svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศธ. ย้ำเลิก "ครูเวร" เพราะห่วงชีวิตครูมากกว่าทรัพย์สินราชการ

05 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศธ. ย้ำเลิก "ครูเวร" เพราะห่วงครูมากกว่าทรัพย์สินราชการ หลังเกิดเหตุโจรงัดโรงเรียน มั่นใจฝีมือตำรวจและเทคโนโลยี แล้วรู้ไหมไม่มีครูเวรเฝ้า จะดูแลรักษาทรัพย์สินราชการอย่างไร

เป็นประเด็นที่สังคมต้องติดตามกันต่อไป สำหรับกรณีมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา ที่ให้มีการยกเลิก "ครูเวร" เฝ้าทรัพย์สินของทางราชการ เพื่อความปลอดภัยของครู หลังเกิดเหตุชายคล้ายเมายาเสพติดบุกเข้าทำร้ายครูสาวขณะเข้าเวรที่เชียงราย

โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) หารือร่วมกันเกี่ยวกับ ดูแลความปลอดภัย จนเกิดดรามาจากฝั่งตำรวจชั้นผู้น้อย ที่อาจต้องมีภาระงานเพิ่มขึ้น ก่อนจะมีการเสียงยืนยันมาจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ยังอยู่ในระหว่างการหารือ 

ขณะที่ทางฝั่งครูเองก็มีปัญหา เมื่อมีผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งหัวหมอ บิดคำสั่งเลี่ยงคำไปใช้คำอื่น เช่น “กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย” หรือ “มาทำงานค้างคืน 1 วัน”  “ใช้คำสั่งให้ครูสอดส่องดูแลเวรกลางคืน” เป็นต้น จนทางกระทรวงศึกษาธิการโดย สพฐ. ต้องออกคำสั่งด่วน ถึงทุกโรงเรียน ย้ำต้อง "ยกเลิกครูเวร" ทันที ตาม มติ ครม. 23 ม.ค. 67 หลังพบ ผอ.หลายโรงเรียน ยังไม่ปฏิบัติตาม 
เหตุทำร้ายครูสาวจนนำไปสู่คำสั่งยกเลิกครูเวร

และปรากฎว่า ในช่วงสุญญากาศ ที่ยังไม่มีเจ้าภาพในการดูแลทรัพย์สินราชการในโรงเรียนก็เกิดสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลขึ้น โดยเฉพาะกรณีคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์สินในโรงเรียน ที่เป็นข่าวล่าสุดคือ เหตุที่มีคนร้ายเข้าไปลักเงินโรงเรียนบ้านเขตเมือง ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ในช่วงยามวิกาล 
คนร้ายบุกลักทรัพย์ในโรงเรียนหลังมีการยกเลิกครูเวร
 

ล่าสุด นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงกรณีที่มีคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์สินในโรงเรียนบ้านเขตเมือง ที่จังหวัดสมุทรสงครามว่า จากการประสานกับ ตำรวจ สภ.ลาดใหญ่ คาดว่า จะติดตามจับกุมตัวคนร้ายได้ไม่ยาก เพราะหลังมีประกาศยกเลิก “ครูเวร” ทางโรงเรียนก็สั่งติดตั้งกล้องวงจรปิดทันที ทำให้เห็นตัวคนร้ายที่เข้ามาก่อเหตุ สามารถตามเบาะแสจากเส้นทางที่คนร้ายใช้หลบหนีได้ น่าจะเป็นบุคคลไม่ใกล้ไม่ไกลจากละแวกที่เกิดเหตุ โดยวันนี้จะประชุมทีมสืบสวนฯ เพื่อแบ่งหน้าที่ในการออกติดตามตัว 

“จะเห็นได้ว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเฝ้าระวังเหตุร้าย พร้อมกับการได้รับความร่วมมือจากตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถดูแลรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนได้ ถึงแม้หน้าต่างโรงเรียนจะได้รับความเสียหาย เงินจำนวนหนึ่งถูกขโมยไป แต่ก็ยังดีกว่า การปล่อยให้ครูที่มานอนเฝ้าเวร เผชิญหน้ากับคนร้าย ซึ่งมีอาวุธแน่นอน อย่างน้อยอุปกรณ์ที่งัดหน้าต่างเข้ามาก็สามารถใช้ทำร้ายครูได้ 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นี้จึงอยากเน้นย้ำถึงเจตนาของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาการ ในการยกเลิกเวรครู ไม่ให้ครูต้องมานอนเฝ้าโรงเรียน เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของครู อันมีค่ามากกว่าทรัพย์สินใด ๆ และการใช้เทคโนโลยี การประสานงานกับเครือข่ายอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ก็จะช่วยให้สามารถจับกุมคนร้ายได้ โดยครูไม่ต้องเสี่ยงชีวิตต่อสู้กับคนร้ายเอง เพราะภารกิจหลักของครู คือ การสอนนักเรียนของเราให้เป็น คนเก่ง คนดี มีความสุข” 
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ  

ไม่มีครูเวรแล้วเฝ้าระวังทรัพย์สินราชการอย่างไร 

ทั้งนี้ หลังมีมติ ครม. ในการยกเลิก "ครูเวร" สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกหนังสือ "ด่วนที่สุด" ที่ ศธ 04001/ว 572 ลงวันที่ 26 มกราคม 2567 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจในการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการ ส่งถึง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 

อ้างถึง 1. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04001/ว 545 ลงวันที่ 25 มกราคม 2567 และ 2. หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04001/ว 546 ลงวันที่ 25 มกราคม 2567

ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 และ 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แจ้งสถานศึกษาในสังกัด และขอให้สถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เรื่อง การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการความแจ้งแล้ว นั้น

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้สถานศึกษาได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 (เรื่อง การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ) และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1. การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

1.1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ระดับจังหวัด ประสานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ได้ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการและแผนเผชิญเหตุให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เรื่อง การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการให้แก่สถานศึกษาในจังหวัดตามบริบทของพื้นที่และความเหมาะสม

1.2 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่น นอกเหนือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร สรุปข้อมูลจำนวนสถานศึกษาในสังกัดเพื่อบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานฝ่ายปกครองและสถานีตำรวจนครบาล เพื่อวางแผนในการดูแลรักษาความปลอดภัยสถานศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และให้สอดคล้องตามข้อ 1.1

2. การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการในพื้นที่จังหวัดอื่น

2.1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 เป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ระดับจังหวัด ประสานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อให้ได้ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการและแผนเผชิญเหตุให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เรื่อง การดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่ราชการให้แก่สถานศึกษาในจังหวัดตามบริบทของพื้นที่และความเหมาะสม

2.2 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอื่น นอกเหนือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 ดำเนินการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานฝ่ายปกครองระดับอำเภอและสถานีตำรวจภูธร เพื่อวางแผนในการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาในสังกัดให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และให้สอดคล้องกับแผนระดับจังหวัดตามข้อ 2.1

3. ให้สถานศึกษายกเลิกคำสั่งอยู่เวรรักษาการณ์ที่สั่งไว้เดิมโดยทันที

4. ส่วนมาตรการนที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ อยู่ระหว่างดำเนินการหากดำเนินการแล้วเสร็จจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ศธ. ย้ำเลิก \"ครูเวร\" เพราะห่วงชีวิตครูมากกว่าทรัพย์สินราชการ
ศธ. ย้ำเลิก \"ครูเวร\" เพราะห่วงชีวิตครูมากกว่าทรัพย์สินราชการ

 

logoline