svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผู้ปกครองเด็กที่ถูก 'ครูใช้เข็มจิ้มปาก' รับไม่ได้ อยากให้ออกจากการเป็นครู

26 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้ปกครองเด็ก รับไม่ได้ ยันเอาผิด ครูใช้เข็มจิ้มปากนักเรียนยกชั้น รวมถึงครูประจำชั้น ให้ออกจากการเป็นครู จะได้ไม่ไปทำกับเด็กโรงเรียนอื่นอีก ล่าสุด ครูทั้ง 2 ได้เข้าพบตำรวจแล้ว ไม่ยอมเปิดเผยใดๆ ด้าน สพฐ. เร่งสอบครู พร้อมเยียวยาจิตใจนักเรียน

26 มกราคม 2567 กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมออนไลน์ เมื่อมีผู้ปกครองรายหนึ่งออกมาโพสต์ ถามหาความรับผิดชอบ และความเหมาะสม หลังจากที่ลูกชายถูกครูหญิงรายหนึ่งของ โรงเรียนวัดด่านสำโรง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ใช้เข็มจิ้มที่ริมฝีปากของนักเรียน ชั้น ป. 2/3 ยกห้องทั้งหมด 36 คน จนมีเด็กนักเรียนบางคนถึงกับเป็นแผลที่ริมฝีปาก ในขณะที่ ผู้ปกครองของนักเรียน ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ สภ.สำโรงเหนือ แล้ว

ล่าสุด วันนี้(26 ม.ค.) บรรยากาศที่โรงเรียนวัดด่านสำโรง ฝ่ายผู้บริหารของโรงเรียนได้ประสานผู้ปกครองนักเรียนที่ถูกทำโทษ, เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สำโรงเหนือ, เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการเขต 1, เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สมุทรปราการ  เข้าประชุมเพื่อปรึกษาหารือเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมรับฟัง

ส.ท.อภิชา เพ็ชรน้อย ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดด่านสำโรง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เรียกทุกฝ่ายมา เพื่อประชุมหารือถึงเรื่งราวที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยข้อมูลใดๆ ต้องรอหลังการประชุม

ผู้ปกครองเด็กที่ถูก \'ครูใช้เข็มจิ้มปาก\' รับไม่ได้ อยากให้ออกจากการเป็นครู

ด้าน พ.ต.อ.ประภาส มั่งคั่ง รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น เมื่อวาน( 25 ม.ค.) ได้รับแจ้งเหตุว่ามีคุณครูทำโทษเด็กๆ โดยการใช้เข็มจิ้มที่ปาก จนได้รับบาดเจ็บ ในวันนี้(26 ม.ค.) ทางโรงเรียนจึงประสานให้เข้ามาประชุมร่วมกัน ซึ่งทางโรงเรียนยอมรับถึงพฤติกรรมของครูรายดังกล่าวแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ก็จะส่งเด็ก 36 ราย ไปตรวจร่างกาย ที่ รพ.สำโรงการแพทย์ เพื่อนำมาเป็นหลักฐานทางคดี ขณะเดียวกันก็จะเรียกครูประจำชั้น, ครูที่ก่อเหตุและผู้ปกครอง มาสอบปากคำถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ส่วนครูที่ก่อเหตุทางโรงเรียนให้พักการสอนไปก่อน และให้เข้าพบ สพฐ.ที่ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

ส่วนการเยียวยานักเรียน พม.จะเข้ามาร่วมช่วย เรื่องค่าตรวจรักษา ทางโรงเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบ เบื้องต้น การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิด ทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนครูประจำชั้น ที่เป็นผู้ไปเชิญครูหญิงรายดังกล่าวมาลงโทษเด็ก จะเข้าข่ายความผิดด้วยหรือไม่ ต้องรอการสอบปากคำอีกครั้ง

ครูผู้ก่อเหตุ

นาย เจ (นามสมมติ) กล่าวว่า ไลน์กลุ่มผู้ปกครองมีการพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ตนจึงสอบถามลูกสาว เล่าว่า หมากฝรั่งหล่นอยู่ที่พื้นห้องเรียน แต่คนที่ทำโทษไม่ใช่ครูประจำชั้น ป. 2/3 แต่เป็นครูประจำชั้น ป.2/2 มาดูแลแทนเนื่องจากครูอีกคนพาลูกสาวไปหาหมอ เมื่อเห็นหมากฝรั่งที่พื้นแล้วถามนักเรียนไม่มีใครยอมรับ จากนั้นนำธูปมาให้เด็กจุดสาบานว่าใครทำหล่นแล้วไม่ยอมรับ ขอให้มีอันเป็นไปภายในคืนนี้

