4 มีนาคม 2567 นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยว่า ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้พยากรณ์ลักษณะอากาศประจำวัน ว่า มีความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน และมีลมใต้กับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน จึงส่งผลทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ในวันนี้ จังหวัดนครราชสีมาจึงมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง แค่ร้อยละ 10 ของพื้นที่ และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียส ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนแล้งดังกล่าว ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว
โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และขนาดกลาง 23 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา รวม 27 แห่ง วันนี้ตรวจวัดปริมาณน้ำเก็บกักปัจจุบัน เหลืออยู่ที่ 605.30 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 49.75 ของความจุเก็บกักทั้งหมด และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 542.82 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 47.03 เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน มีน้ำเฉลี่ยใช้การได้ เหลืออยู่มากถึง 922.46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 79.92 มากกว่าปีนี้อยู่ถึง 379.64 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยสภาพน้ำปัจจุบันของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห้ง ได้แก่
ในขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 23 แห่ง เหลือปริมาณน้ำเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 168.60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 50.90 และเป็นน้ำใช้การได้ 143.56 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46.89 เท่านั้น ซึ่งในจำนวน 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีอยู่ 3 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำคงเหลือมากกว่า ร้อยละ 80 ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ.วังน้ำเขียว , อ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อ อ.คง และอ่างเก็บน้ำห้วยยางพะไล อ. ประทาย
ขณะเดียวกัน มี 3 แห่งที่มีปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 30 ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยปราสาทใหญ่ อ.ด่านขุดทด เหลือน้ำใช้การแค่ 1.40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 17.87 ในขณะที่อ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ เหลือน้ำใช้การ 0.43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 15.44 เท่านั้น และอ่างเก็บน้ำบึงกระโตน อ.ประทาย เหลือน้ำใช้การแค่ 1.31 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 14.68
ซึ่งนอกจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน จะเป็นสาเหตุทำให้ระดับน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างรวดเร็วแล้ว การสูบดึงน้ำไปทำนาปรังของเกษตรกรในหลายพื้นที่ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำลดลงจนถึงขั้นแห้งขอด ทำให้ผู้ใช้น้ำในภาพรวม ต้องเสี่ยงจะได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในช่วงหน้าแล้ง
"ทางชลประทานต้องเร่งส่งจ่ายน้ำลงไปตามคลองธรรมชาติและคลองชลประทาน เพื่อรักษาระบบนิเวศลำน้ำ และให้มวลน้ำส่งไปถึงพื้นที่ปลายน้ำ เพื่อสนับสนุนการผลิตประปาหมู่บ้าน จึงขอย้ำมายังเกษตรกร อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว สูบดึงน้ำไปใช้ทำนาปรัง จนเกิดผลกระทบทำให้ไม่เหลือน้ำไปใช้ผลิตประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภคของประชาชนภาพรวม" นายกิติกุล กล่าว