svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

ด่วน! "อธิบดีกรมการปกครอง" เผย พบเหยื่อพลุระเบิดเพิ่ม 2 ศพ แต่ยังไม่ยืนยัน

18 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ด่วน! "อธิบดีกรมการปกครอง" เผย พบเหยื่อพลุระเบิดเพิ่มอีก 2 ศพ แต่ยังไม่ยืนยันตัวตน พร้อมเปิดเงินเยียวยาเบื้องต้น ขณะที่ ผู้ว่าฯ เล็งตั้งกองทุนช่วยเหลือ-ทุนการศึกษา ยันมีใบอนุญาตถูกต้อง กำชับตรวจสอบโรงงานทั่วกรุงเทพฯ หวั่นซ้ำรอย นายกฯ สั่ง เร่งตรวจสอบช่วยเหลือ

18 มกราคม 2567 ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวถึง การตรวจสอบใบอนุญาตเหตุโรงงานพลุระเบิดที่ จ.สุพรรณบุรี จนมีผู้เสียชีวิตหลายราย ว่า โรงงานนี้ได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2564 และต่อใบอนุญาตทุกปี โดยผ่านการอนุมัติจากนายอำเภอเมืองสุพรรณบุรี หลังผ่านหลักเกณฑ์ อาทิ ผู้ขออนุญาตไม่มีประวัติอาชญากรรม สถานที่ตั้งโรงงานเป็นไปตามระเบียบของกฎหมายผังเมือง รวมถึงผ่านการทำประชาคมจากชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ตนได้ให้มีการตรวจสอบว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  

สำหรับสาเหตุพลุระเบิดนั้น ยังไม่ทราบ แต่มีการยืนยันแล้วว่ามีผู้เสียชีวิต 23 ราย และล่าสุดเมื่อเช้าพบเพิ่มอีก 2 ราย ที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ ซึ่งวันนี้(18 ม.ค.) ทางนิติวิทยาศาสตร์ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ก่อนนำร่างไปพิสูจน์อัตลักษณ์ พร้อมย้ำว่า การตั้งโรงงานดังกล่าวได้รับการอนุญาตถูกต้อง และได้มีการกำชับแล้ว หลังเกิดเหตุพลุระเบิดที่ บ้านมูโนะ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบตลอด 

ส่วนเหตุระเบิดสามารถเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ใดได้บ้างนั้น อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ต้องขอตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงก่อน ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุต้นเหตุได้ 

เมื่อถามว่า โรงงานดังกล่าวเคยเกิดเหตุระเบิดเมื่อปี 2565 และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทำไมถึงได้รับการอนุญาตตั้งโรงงาน อธิบดีกรมการปกครอง ชี้แจงว่า การได้รับอนุญาตจะต้องขอพื้นที่และรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ โดยทั้งหมดผ่านกระบวนการแล้ว ดังนั้นขอให้เจ้าหน้าที่ EOD ตรวจหาสาเหตุก่อน เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงมีคนไปรวมตัวภายในโรงงานดังกล่าวมากกว่า 20 คน ซึ่งไม่รู้ว่ามีงานเลี้ยงอะไรหรือไม่ ก่อนที่จะเกิดเหตุ

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็มีความห่วงใยและได้สั่งการจังหวัดให้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และมอบเงินช่วยเหลือเยียวยา นอกเหนือหน่วยงานกระทรวงอื่นด้วย

ส่วนที่สังคมตั้งคำถามว่า เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิตน้อยไปหรือไม่ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า จะมีการหาหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เป็นผู้ใหญ่และมีบุตรที่ต้องศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น จึงต้องดูว่าจะมีการตั้งกองทุนเพื่อมาดูแลหรือไม่ โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาแล้ว

สำหรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นประกอบด้วย
     - กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีเงินอุดหนุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม กรณีฉุกเฉิน ครอบครัวละ 3,000 บาท

     - ราชประชานุเคราะห์ฯ มีค่าทำศพ 10,000 บาท

     - กระทรวงแรงงาน โดยหน่วยงานจัดหางาน คุ้มครองแรงงาน ผู้ประกันตนและผู้ขึ้นทะเบียน จะช่วยเหลือด้วย

     - กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี  แบ่งเงินช่วยเหลือดังนี้
ค่าจัดการศพ 50,000 บาท, ทุนเลี้ยงชีพครอบครัว 30,000 บาท, มีบุตรไม่เกิน 25 ปี ได้อีก 50,000 บาท, ทุนเลี้ยงชีพ กรณีบาดเจ็บสาหัส 30,000 บาท เลี้ยงชีพ 15,000 บาท

     -กระทรวงยุติธรรม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่สอง) พ.ศ. 2559 โดยอยู่ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา (ผู้ว่าฯ เป็นประธาน) พิจารณาช่วยเหลือรายละไม่เกิน 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะอนุกรรมการฯ

     -ท้องถิ่น (ประกาศภัย) 29,700 ส่วนถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัว จะได้เพิ่มอีกเท่านึง (59,400)

ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กล่าวถึงเหตุการณ์ (วันที่ 17 มกราคม 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งคลี่คลายสถานการณ์ ช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานพลุระเบิด ที่จ.สุพรรณบุรี และเร่งดำเนินการในการตรวจสอบเหตุการณ์

โดย นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์และสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ พร้อมตรวจสอบโรงงาน โดยโรงงานพลุแห่งนี้ เคยเกิดการระเบิดมาแล้ว เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 จึงต้องมีการดำเนินการควบคุม ดูแลให้รัดกุมมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งในเรื่องการดำเนินกิจการ และการออกใบอนุญาตต่อไป

โดยเบื้องต้น นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำทีมจากสาธารณสุข และ ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงการพิสูจน์อัตลักษณ์ เพื่อยืนยันผู้เสียชีวิต

รวมทั้ง พม.ในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี ร่วมติดตามดูแลเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้สูญเสีย รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวผู้ประสบภัยหลังจากนี้ต่อไป กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการส่วนของการเยียวยาทั้งกรณีเสียชีวิต และบาดเจ็บ 

“นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเสียใจ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พร้อมเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ และนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการควบคุม เพื่อป้องกันเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นกับโรงงานประเภทเดียวกันอีก” นายชัย กล่าว

logoline