เด็กก็ยังเงียบ นิ่งหมด ยังไม่มีใครยอมรับ สักพักครูก็ไปเอาเข็มกลัดมาจับปากเด็กแทงที่ปากทีละคน มีเด็กชายคนหนึ่งโดนเยอะสุด เหตุเกิดประมาณ 4 โมง เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.2567) ทั้งนี้ มองว่า แค่หมากฝรั่งอันเดียวไม่น่าทำถึงขนาดนี้ และครูคนนี้เด็กกลัวมาก โดนทำโทษบ่อยมาก บางครั้งเอาไม้บรรทัดตีหัว เอาสมุดตีหัวนักเรียน ครั้งนี้หนักที่สุด ตอนนี้เป็นห่วงว่าห้องอื่นจะโดนด้วย หากปล่อยไว้แบบนี้

ขณะที่ น.ส.อินทิรา จอนเจนค้า อายุ 28 ปี หนึ่งในแม่นักเรียนที่ถูกทำโทษ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้เข้าร่วมประชุมกับครูและผู้ปกครองคนอื่นๆที่ลูกถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งทาง ผอ.โรงเรียนได้ยอมรับถึงพฤติกรรมครูคนดังกล่าว พร้อมวางแนวทางว่า จะให้พักการเรียนการสอน พร้อมขอโทษผู้ปกครอง แต่สิ่งที่ผู้ปกครองต้องการในวันนี้ นอกจากมาตรการลงโทษแล้ว ผู้ปกครองหวังว่า จะได้เจอกับครูประจำชั้น และครูที่ทำร้ายนักเรียน แต่ก็ต้องผิดหวัง

“เพราะผู้ปกครองต้องการให้เขามาขอโทษด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้ ผู้อำนวยการโรงเรียน มาขอโทษแทน อยากให้เขาออกจากการเป็นครู ไม่ใช่แค่พักการสอน ไม่ต้องการให้เป็นครูแล้วไปทำแบบนี้กับนักเรียนในโรงเรียนอื่นๆอีก เราส่งลูกมาเรียน ไม่ได้ต้องการให้ลูกมาเจออะไรแบบนี้ และจากการถามลูกก็พบว่า นี่ไม่ใช่พฤติกรรมการลงโทษแบบรุนแรงครั้งแรก”

น.ส.อินทิรา กล่าวต่อ จริงๆแล้วเหตุการณ์ครั้งนี้ ลูกของตนไม่ได้เป็นคนมาฟ้องตนโดยตรง ตนรู้เรื่องจากผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ห้องเดียวกัน เมื่อทราบเรื่องจึงไปถามลูกว่า เกิดอะไรขึ้น จึงทราบว่าลูกตนก็ถูกลงโทษด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นไปตามข่าวว่า ครูประจำชั้นเดินไปเหยียบหมากฝรั่งในห้องเรียน จึงไปถามกับเด็กว่า ใครเป็นคนทิ้งหมากฝรั่งแต่เด็กๆไม่ยอมรับ

จึงไปตามครูอีกคน มาช่วยเค้นสอบ จนอาจจะเกิดโมโหและกระทำการลงโทษเด็กด้วยวิธีดังกล่าว โดยเข็มที่ใช้ทำโทษก็เป็น เข็มกลัด ที่อาจจะผ่านการใช้งานมาแล้ว และยังใช้เข็มกลัดอันเดียว จิ้มปากเด็กทุกคน ซึ่งเราเป็นผู้ปกครองเรารับไม่ได้ และการให้เด็กจุดธูปสาบาน อ้างว่าผีจะมาทำร้าย คืออะไร สอนเด็กแต่ละอย่าง เราอยากจะถามเขาจริงๆว่า ตอนที่ดึงปากลูกเรา ตอนที่เห็นสายตาเด็กๆ ก่อนที่จะใช้เข็มจิ้ม เขารู้สึกอย่างไรบ้าง

ต่อมาเวลา 11.44 น. นายเสริมชัย เจริญผล อายุ 43 ปี หนึ่งในผู้ปกครองของเด็กนักเรียนกล่าว่า ตนก็เหมือนกับผู้ปกครองคนอื่นที่วันนี้หวังว่า จะได้มาเจอกับครูที่ก่อเหตุ แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะมีเพียง ผอ.โรงเรียนที่ออกมาขอโทษ ซึ่งเรื่องราวเกิดขึ้นจากที่ครูไปเหยียบหมากฝรั่ง ซึ่งจุดที่เหยียบมันอยู่หน้าห้องเรียน เป็นทางผ่านของนักเรียนอีกหลายชั้น แต่กลับมาหาว่าเป็นนักเรียนห้องนี้ มันไม่ใช่

