svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชวนดูสถิติย้อนหลัง "โรงงานพลุระเบิด" เคราะห์กรรมหรือการกระทำที่ประมาท?

18 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชวนดูสถิติย้อนหลัง "โรงงาน-โกดังพลุระเบิด" โศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญซ้ำซาก และการป้องกัน ที่สุดแล้วเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม หรือการกระทำที่ประมาท?

เป็นเหตุสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ ประเดิมต้นปี 2567 สำหรับเหตุ "โรงงานพลุระเบิด" ในพื้นที่หมู่ 3 ต.ศาลาขาว อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 มกราคม 2567 ในขณะที่คนงานกำลังทำการผลิตพลุอยู่

เหตุการณ์นี้ สร้างความสะเทือนใจ ต่อผู้ที่พบเหตุ สถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลุ อยู่ในสภาพพังราบเป็นหน้ากลอง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เบื้องต้นได้รับการยืนยันแล้ว 23 ราย จากคนที่จุดเกิดเหตุประมาณ 30 คน และยังมีรายงานการพบผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 ราย ที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ 
เหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี 17 ม.ค. 67  

นอกจากความรู้สึก สยอง หดหู่ สะเทือนใจ ต่อญาติของผู้เสียชีวิต และผู้ที่ทราบข่าวแล้ว ยังทำให้สังคมเกิดคำถามซ้ำ ๆ ในหัวหลายเรื่องว่า "ทำไม ทำไม ทำไม และทำไม" โดยเฉพาะคำถามที่ว่า "ทำไมถึงยังเกิดเหตุซ้ำซาก"  

เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ก็เพิ่งเกิดเหตุโกดังเก็บพลุระเบิด ที่ตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 118 ราย และทำลายอาคารบ้านเรือนในพื้นที่โดยรอบ อย่างน้อย 200 หลังคาเรือน
เหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี 17 ม.ค. 67

เมื่อไล่ย้อนสถิติการเกิดเหตุโรงงาน - โกดังเก็บพลุระเบิดตั้งแต่ปี 2551 จะพบว่า เคยเกิดในหลายพื้นที่ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก 

Nation Story จะพาไปย้อนดูว่า เคยเกิดเหตุแบบนี้ มาแล้วกี่ครั้ง ที่ใดบ้าง และที่ผ่านมาได้มีมาตรการป้องกันอย่างไร และสังคมได้อะไรจากอุบัติภัยสุดอันตรายเช่นนี้.......

ย้อนสถิติการเกิดเหตุโรงงาน - โกดังเก็บพลุระเบิด 

ปี 2551 
เกิดเหตุ 6 ครั้ง ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ , ลำปาง , สมุทรปราการ , ฉะเชิงเทรา มีผู้เสียชีวิตรวม 2  ราย บาดเจ็บ 5 คน 

ปี 2552 
เกิดเหตุ 3 ครั้ง ในพื้นที่ จ.พิจิตร , ราชบุรี , สมุทรปราการ มีผู้เสียชีวิตรวม 3  ราย บาดเจ็บ 24 คน

ปี 2553  
เกิดเหตุ 2 ครั้ง ในพื้นที่ จ.ระยอง , นครปฐม มีผู้เสียชีวิตรวม 1 ราย บาดเจ็บ 2 คน

ปี 2554 
เกิดเหตุ 5 ครั้ง ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา , ปราจีนบุรี , สระบุรี , เชียงใหม่ , ราชบุรี มีผู้เสียชีวิตรวม  6 ราย บาดเจ็บ 19 คน

ปี 2555 
เกิดเหตุ 5 ครั้ง ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ , อ่างทอง , สระบุรี , ลำพูน , สุพรรณบุรี มีผู้บาดเจ็บ 3 คน

ปี 2566 
เกิดเหตุ 3 ครั้ง ในพื้นที่ จ.อ่างทอง , เชียงใหม่ , นราธิวาส มีผู้เสียชีวิตรวม  12 ราย บาดเจ็บ 129 คน

ชวนดูสถิติย้อนหลัง \"โรงงานพลุระเบิด\" เคราะห์กรรมหรือการกระทำที่ประมาท?  

โดยข้อมูลเหล่านี้ ยังไม่รวมอุบัติเหตุ ที่เกิดจากการจุดพลุ แล้วระเบิดพลาดถูกประชาชน จนมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตอีกจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์พลุระเบิด ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 เวลา 19.30 น. กลางงาน "ตรุษจีนสุพรรณบุรี ปีทองมังกรสวรรค์" ณ อุทยานมังกรสวรรค์ ที่มี ผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 75 คน บ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก
 

สำหรับเหตุโรงงานพลุระเบิดขึ้นครั้งนี้ แม้จะมีความสูญเสียเป็นอย่างมาก และเป็นการเกิดเหตุซ้ำซาก แต่ในข้อเท็จจริงคือ โรงงานแห่งนี้ ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือ มีบุคคลขอใบอนุญาตในการทำ หรือ ค้าซึ่งดอกไม้เพลิง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จากกรมการปกครองอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ให้มีซึ่งยุทธภัณฑ์ โพแทสเซียม คลอไรด์ (Potassium Chloride) จากกระทรวงกลาโหม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 

