svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

โลกร้อนซ่อนโรคร้าย เมื่อโลกยิ่งร้อน โรคท้องเสียยิ่งเกิดง่ายขึ้นจริงหรือ?

05 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดงานวิจัยจากอังกฤษ ชี้ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและวิกฤตต่างๆ กระตุ้นให้เกิดโรคท้องเสียระบาด รวมถึงโรคร้ายที่ดูจะทวีความรุนแรงขึ้นตามไปด้วย

เข้าสู่หน้าร้อนปีนี้ที่มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มสูงขึ้น ทำลายสถิติปีที่ผ่านมา จากมหันตภัยของปรากฏการณ์ “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming) ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นจะกระทบกับสุขภาพจิต และแหล่งอาหารของมนุษย์แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางสุขภาพหลายๆ อย่าง และหนึ่งในนั้นคือ “โรคระบาด”

งานวิจัยจากอังกฤษ ชี้โลกร้อนส่งผลกระตุ้นให้โรคท้องเสียระบาด

งานวิจัยล่าสุด เตือนว่าภาวะโลกร้อนอาจกระตุ้นให้เกิดโรคท้องเสียระบาดมากขึ้น โดย จิโอวานนี โล ลาโคโน นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ในอังกฤษ เผยว่า “แคมไพโลแบคเตอร์” ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเป็นพิษจะเติบโตได้เร็วขึ้นมากในอุณหภูมิสูง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า แบคทีเรียแคมไพโลแบคเตอร์เป็น 1 ใน 4 สาเหตุสำคัญของโรคท้องร่วงทั่วโลก แบคทีเรียตัวนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เรียกว่า แคมไฟโลแบคเทริโอซิส ซึ่งทำให้ท้องเสียและปวดท้อง โดยงานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าเส้นทางหลักของการแพร่เชื้อมาจากอาหาร 

ในงานวิจัยครั้งนี้ทำขึ้นเพื่อตรวจสอบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายของแบคทีเรียแคมไพโลแบคเตอร์หรือไม่ โดยทีมวิจัยลงมือวิเคราะห์ข้อมูลการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวราว 1 ล้านเคสทั้งในอังกฤษและเวลส์ตลอดช่วง 20 ปี และเปรียบเทียบข้อมูลนี้กับสภาพอากาศในช่วงเวลาเดียวกัน การวิเคราะห์เผยให้เห็นว่าอุบัติการณ์ของโรคมีความสอดคล้องกันที่อุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส และทุกๆ 5 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้น การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบความเชื่อมโยงกับความชื้นและความยาวของวัน หากไอน้ำในอากาศอยู่ที่ 75-80% ระดับการติดเชื้อจะสูงขึ้น 

แม้ว่าเหตุผลสำหรับกรณีนี้ยังไม่ชัดเจน แต่นักวิจัยก็มีทฤษฎีบางอย่างรองรับ โล ลาโคโน เผยว่า อาจเป็นเพราะอากาศที่อบอุ่นเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและการแพร่กระจายของแบคทีเรียก่อโรค ดังนั้น สภาพอากาศจึงก่อให้เกิดโรค หรืออีกอย่างหนึ่งคือ อาจเป็นเพราะพฤติกรรมของคนและวิธีการที่พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคมในช่วงเวลานั้น  

“ตอนนี้เรารู้รายละเอียดแล้วว่าสภาพอากาศกระทบกับโรคอย่างไร ขั้นต่อไปคือ ทำความเข้าใจว่าทำไม...ตอนนี้เราบอกความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหากเรารู้สภาพอากาศในท้องถิ่นได้แล้ว ข้อมูลนี้ประเมินค่าไม่ได้ เพราะความเจ็บป่วย เช่น การติดเชื้อแคมไพโลแบคเทริโอซิสไม่เพียงแต่สร้างความไม่สะดวกสบายให้คนป่วยเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับสังคมด้วย เพราะบางคนต้องลางาน และยังเป็นการเพิ่มภาระให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกด้วย” โล ลาโคโน สรุป

โลกร้อนซ่อนโรคร้าย เมื่อโลกยิ่งร้อน โรคท้องเสียยิ่งเกิดง่ายขึ้นจริงหรือ?

