svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

น่าห่วง! "ดอกไม้ทะเล" เกาะมุก บ้านปลาการ์ตูน ยังเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวต่อเนื่อง

08 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

น่าเป็นห่วง "ดอกไม้ทะเล" ในทะเลตรัง บริเวณเกาะมุก เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวอย่างต่อเนื่อง อาจจะกระทบต่อแหล่งอาศัยของปลาการ์ตูนในอนาคต แม้จะเริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว พร้อมพารู้จักดอกไม้ทะเล (Sea Anemone) สีสันแห่งท้องทะเลที่มีชีวิต

จากการที่ปีนี้อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณแหล่ง "ดอกไม้ทะเล" ที่เปรียบเสมือนกับเป็นบ้านของ "ปลาการ์ตูน" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ปลานีโม" ทำให้นักดำน้ำพยายามลงพื้นที่เร่งทำการสำรวจในบริเวณแหล่งปะการัง และแหล่งที่มีดอกไม้ทะเลสวยงามที่มีหลายๆ แห่ง ในทะเลตรัง โดยเฉพาะตามจุดดำน้ำดูปะการังที่มีหลายแห่งบริเวณตามเกาะต่างๆ เพื่อสำรวจความเสียหาย 

 

น่าห่วง! \"ดอกไม้ทะเล\" เกาะมุก บ้านปลาการ์ตูน ยังเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด (8 พ.ค. 67) จากการลงไปดำน้ำสำรวจของทีมผู้ประกอบการท่องเที่ยวทะเลตรัง นำโดย นายพฤกษ์ เกิดอุบล ผู้จัดการ มดตะนอย รีสอร์ท พบว่า ที่บริเวณรอบๆ เกาะมุก ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลชื่อดังของจังหวัดตรัง ที่เชื่อมต่อจาก "เกาะกระดาน" ที่นักท่องเที่ยวจะต้องไม่พลาดที่จะไปเยือน ก็ยังคงพบความเสียหายของ "ดอกไม้ทะเล" เป็นวงกว้างเช่นเดียวกัน เนื่องมาจากปรากฎการณ์ "ดอกไม้ทะเลฟอกขาว"
น่าห่วง! \"ดอกไม้ทะเล\" เกาะมุก บ้านปลาการ์ตูน ยังเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ขณะนี้ดอกไม้ทะเลส่วนใหญ่จะค่อยๆ มีสีซีดลง หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น หรือสีขาวใส จนแลดูคล้ายกับเห็ดเข็ม ทั้งที่ปกติพวกมันจะมีสีสันต่างๆ อย่างสวยงาม เช่น แดง เขียว ส้ม

แต่ผลพวงจากโลกร้อนของปีนี้ได้ทำให้ดอกไม้ทะเลฟอกกลายเป็นสีขาว และห่วงว่าพวกมันอาจจะตายลง จนเกิดผลกระทบต่อแหล่งอาศัยของปลาการ์ตูนได้ เนื่องจากช่วงระยะนี้อุณหภูมิของน้ำทะเลตรังยังคงสูง ถึงแม้จะเริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้วในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อุณหภูมิของน้ำทะเลตรังลดลงไปมากนัก
น่าห่วง! \"ดอกไม้ทะเล\" เกาะมุก บ้านปลาการ์ตูน ยังเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวต่อเนื่อง

ภาพโดย John A. Anderson จาก shutterstock รู้จัก "ดอกไม้ทะเล"

อ้างอิงข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า ดอกไม้ทะเล ซึ่งถูกเรียกอีกอย่างว่า "ซีแอนนีโมนี่" (Sea Anemone) เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล ไม่มีกระดูกสันหลังมีอยู่หลายชนิดและหลายสกุล ถึงจะมีคำว่าดอกไม้ในชื่อ แต่ก็ไม่ใช่พืช 

มันเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มย่อยเดียวกันกับปะการังแข็ง เพียงแต่ไม่มีโครงสร้างหินปูนเหมือนอย่างปะการังแข็ง จึงทำให้ดูอ่อนนุ่มพลิ้วไหวไปตามแรงของกระแสน้ำ แต่มีเส้นประสาทที่ประสานกันไปมาเป็นตาข่ายอยู่ตามลำตัวและบริเวณหนวด เพื่อรับความรู้สึกสัมผัสจากสิ่งแวดล้อม

ดอกไม้ทะเล มีถิ่นที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน โดยบางชนิดที่อยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง จะมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี รวมถึง มีความสามารถในการอยู่บนบกได้เป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงขณะที่น้ำทะเลลดลง 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักพบดอกไม้ทะเลเกาะอยู่ตามก้อนหินริมชายฝั่งโดยหดตัวเป็นก้อนกลม เพื่อรอให้น้ำทะเลท่วมบริเวณที่อาศัยอยู่อีกครั้งหนึ่งนั่นเอง
ภาพโดย Prabu Winardi จาก shutterstock ลักษณะดอกไม้ทะเล