บทลงโทษที่เราคาดหวังคือ ให้เขาออกจากการเป็นครู ถ้าพูดถึงการลงโทษเด็กด้วยการตีที่เหมาะสม ตนรับได้ แต่เท่าที่สอบถามพบว่า ครูคนนี้มีไม้เรียวที่ใช้ในการลงโทษถึง 3 ขนาดและนี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก ที่เขาทำมาก่อนหน้านี้ มีการลงโทษเด็กด้วยการมัดมือมัดเท้าและการลงโทษครั้งนี้ก็ใช้เข็มกลัดอันเดียว ซึ่งมีสนิม จิ้มปากเด็ก 30 กว่าคน เขาทำได้อย่างไร เด็กๆตอนนี้บางคนยังหวาดกลัว บางคนเป็นร้อนใน บางคนเป็นปากเปื่อย แต่ที่ผู้ปกครองกังวล คือเชื้อโรคอื่นๆ ที่อาจจะยังต้องเฝ้าระวัง เช่น HIV ที่ต้องเฝ้าระวังถึง 1 ปี หลังการประชุม ผู้ปกครองทุกคนลงความเห็นเหมือนกันว่า อย่างไรก็ตามจะดำเนินคดีกับครูทั้ง 2 คนให้ถึงที่สุด

ในขณะที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จ.สมุทรปราการและบ้านพักเด็กและครอบครัวเด็ก จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า วันนี้เข้ามาช่วยเหลือพร้อมกับนักจิตวิทยา เพื่อพูดคุยและเยียวยาทั้งเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งผลที่ได้จากการพูดคุยกันพบว่า เด็กบางคนสามารถพูดคุยได้ตามปกติ แต่ก็ยังมีบางคนที่มีความเปราะบางและยังมีความหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และบางครั้งก็ยังนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ หลังจากนี้ พม. ก็ต้องดูว่าเด็กๆ คนใด ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษก็จะดำเนินการร่วมกันกับทุกฝ่าย

ต่อมาเวลา13.20น. พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ได้เดินทางมาที่ สภ.สำโรงเหนือ เพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีดังกล่าว โดยได้เชิญตัว น.ส.วัชรียา (สงวนนามสกุล) ครูประจำชั้นนักเรียนประถมศึกษาชั้น 2/2 ผู้ก่อเหตุ และ น.ส.ธัญญาภัทร (สงวนนามสกุล) ครูประจำชั้นนักเรียนประถมศึกษาชั้น 2/3 มาสอบปากคำ

โดยระหว่างที่ครูทั้ง 2 เดินจากห้องสืบสวนมายังห้องประชุม ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ครูทั้ง 2 ไม่ให้ข้อมูล หรือพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ครูประจำชั้นและครูที่ใช้เข็มแทงปากเด็ก

ด้าน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีครูโรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.สมุทรปราการ ลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ โดยการนำเข็มกลัดขนาดเล็กไปใกล้บริเวณริมฝีปากของนักเรียน ทำให้บางคนถูกเข็มกลัดสัมผัสที่บริเวณริมฝีปาก ทำให้เกิดบาดแผลขนาดเล็ก นั้น

นายธีร์ กล่าวว่า เมื่อทราบประเด็นที่เกิดขึ้น เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. นำโดย นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผอ.ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) สมุทรปราการ เขต 1 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ทางโรงเรียนได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวในช่วงเวลา 17.00 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2567 และได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงโดยทันที ซึ่งในเบื้องต้นพบว่า เหตุการณ์นั้นมีมูลความจริง

จึงได้เร่งดำเนินการติดต่อ ประสานงานกับผู้ปกครองของนักเรียนระดับชั้นดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจ พร้อมขอโทษผู้ปกครอง และจะดำเนินการเยียวยาต่อไปตามลำดับ อีกทั้ง สพป.สมุทรปราการ​ เขต​ 1 ได้มีคำสั่งย้ายครูคนดังกล่าว ไปช่วยราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่แล้ว และจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป โดยการสอบสวนจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขอให้ผู้ปกครองไม่ต้องกังวล

ทั้งนี้ ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดอย่างอื่น เช่น อาการบาดเจ็บของนักเรียนและอื่นๆ หากตรวจสอบแล้วพบว่า ครูมีเจตนาไม่เหมาะสม ก็จะต้องมีการลงโทษทางวินัยตามขั้นตอน แต่หากไม่ได้มีเจตนาไม่ดี เพียงแต่กระทำการไม่เหมาะสม ก็ต้องให้ความรู้ ต้องมีการชี้แนะ ให้โอกาส หากยังไม่ปรับพฤติกรรม ก็ต้องบริหารจัดการตามสมควร