ภาวะโลกร้อน…ซ่อนโรคร้าย

สำหรับเรื่องนี้ ศ.คลินิก นพ.อุดม  คชินทร ภาควิชาอายุรศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้อธิบายในบทความเรื่อง ภาวะโลกร้อน…ซ่อนโรคร้าย ใจความสำคัญว่า

ภาวะโลกร้อน เกิดจากการที่โลกมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ “ก๊าซเรือนกระจก” เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่ผิดปกติขึ้น รวมทั้งก๊าซชนิดอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติดักจับความร้อนออกไปยังบรรยากาศของโลก ก๊าซเหล่านี้จะรวมตัวกันจนกลายเป็นผ้าห่มหนาๆ ดักจับความร้อนของดวงอาทิตย์ และทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น ยิ่งก๊าซเหล่านี้ เพิ่มมากขึ้น ความร้อนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติ หรือมีความ แปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากการใช้น้ำมัน การปล่อยสารพิษ สารเคมี การตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น  

นอกจากสภาวะอากาศที่นับวันจะแย่ลงเรื่อยๆ แล้ว สุขภาพร่างกายของเราก็จะได้รับผลกระทบตาม ไปด้วย  ซึ่งโรคยอดฮิตติดอันดับคือ โรคอหิวาตก โรคไข้เลือดออก และอาหารเป็นพิษ

อหิวาตกโรค  เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน เชื้อจะเข้าไปอยู่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษออกมาทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็กทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นน้ำ สีซาวข้าว ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว รุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุ เกิดจากการที่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารกระป๋องที่เสียแล้ว และมีการปนเปื้อนของเชื้อ
ระยะฟักตัว

  1. ผู้ที่ได้รับเชื้อ จะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน
  2. กรณีไม่รุนแรง อาการจะหายภายใน 1 วัน หรืออย่างช้า 5 วัน มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำวันละหลายครั้ง   แต่จำนวนอุจจาระไม่เกินวันละ 1 ลิตร ในผู้ใหญ่อาจมีปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน 
  3. กรณีอาการรุนแรง อาการระยะแรก มีท้องเดิน มีเนื้ออุจจาระมาก ต่อมามีลักษณะเป็นน้ำซาวข้าว เพราะว่ามีมูกมาก กลิ่นเหม็นคาว ถ่ายอุจจาระได้โดยไม่มีอาการปวดท้อง บางครั้งไหลพุ่งออกมาโดยไม่รู้สึกตัว อาเจียนโดยไม่รู้สึกคลื่นไส้ อุจจาระ ออกมากถึง 1ลิตรต่อชั่วโมง และจะหยุดเองใน 1 - 6 วัน หากได้น้ำและเกลือแร่ชดเชยอย่างเพียงพอ แต่ถ้าได้น้ำและ เกลือแร่ทดแทนไม่ทันกับที่เสียไป จะมีอาการขาดน้ำอย่างมาก ลุกนั่งไม่ไหว ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีเลย อาจมีอาการเป็นลม หน้ามืด จนถึงช็อค ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการท้องเสีย

  • งดอาหารรสจัด เผ็ดร้อน หรือของหมักดอง
  • ดื่มน้ำชาแก่แทนน้ำ บางรายต้องงดอาหาร ชั่วคราวเพื่อลดการระคายเคืองในลำไส้ 
  • ดื่มน้ำเกลือผงสลับกับน้ำต้มสุก ถ้าเป็นเด็กเล็ก ควรปรึกษาแพทย์ ในกรณีที่ท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบนำส่งแพทย์ด่วน

