svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

24 มี.ค. “วันวัณโรคสากล” มาทำความรู้จักโรคติดต่ออันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

23 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

24 มีนาคม “วันวัณโรคสากล” (World TB Day) มาทำความรู้จัก โรคติดต่ออันตรายที่ไม่ควรมองข้าม รู้เร็ว รู้ไว รักษาหายไม่แพร่กระจาย

“วันวัณโรค” คืออะไร

สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) ได้เสนอให้กำหนดวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี เป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) อย่างเป็นทางการ เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก

วัณโรคนับเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ในสมัยก่อนวัณโรคเป็นที่รังเกียจของสังคม เพราะเมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือดและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ โดยในเวลาต่อมาก็จะเบื่ออาหารจนร่างกายผ่ายผอมจนกระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด

24 มี.ค. “วันวัณโรคสากล” มาทำความรู้จักโรคติดต่ออันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

 

“วันวัณโรคสากล”ประวัติเป็นมาอย่างไร

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2425 ดร.โรเบิร์ต คอช (Dr.Robert Koch) ประกาศการค้นพบสาเหตุโรควัณโรคคือเชื้อแบคทีเรีย Tubercle bacillus เป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นวัณโรคแพร่กระจายทั่วยุโรปและอเมริกาและเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 1 ใน 7 ของประชากรทั้งหมด การค้นพบครั้งนี้จึงช่วยเบิกทางในการคิดค้นวิธีรักษาวัณโรค

สถาณการณ์โรควัณโรคในประเทศไทย

วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรค วัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง

ในแต่ละวันจะมีคนเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 4,000 คน และเกือบ 30,000 คน ล้มป่วยด้วยวัณโรคในทุกๆ วัน ส่วนข้อมูลในประเทศไทย ปี 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่า มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 รายต่อปี และเสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี

24 มี.ค. “วันวัณโรคสากล” มาทำความรู้จักโรคติดต่ออันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

"วัณโรค" อันตรายหรือไม่

โรควัณโรค หรือ TB เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไมโครแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส (Mycobacleriumtuberculosis) สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ร้อยละ 80 เกิดที่ปอด ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังมีความชุกของโรคอยู่มาก เพราะพบผู้ป่วยจำนวนมากทุกปี แต่โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักเกิดกับเด็กเล็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่มาก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์มีโอกาสเป็นวัณโรคได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เพราะร่างกายขาดภูมิคุ้มกัน ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

อาการของผู้ป่วยวัณโรค

  • ผู้ป่วยวัณโรคจะมีอาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
  • หนาวสั่น ไข้ต่ำ ในตอนกลางคืนมักจะมีเหงื่อออก
  • เมื่อเริ่มป่วยในระยะแรกมักจะมีอาการไอแห้ง หลังจากนั้นจะเริ่มไอแบบมีเสมหะ เมื่อเข้านอนก็จะยิ่งมีอาการไอหนักมาก ทั้งช่วงเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้าและในหลังอาหารด้วย
  • อาการไอเรื้อรังจะคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ บางรายที่ไอมากๆ จะมีอาการหอบด้วยหรือไอเป็นเลือดก้อนแดงๆ หรือเลือดสีดำปนออกมาพร้อมกัน
  • ในรายที่เป็นเด็กอาการจะรุนแรงหนักกว่าผู้ใหญ่เพราะภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่า
  • ผู้ป่วยบางรายที่ยังเป็นน้อยๆ อาจจะไม่มีอาการไอเลย ทว่าจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกแทน

หากมีอาการไอเรื้อรัง มีเลือดปน เบื่ออาหาร ร่างกายผ่ายผอม ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันเวลา หากวินิจฉัยว่าเป็นโรควัณโรค ก็สามารถรักษาให้หายได้ หากทานยาตามแพทย์สั่งและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

วิธีป้องกันตัวเองจากวัณโรค

1. หากจำเป็นต้องทำงานอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ให้ออกมาสูดอากาศภายนอกบ้างในระหว่างวัน

2. รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์

3. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ

4. สวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีความเสี่ยงต่อการอยู่ใกล้ผู้ป่วยวัณโรค

5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV

6. ลดการดื่มแอกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอย่าใช้สารเสพติด

7. ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ที่มา : สำนักวัณโรค

logoline