นอกจากนี้ ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ได้แจ้งนักจิตวิทยาโรงเรียน ประจำเขตพื้นที่ฯ ร่วมกับครูประจำชั้น เข้าไปพูดคุยกับนักเรียน ประเมินสภาพจิตใจ สร้างขวัญและกำลังใจให้นักเรียน โดยมอบหมายครูประจำชั้น ทำการติดตาม เฝ้าระวังพฤติกรรมของนักเรียนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และรายงานความคืบหน้าของพฤติกรรมนักเรียน แจ้งต่อ สพฐ. เป็นระยะ พร้อมทั้งได้มีการประชุมคณะครูเพื่อทบทวนการลงโทษนักเรียน การควบคุมความประพฤติของนักเรียน และข้อห้ามการลงโทษนักเรียน

ส่วนการจัดการเรียนการสอน ให้ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย เสริมสร้างทักษะชีวิตนักเรียน และกำชับให้โรงเรียนดำเนินการตามมาตรการ 3 ป. ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม โดยทุกโรงเรียนต้องดำเนินการตามระบบ ดูแลช่วยเหลือนักเรียนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ รวมถึงวางมาตรการเชิงรุก กรณีนักเรียนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยคำนึงถึงบริบทที่เหมาะสมกับมาตรการด้วย

"ต้องเน้นย้ำตรงนี้ว่า ในการทำโทษนักเรียน ครูต้องเข้าใจว่า เด็กอายุ 0 - 18 ปี ยังเป็นผู้ใหญ่ไม่เต็มวัย ดังนั้นโอกาสที่จะทำผิดพลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้ เป็นเรื่องที่ต้องให้เด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมโรงเรียน หากเด็กทำผิดพลาดก็ต้องประคองให้ลุกขึ้น แล้วเดินใหม่ ซึ่งครูส่วนใหญ่เข้าใจ แต่อาจยังมีบางส่วนที่ต้องเติมความรู้เข้าไปเพิ่ม ซึ่ง สพฐ.อยู่ระหว่างการปรับแนวทางการเรียนรู้ และการดูแลนักเรียนอย่างเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ และเลขาธิการ กพฐ. มีความห่วงใยนักเรียนในทุกระดับ จึงได้กำชับเขตพื้นที่ฯและโรงเรียนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในสถานศึกษา ของนักเรียนทั้งร่างกายและจิตใจ โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้อุ่นใจว่า บุตรหลานมาโรงเรียนอย่างมีความสุข ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้นักเรียน "เรียนดี มีความสุข" อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคต่อไป" รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าว

"ม.มหิดล"ห่วงแผลทางใจทำเด็กเสพติดพฤติกรรมรุนแรง

ด้าน "รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์" ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ สุขภาพทางกาย ซึ่งการใช้เข็มอันเดียวจิ้มไปที่ปากเด็กๆหลายคน สิ่งที่ตามมา คือ เลือด หรือไวรัส ที่ติดไปกับเลือดที่อยู่ปลายเข็มอาจจะไปแพร่เชื้อให้กับเด็กคนต่อไปได้ ทางการแพทย์จึงไม่ให้ใช้เข็มร่วมกัน ซึ่งยกตัวอย่างโรคที่อาจจะติดต่อได้ก็พวก HIV หรือตับอักเสบบี ก็เป็นได้ และแผลที่อาจจะเกิดเป็นร้อนในก็ได้เช่นเดียวกัน  

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ สภาพจิตใจ เพราะครูก็เหมือนพ่อแม่คนที่ 2 ถูกไว้วางใจให้เลี้ยงดูเด็ก ๆ แล้วการที่ครูทำแบบนี้อาจจะส่งผลต่อจิตใจเด็ก บางคนอาจจะหวาดกลัว และไม่มีความไว้วางใจต่อครูหรือผู้เลี้ยงดู ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลในตอนโตด้วย เช่น เด็กอาจจะมีนิสัยหรือพฤติกรรมในการใช้ความรุนแรงด้วยเช่นเดียวกัน

 

"พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงนั้น การเลี้ยงดูมีผลอย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับครูอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วย และที่อยากฝาก คือ วัฒนธรรมการลงโทษเด็กๆ ในโรงเรียน ที่ควรพิจารณาให้มีความเหมาะควร ไม่เกินกว่าเหตุ" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว 


 

logoline