การป้องกัน

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหาร ควรล้างสะอาดทุกครั้งก่อนใช้ 
  • ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร หรือก่อนปรุงอาหารและหลังเข้าส้วม
  • ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรี่ยราด ต้องถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และกำจัด สิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค 
  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง 
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค

    ‘โลกร้อน’ เบื้องหลังโรคที่มี ‘ยุง’ เป็นพาหะระบาดเพิ่มขึ้น

โรคไข้เลือดออก 
เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลาย Aedes aegypti ตัวเมีย บินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกโดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูงจากเชื้อไวรัสแดงกี โรคนี้ระบาดในฤดูฝน ยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวัน ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อระบายน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้เลือดออก
อาการแรกเริ่ม จะรู้สึกว่ามีไข้สูงเฉียบพลัน ถึง 38 - 40 องศาเซลเซียส อยู่ 2 - 7 วัน บางรายจะมีจุดเลือดสีแดงๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา และมีอาการปวดเมื่อยตามตัวและหลังหรือปวดหัวพร้อม ๆ กันกับไข้สูง อาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นสีดำ บางราย อาจมีอาการช็อค ซึม ตัวเย็นจนถึงอาการหนักมากไม่รู้สึกตัว หมดสติและถึงกับเสียชีวิตได้

การดูแลรักษา

  • เมื่อเริ่มเป็นไข้เลือดออก มีอาการไข้สูง ต้องใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้
  • จำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ห้าแต่ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน เพราะแอสไพรินจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
  • ถ้ามีอาการเพลียให้ ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ
  • หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

วิธีป้องกัน

  • ระวังอย่าให้ยุงกัดในตอนกลางวัน ซึ่งป้องกันได้ด้วยการนอนในมุ้ง 
  • ช่วยกันกำจัดลูกน้ำ และลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง
  • ในภาชนะเก็บน้ำที่ปิดฝาไม่ได้ ควรใส่ทรายกำจัดลูกน้ำทุก 1 - 2 เดือน สำหรับตุ่มน้ำที่ไม่ค่อยได้เปิดบ่อย ๆ ควรปิดด้วยตาข่ายผ้าหรือไนล่อน 2 ชั้น
  • เก็บทำลายภาชนะที่มีน้ำขังหรือไม่ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น ฝัง เผา หรือดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์

 

โรคอาหารเป็นพิษ

มีสาเหตุสำคัญจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในอาหาร โดยเฉพาะในสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น นั่นหมายถึงจะส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเร็วตามไปด้วย และยิ่งถ้าหากเชื้อแบคทีเรียอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตก็จะสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิตสารพิษ ได้อย่างรวดเร็วจนมีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดอาการป่วย เช่น ถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และมีไข้ บางรายอาจมีอาการลำไส้อักเสบ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวตามมาด้วย

อาหารที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษในประเทศไทย 

อาหารทะเลปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารทะเลซึ่งกินโดยไม่ผ่านการปรุงให้สุก (โดยเฉพาะที่บีบมะนาวใส่ โดยที่เข้าใจว่าอาหารเหล่านี้สุกเพราะสีของเนื้อ เหล่านี้จะเปลี่ยนไปเหมือนเนื้อที่สุกแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด) 

อาหารไม่มีการผ่านความร้อน ประเภทปรุงเสร็จแล้วโดยไม่มีการผ่านความร้อนก่อนบริโภค เช่น อาหารยำ ส้มตำ สลัด น้ำราดหน้าชนิดต่าง ๆ 

อาหารค้าง เช่น เนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ซาลาเปาไส้ต่าง ๆ ถ้าจะเก็บไว้รับประทานในมื้อต่อ ๆ ไปควรเก็บในตู้เย็น เมื่อจะนำมารับประทานต้องอุ่นให้ร้อนจัดอีกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อ จุลินทรีย์ที่ยังเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์

นอกจากนี้ยังมี น้ำแข็งต่างๆ อาหารที่มีกะทิ  อาหารทะเล  อาหารหมักดอง อาหารบุฟเฟต์

โลกร้อนซ่อนโรคร้าย เมื่อโลกยิ่งร้อน โรคท้องเสียยิ่งเกิดง่ายขึ้นจริงหรือ?

