ทางด้าน พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เป็นประธานแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ร่วมแถลงข่าว ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
โดยก่อนหน้านี้ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10 – 25 ก.ย. 2566 ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยวาระสำคัญเกี่ยวข้องกับประเทศไทย คือ "เมืองโบราณศรีเทพ" ถูกบรรจุในวาระการพิจารณาที่ 31 คาดผลการพิจารณาจะประกาศช่วงวันที่ 19 ก.ย.2566 เนื่องจากเวลาท้องถิ่นช้ากว่าไทยประมาณ 4 ชั่วโมง
การที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรม โดยเมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45
ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 25 กันยายน 2566 ณ กรุงริยาร์ด ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ประกอบด้วย แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ๓ แหล่ง ที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และคงความเป็นของแท้ดั้งเดิม ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายใต้เกณฑ์ของยูเนสโก เกณฑ์ข้อที่ 2 แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง
หรือพื้นที่ในวัฒนธรรมใด ๆ ของโลก ผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี การวางแผนผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ และเกณฑ์ข้อที่ ๓ เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณี วัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว
ทั้งนี้ พลตำรวจเอก พัชรวาทฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
การดำเนินการที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ได้ขับเคลื่อนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเป็นมรดกโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้ การจัดทำเอกสารการนำเสนอเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่ จนทำให้เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย นับเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ ๗ ของไทย ซึ่งจะกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการหวงแหน และอนุรักษ์ทรัพยากรที่เป็นทุนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวตามมา โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จะได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพต่อไป
โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนให้ทุกคน ไปสัมผัสความสวยงามของเมืองโบราณศรีเทพ แหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียม ระหว่างวันที่ 20 - 24 กันยายน 2566 อีกทั้งยังจัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง ศรีเทพกับมรดกโลก ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึง 14 มกราคม 2567 เพื่อเผยแพร่เรื่องราว คุณค่า และความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพ ให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย
ชวนคอข่าว และสายท่องเที่ยวมาร่วมชม ทุกภาพของความสวยงามสุดจะบรรยายของ "อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ" เที่ยวชม “เมืองโบราณศรีเทพ” แห่งนี้ไปด้วยกัน
UNESCO ประกาศ “เมืองโบราณศรีเทพ” เป็นมรดกโลก
“เมืองโบราณศรีเทพ” หรือชื่อที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยว คือ "อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ" จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดย องค์การยูเนสโก จะอยู่ในวาระการพิจารณาที่ 31 จากทั้งหมด 53 วาระ ในช่วงบ่ายของวันนี้ (19 ก.ย.) ซึ่งหากเมืองศรีเทพได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ก็จะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีสำหรับประเทศไทย เพราะว่างเว้นการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมมานานถึง 31 ปีแล้ว โดยครั้งหลังสุดเป็นการประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2535
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า
ศูนย์กลางความเจริญของยุคทวารวดีน่าจะอยู่บริเวณด้านตะวันตกของลุ่มนํ้าเจ้าพระยา แถวเมืองอู่ทองและนครปฐม แต่ที่ เมืองศรีเทพ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าป่าสัก จ.เพชรบูรณ์นั้น มีการค้นพบแหล่งชุมชนโบราณ ตั้งแต่สมัยทวารวดีเช่นกัน
มีการพบหลักฐานจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่บ่งบอกถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณในพื้นที่บริเวณนี้มานานแล้ว โดยชุมชนโบราณศรีเทพมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก โดยเฉพาะจากอินเดีย
ในการสร้างเมืองเป็นรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของทวา ซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าวนั้นก็คือ “คูน้ำคันดิน” มีสองเมือง คือ เมืองใน และเมืองนอก
ภายในเมืองใน ปรากฏโบราณสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดีจำนวนมาก อาทิ เขาคลังใน เป็นพุทธสถานในศาสนาพุทธหินยาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>
ต่อมาเปลี่ยนการใช้งานมาเป็นพุทธศาสนามหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายแต่ยังคงหลงเหลือหลักฐานที่สมบูรณ์ คือ ฐานอาคารแบบทวารวดีที่เรียกว่า “ฐานบัววลัย” และ “ฐานยกเก็จ”
สันนิษฐานว่า น่าจะได้รับอิทธิพลรูปแบบการก่อสร้างมาจากศิลปะอินเดียใต้ มีประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบก มีทั้งศีรษะที่เป็นสิงห์ช้าง และลิง
ส่วน "เขาคลังนอก" ถือเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ "เมืองโบราณศรีเทพ" และเป็นสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุดในวัฒนธรรมทวารวดีในเวลานี้ ตั้งอยู่ในเขตเมืองนอกศรีเทพ
ในวันนี้ ที่สุดแห่งความยินดี "เมืองโบราณศรีเทพ" ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยก็จะมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศโดยยูเนสโก จำนวนรวม 4 แห่ง
ภายหลังการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะมีกระบวนการทำงานทั้งการพัฒนาพื้นที่ แหล่งโบราณสถาน การจัดทำศูนย์ข้อมูลและการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติม รวมถึงการรักษาดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโกต่อไป
บรรยากาศการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ “เมืองโบราณศรีเทพ” ขึ้นเป็นมรดกโลก
ช่วงบ่ายวันนี้ (19 ก.ย.66) นางรำร่วม “ฟ้อนบูชาศรีเทพ” ณ เชิงเจดีย์เขาคลังนอก
หลังจากยูเนสโก ประกาศรับรองให้ “เมืองโบราณศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ อย่างเป็นทางการ
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า
เป็นเรื่องน่ายินดีที่เมืองโบราณศรีเทพถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากการประชุมครั้งนี้ ทำให้ไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่ง นับเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมในรอบ 30 ปี
"เป็นความภาคภูมิใจของไทย หวังว่าจะเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ เเละขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวของไทย ขอส่งความยินดีให้คนไทยและเชิญชวนได้มาสัมผัสความสวยงาม และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน"
เครดิตภาพโดย: กอบภัค พรหมเรขา สำนักข่าวเนชั่น NationPhoto
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : เว็บไซต์ของ อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง กรมศิลปากร มา ณ โอกาสนี้