svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ร้อนแบบนี้เป็นของคุณ ไทยค่าดัชนีความร้อนทะลุ 50 องศาฯ เป็นครั้งแรกของปี

05 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ร้อนแบบนี้เป็นของคุณ กรมอุตุนิยมวิทยา เผยค่าดัชนีความร้อนของไทย ทะลุ 50 องศาฯ อยู่ในระดับอันตรายเป็นครั้งแรกของปีที่ชลบุรี ขณะที่คนกรุงไม่น้อยหน้า ค่าดัชนีความร้อนแทบไม่ต่างกัน

นับตั้งแต่เข้าสู่ "ฤดูร้อน" อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 67 ที่ผ่านมา สภาพอากาศของประเทศไทย ก็ยิ่งทวีความร้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนหลายพื้นที่ในขณะนี้อยู่ในสภาพอากาศ "ร้อนถึงร้อนจัด" แม้จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นแต่อย่างใด 

โดยเพจเฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เผยแพร่ข้อมูลการคาดหมายค่าดัชนีความร้อนหรือ Heat Index ระหว่างวันที่ 5 - 6 มีนาคม 67 พบตัวเลขอุณหภูมิที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก ค่าดัชนีความร้อนในประเทศไทยล่าสุด มีพื้นที่ทะลุ 50 องศาเซลเซียสแล้ว 

 

วันที่ 5 มีนาคม 2567 

  • ภาคเหนือ: ตาก 39.9 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: นครราชสีมา 38.7 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
  • ภาคกลาง: กรุงเทพฯ 48.1 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
  • ภาคตะวันออก: ตราด 50.6 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
  • ภาคใต้: กระบี่ 42.5 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย


วันที่ 6 มีนาคม 67 

  • ภาคเหนือ: ตาก 39.6 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: บุรีรัมย์ 39.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
  • ภาคกลาง: กรุงเทพฯ 48.1 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
  • ภาคตะวันออก: ชลบุรี 51.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
  • ภาคใต้: ภูเก็ต 48.3 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย

ร้อนแบบนี้เป็นของคุณ ไทยค่าดัชนีความร้อนทะลุ 50 องศาฯ เป็นครั้งแรกของปี
 

รู้จัก "ดัชนีความร้อน" และความอันตราย  

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้อธิบายถึงค่า "ดัชนีความร้อน" อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น (Apparent temperature) ว่า อากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฎในขณะนั้นเป็นเช่นไร ซึ่งค่าดัชนีความร้อนมักจะมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้เสมอ เช่น ที่เวลา 12.00 น. วัดอุณหภูมิได้ 33.0 องศาเซลเซียส วัดความชื้นสัมพัทธ์ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ จะมีดัชนีความร้อน 49 องศาเซลเซียส เป็นต้น

โดยค่าดัชนีความร้อนนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกาย จะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเป็นโรคประจำตัว ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความร้อน 

หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้มีประกาศเตือนในทุก ๆ ครั้ง ที่มีการพยากรณ์ว่าช่วงเวลาดังกล่าว จะมีอากาศร้อนสูงเป็นอันตราย และยิ่งเมื่อค่าความร้อนที่เรารู้สึก ยิ่งความชื้นสูง เราจะรู้สึกร้อนมากขึ้นมากกว่าอุณหภูมิที่วัดได้ เพราะความชื้นสูง จะระบายความร้อนยาก ทำให้มีความรู้สึกอึดอัด” 

เมื่อร่างกายระบายความร้อนไม่ได้ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดฮีทสโตรก หรือลมแดด คืออาการกล้ามเนื้อสร้างความร้อนมากจนร่างกายรับไม่ไหว และเกิดปฏิกิริยาการตอบสนอง อาจจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้
ร้อนแบบนี้เป็นของคุณ ไทยค่าดัชนีความร้อนทะลุ 50 องศาฯ เป็นครั้งแรกของปี

สำหรับค่าดัชนีความร้อน ระดับเฝ้าระวังเตือนภัย ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน แบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้

1.ระดับเฝ้าระวัง (Surveillance) ดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ - อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้ แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน

2.ระดับเตือนภัย (Alert) ดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ - เกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

3.ระดับอันตราย (Warning) ดัชนีความร้อน 41 - 54 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ - มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

4.ระดับอันตรายมาก (Danger) ดัชนีความร้อนมากกว่า 54 องศาเซลเซียส
ผลกระทบต่อสุขภาพ - เกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) 

สำหรับคำแนะนำสุขภาพ สังเกตอาการตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หากทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม
ร้อนแบบนี้เป็นของคุณ ไทยค่าดัชนีความร้อนทะลุ 50 องศาฯ เป็นครั้งแรกของปี

logoline