีผลกระทบต่อการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศด้วย เพราะการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านสูง จนอาจทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส และอาจกระทบต่ออัตราการจ้างงานคนไทย

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอให้ที่ประชุมแยกลงมติรายฉบับ เนื่องจากร่างกฎหมายที่เสนอนายเซียนั้น มีเนื้อหาที่ไม่เหมือนเพื่อน แต่นาวสาววรรณวิภา ได้เสนอให้ที่ประชุมลงมติพร้อมกันในคราวเดียว 3 ฉบับ เนื่องจากเนื้อหาของกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อคุ้มครองแรงงาน แต่ที่สุดแล้ว ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 255 เสียง ต่อ 149 เสียง ให้ลงมติแยกรายฉบับ

ผลการลงมติ

ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

  • เห็นด้วย (รับหลักการ) 149 เสียง
  • ไม่เห็นด้วย (ไม่รับหลักการ) 252 เสียง

ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยนางสาววรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

  • เห็นด้วย (รับหลักการ)  394 เสียง 
  • ไม่เห็นด้วย (ไม่รับหลักการ) 0 เสียง

ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยนายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย

  • เห็นด้วย (รับหลักการ) 401 เสียง
  • ไม่เห็นด้วย (ไม่รับหลักการ) 0 เสียง

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาปรับแก้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 พิจารณาตามขั้นตอนอีกครั้ง โดยให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยนายวรศิษฎ์ พรรคภูมิใจไทย เป็นร่างหลักในการพิจารณา

ทั้งนี้ ระหว่างการลงมตินั้น ยังเกิดการปะทะคารมกันระหว่างฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล หลังการแสดงตน และในการลงมติร่างกฎหมายขอ สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 2 คน กับ ร่างกฎหมายของ สส.พรรคภูมิใจไทย จำนวน สส.สวิงไปมา ระหว่าง 390-400 คน ลงมาเหลือเพียง 257 คน จนทำให้นายวรวงศ์ วรปัญญา สส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการวิปรัฐบาล ได้ลุกขึ้นตั้งข้อสงสัยว่า จำนวนดังกล่าว เป็นเพราะระบบลงคะแนนมีปัญหา หรือมี สส.ไม่มาทำงาน ก่อนที่นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน จะลุกขึ้นมายอมรับว่า ระบบไม่ได้มีปัญหา แต่ฝ่ายค้าน ไม่ได้ร่วมแสดงตนด้วย เพราะอยากรู้ว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญกับร่างกฎหมายฉบับนี้มากขนาดใด จึงทำให้ สส.ภายในห้องประชุม ได้พร้อมส่งส่งเสียงโห่ฮา นายปกรณ์วุฒิ จึงประท้วงประธานการประชุมอีกครั้ง ทำให้หน้าที่ควบคุมการประชุมด้วย พร้อมกล่าวหาไปยัง สส.ที่เป็นกันมากี่สมัยแล้ว แต่ยังโห่ฮา จึงทำให้ สส.ในสภาร่วมกันโห่ฮาอีกครั้ง ซึ่งดังกว่าเก่า ก่อนที่ประธานการประชุม จะตัดบทและเดินหน้าสู่การลงมติ ก่อนที่จะมีเสียงแทรกขึ้นมาว่า "แสดงว่าฝ่ายค้านไม่ได้ให้ความสำคัญ"

logoline