ซีแอนนีโมนี่ มีลักษณะคล้ายดอกไม้ ส่วนบนมีหนวดอยู่รวมกันมากมายหลายเส้น มองเผินๆจะเห็นหนวดของมันพัดโบกตามกระแสน้ำไปมา ความพิเศษอย่างหนึ่งของหนวดเหล่านี้ คือ มีเข็มพิษฝังอยู่ใต้ผิวหนังของมัน เหมือนกับพวกแมงกะพรุน ส่วนลำตัวอ่อนนุ่ม แม้ว่ามันจะเคลื่อนที่ได้เล็กน้อย แต่ก็มีนิสัยชอบอยู่ประจำที่

เท่าที่พบในบ้านเรายังไม่เคยพบชนิดที่มีพิษร้ายแรง พวกนี้มักพบเป็นหย่อมๆ อาศัยอยู่ตามหาดที่มีปะการังทั่วไป 

ส่วนที่พวกนี้มีเข็มพิษ จะมีการทำงานของเข็มพิษเหมือนกับพวกปะการังไฟ มีพิษไม่ร้ายแรงมากนัก อาการที่เกิดหลังจากถูกพิษพวกนี้จะคล้ายๆ กับการถูกพิษของ "ปะการังไฟ" เพียงแต่อาการรุนแรงน้อยกว่า บางชนิดไม่มีพิษต่อมนุษย์แต่อาจจะรุนแรงถึงชีวิต 

อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้ ควรป้องกันโดยการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ไม่ควรให้อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายไปถูกพวกมัน เพราะอาจจะเจอพวกที่มีพิษร้ายแรงเข้าได้

ภาพดอกไม้ทะเล และปลาการ์ตูน ในทะเลตรัง จากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

การพึ่งพาอาศัยกันของดอกไม้ทะเล-ปลาการ์ตูน

อย่างที่กล่าวไป หนวดของดอกไม้ทะเลแต่ละเส้นมีเข็มพิษฝังอยู่ใต้ผิวหนัง เข็มพิษจากหนวดของดอกไม้ทะเลนี้เอง ที่จะใช้สังหารเหยื่อ เพื่อกินเป็นอาหาร แต่สำหรับปลาการ์ตูนแล้ว มันสามารถอาศัยอยู่ในดอกไม้ทะเลได้ เนื่องจากมีชั้นเมือกรอบๆ ตัว ซึ่งใช้ป้องกันเข็มพิษ 

นอกจากนี้ ปลาการ์ตูนจะช่วยล่อเหยื่อให้เข้ามาใกล้หนวดของดอกไม้ทะเล ทำให้ดอกไม้ทะเลได้อาหาร ช่วยให้บริเวณผิวดอกไม้ทะเลสะอาดโดยการกินอาหารชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เหลืออยู่จนหมด  ขณะเดียวกัน ปลาการ์ตูน จะโบกครีบไปมาให้เกิดกระแสน้ำไหลผ่าน เพื่อให้ออกซิเจนกับดอกไม้ทะเล ในยามกลางคืนที่ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง

สัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงให้ประโยชน์แก่กันและกัน ในรูปความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน (Symbiosis) 

มีดอกไม้ทะเลเพียง 10 ชนิด ที่ "ปลาการ์ตูน" ใช้อาศัยได้ 

แม้ว่าเราจะพบชนิดของดอกไม้ทะเลทั่วโลก มากกว่า 1,000 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีลักษณะของหนวดที่แตกต่างกัน อาศัยเกาะตามพื้นหินหรือทรายที่มั่นคง แต่ก็พบเพียง 10 ชนิดเท่านั้นที่ปลาการ์ตูนใช้อาศัยได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 บ้าน ได้แก่

  1. บ้านแอคตินีอีดี้ มีลักษณะของปลายหนวดโป่งออกคล้ายลูกโป่ง
  2. บ้านธาลัสซิแอนธิดี้ ลักษณะของหนวดสั้นคล้ายพรม
  3. บ้านสตีโคแดคทิวลิดี้ มีหนวดยาว

น่าห่วง! \"ดอกไม้ทะเล\" เกาะมุก บ้านปลาการ์ตูน ยังเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อดอกไม้ทะเล เกิดการฟอกขาว ทำให้น่าเป็นห่วงว่าพวกมันอาจจะตายลง จนทำให้ปลาการ์ตูนไม่มีแหล่งหลบภัย หรือบ้านให้อาศัยได้ในอนาคต 

"โลกร้อน-ทะเลเดือด" จึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ ก่อนที่สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ทะเล และปลาการ์ตูน รวมถึง ระบบนิเวศใต้ท้องทะเล จะหายไป
น่าห่วง! \"ดอกไม้ทะเล\" เกาะมุก บ้านปลาการ์ตูน ยังเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวต่อเนื่อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : 
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์
https://www.seefatour.com
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 
https://kapongschool.ac.th/
www.khaosod.co.th/lifestyle/news_647945

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก : 
เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
https://www.shutterstock.com/

logoline