และในข้อเท็จจริง การจะตั้งโรงงานผลิตพลุอย่างถูกกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมหลายฉบับ เช่น ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการดำเนินงานฉบับที่ 3 พ.ศ.2542 ฉบับที่ 4 พ.ศ.2552 , ระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรมหลักเกณฑ์ชี้บ่งอันตราย ประเมินความเสี่ยง การจัดทําแผนบริหารจัดการความเสี่ยง พ.ศ.2543 , ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย , กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ควบคุม การกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบใช้ผลิต พ.ศ.2547 , ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการป้องกันระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552 รวมถึงกฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงาน พ.ศ.2550 

ดังนั้นการที่จะตั้งโรงงานผลิตพลุ หรือดอกไม้ไฟได้นั้น จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายระบุไว้คร่าว ๆ ว่า 

1.ห้ามมิให้ผู้ใดทํา สั่ง นําเข้า หรือค้าซึ่ง ดอกไม้เพลิง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจาก นายทะเบียนท้องที่ 
2.ถ้าปรากฏว่าที่เก็บ ทํา หรือค้าดอกไม้เพลิง อาจเป็นอันตรายแก่ประชาชน เพื่อความ ปลอดภัยนายทะเบียนท้องที่จะสั่งให้ผู้รับ ใบอนุญาตจัดการตามความจําเป็นหรือจะให้ย้ายสถานที่นั้นเสียก็ได้
3.ห้ามเก็บสะสมดอกไม้เพลิงไว้ในอาคาร สถานที่หรือบริเวณที่ใช้ค้า ดอกไม้เพลิงที่มี น้ําหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดโดย ไม่รวมวัสดุห่อหุ้มเกินกว่า 50 กิโลกรัม

กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบ ป้องกัน เฝ้าระวังพลุระเบิดคร่าว ๆ ที่เข้าใจง่าย ๆ ไว้ว่า 

สาเหตุที่ทำให้พลุระเบิดส่วนใหญ่ มักมาจากสาเหตุเหล่านี้  

  • เก็บพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ไว้ในที่มีอากาศร้อน หรือติดไฟง่าย
  • การประกอบ ดัดแปลง พลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ไม่ถูกวิธี
  • เกิดไฟฟ้าลัดวงจรในที่เก็บพลุจึงทำให้เกิดประกายไฟ
  • การผลิตหรือลักลอบเก็บพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ไว้ในครอบครองอย่างผิดกฎหมาย


ผลกระทบจากพลุระเบิด

  • การรั่วซึมของสารเคมีที่เป็นอันตราย ทำให้ระคายเคืองตา จมูก หู และผิวหนัง
  • เกิดการบาดเจ็บบริเวณร่างกาย หรือสูญเสียอวัยวะ เช่น นิ้วมือ แขนขา ดวงตา ฯลฯ
  • ความรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิต


วิธีป้องกันพลุระเบิด

  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการผลิตหรือขายพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ได้รับการอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย
  • ไม่ผลิตหรือจัดเก็บใกล้กับอาคารบ้านเรือนหรือชุมชน
  • ไม่เก็บรักษาพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ ไว้ในที่มีอุณหภูมิสูง
  • เตรียมความพร้อมในการป้องกันอัคคีภัย เช่น ภาชนะบรรจุน้ำ ถังดับเพลิงไว้บริเวณใกล้ๆ
  • ห้ามสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาเสพติด ในบริเวณที่มีพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ
  • ไม่ประกอบ ดัดแปลง พลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ

ชวนดูสถิติย้อนหลัง \"โรงงานพลุระเบิด\" เคราะห์กรรมหรือการกระทำที่ประมาท?  

ผศ.ดร.วิภู ศรีสืบสาย คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า

สาเหตุโรงงานผลิต-โกดังเก็บพลุระเบิดนอกจากเรื่องของอุบัติเหตุแล้ว มีปัจจัยจากการละเลยของผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการหละหลวมการตรวจสอบอุปกรณ์ควบคุม จัดการความปลอดภัยในโรงงาน สายไฟฟ้าใช้งานไม่ได้มาตรฐาน ชำรุด และไม่มีการซ่อมแซมบำรุง ส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจร “เกิดประกายไฟ” แถมละเลยการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันระงับอัคคีภัยอีก

ในบางกรณีก็เกิดจาก “ผู้ผลิตประมาทเผอเรอ” มักง่ายสูบบุหรี่ใกล้โรงงาน จนเกิดไฟไหม้ขึ้น  สิ่งนี้ล้วนเอื้อต่อการเกิดอุบัติเหตุโรงงานพลุระเบิด รุนแรง และตามมาด้วยการรั่วซึมของสารเคมี ที่เป็นอันตรายอย่างมาก 
ชวนดูสถิติย้อนหลัง \"โรงงานพลุระเบิด\" เคราะห์กรรมหรือการกระทำที่ประมาท?

ที่มาข้อมูล : 1. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
2. ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกํากับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครองการขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2547
กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
website : https://ddc.moph.go.th/dip
- facebook.com/thaiinjury
กองป้องกันการบาดเจ็บ
ไทยรัฐออนไลน์

 

logoline