ทำไม “โรคท้องร่วง” จึงพบได้บ่อยในหน้าร้อน

เมื่ออากาศร้อน สังเกตอาหารต่างๆ จะบูดและเน่าเสียได้ง่าย เพราะเชื้อโรคและแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในอาหารจะเจริญเติบโตได้ดี หากเราบังเอิญรับประทานเข้าไปก็จะทำให้เกิดอาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วงตามมาได้ดังนั้นก่อนที่จะรับประทานอะไรในช่วงหน้าร้อนก็ควรเลือกดูให้ดี 

โรคท้องร่วงในหน้าร้อน น่ากลัวหรือไม่?

โดยส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ จนเกิดอาการช็อก ชัก และเสียชีวิตได้ องค์การอนามัยโลกจึงมีการประกาศชัดเจนว่าการดื่มผงเกลือแร่ ORS ละลายน้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยลดอัตราการตายลงได้ แต่ก็อาจมีเชื้อโรคบางสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ หากท้องร่วงนั้นเกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยาฆ่าเชื้อที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง

ข้อสำคัญ อย่ากินยาแก้ท้องเดินเอง เพราะอาการท้องเดินส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง ขอให้เข้าใจว่าการขับถ่ายเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายที่จะต้องขับของเสียออกจากร่างกายอยู่แล้ว

หากมีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำอัดลมใส่เกลือหรือเกลือแร่เป็นขวดสำหรับนักกีฬา ถูกต้องหรือไม่?

ความเชื่อที่ว่าเมื่อมีอาการท้องเสียให้ดื่มน้ำอัดลมใส่เกลือหรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่แบบขวดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะน้ำตาลในเครื่องดื่มที่มีปริมาณมากนั้นจะยิ่งไปดึงน้ำเข้าลำไส้ ยิ่งทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้น ร่างกายขาดน้ำหรือช็อคง่ายขึ้น ควรเลือกดื่มเกลือแร่ ORS แบบซองสำหรับท้องเสียซึ่งมีปริมาณเกลือเป็นหลักมากกว่า

 

ทำไม เมื่อมีอาการท้องเสียหรือท้องร่วง จึงไม่ควรรับประทานยาหยุดถ่าย?

เพราะการขับถ่ายที่เกิดขึ้นขณะนั้นเป็นกลไกในการขับเชื้อโรคหรือสารพิษออกจากร่างกาย หากเรารับประทานยาหยุดถ่ายเข้าไป แม้ว่าจะทำให้อาการถ่ายเหลวดีขึ้น แต่จะทำให้เชื้อโรคหรือสารพิษถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแทน เพราะไม่ถูกกำจัดออกจากร่างกาย สุดท้ายอาการจะรุนแรงขึ้นเพราะเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจะสามารถไปยังอวัยวะต่างๆได้มากมาย

เมื่อมีอาการท้องเสียหรือท้องร่วง ควรซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะมารับประทานเลยใช่หรือไม่?

สาเหตุของท้องร่วงส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัส การรับประทานยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียจึงไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น นอกจากสิ้นเปลืองเงิน แล้วยังอาจเกิดผลข้างเคียงจากยา ทำให้เชื้อตัวดีในทางเดินอาหารลดลงและอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นได้

ไม่อยากท้องร่วงหน้าร้อนควรทำอย่างไร?

  • เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ
  • หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และก่อนนำมารับประทานควรอุ่นทุกครั้ง
  • ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นก่อนการปรุงอาหาร ก่อนรับประทาน และโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • น้ำดื่มควรมีนำมากรองให้สะอาดแล้วนำมาต้มให้สุกก่อนดื่ม
logoline