svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"เมืองโบราณศรีเทพ" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน

คงยังเป็นปริศนาที่ชวนให้ติดตาม ความลับของเมืองโบราณศรีเทพ ไม่ปรากฎร่องรอยการอยู่อาศัยเป็นช่วงเวลานาน ทิ้งปริศนาให้แก่นักโบราณคดีภายหลังค้นหาคำตอบที่ว่า สาเหตุใดเมืองโบราณที่เคยรุ่งเรืองแห่งนี้จึงไร้ซึ่งผู้คน!

จากกรณีของรายงานข่าว การประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ให้ประชาชนชาวไทยได้ลุ้นข่าวดีกันในวันนี้ โดยตัวเมืองโบราณศรีเทพนั้น ตั้งอยู่บริเวณที่ราบใกล้กับแม่น้ำป่าสัก ในเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีขนาดพื้นที่กว่า 2,900 ไร่  เผยให้เห็นร่องรอยของชุมชนโบราณ เมือง แหล่งศาสนสถาน รวมไปถึงยังขุดพบโครงกระดูกและข้าวของเครื่องใช้อีกมากมาย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอินเดีย รวมไปถึงเขมรและทวารวดี เคยมีความสำคัญมากในช่วง 2,500 ปี ก่อนที่เมืองแห่งนี้จะล่มสลาย

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชวนคอข่าวมาร่วมอ่านจากมุมมองของนักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

จากจุดเริ่มต้นของเป็นเส้นทางค้าขาย สู่ความรุ่งเรืองของ"เมืองโบราณศรีเทพ"  

โดยคุณธนัชญา เทียนดี นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เล่าให้ฟังว่า เมืองแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก สังเกตได้จากการขุดคันน้ำคูดินขนาดใหญ่ มีการจัดการน้ำแบบโบราณ การสร้างเมืองและศาสนสถานขนาดใหญ่ รวมไปถึงมีลักษณะศิลปกรรมที่มีสกุลช่างเป็นของตนเอง

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน เมืองโบราณศรีเทพ รุ่งเรืองมากว่า 700 ปี นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 8-18 อย่างไรก็ตามที่นี่มีปริศนาที่ยังไม่ไขกระจ่างอยู่อีกมาก หนึ่งในนั้นคือการที่นักโบราณคดีพบว่าหลังจาก 700 ปีของความรุ่งโรจน์ จู่ๆ ก็กลับไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัยของผู้คนอีกเลย และยังไม่สามารถระบุสาเหตุใดชัดเจน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>

เปิดหลักฐานทางโบราณคดีระบุ "เมืองถูกทิ้งร้าง!"
โดยคำว่า "ทิ้งร้าง" นั้นไม่ได้เพียงแค่หมายถึงว่า ผู้คนค่อยๆ หายไปจากเมืองแห่งนี้หรือประชากรลดน้อยลง เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้น ก็คงจะมีการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงบนพื้นที่ให้ได้เห็น แต่คำว่า ‘ทิ้งร้าง’ ที่ถูกนำมาใช้กับเมืองโบราณศรีเทพนั้นแสดงให้เห็นว่าเมืองนี้เมื่อถึงยุคหนึ่งกลับไม่ปรากฎร่องรอยการมีอยู่ของผู้คนอีกเลย

คุณธนัชญา เทียนดี นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้เล่าให้ฟังถึงการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยืนยันทฤษฎีดังกล่าว

"มองจากสภาพบนดินก่อนเราเห็นละว่าวัดร้าง มีต้นหญ้าขึ้น ต้นไม้ขึ้นปกคลุม"

ถึงตรงนี้ หากใครเคยไปที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ หรือติดตามเรื่องนี้ก็อาจจะเคยเห็นภาพเก่าก่อนที่จะมีการขุดค้นทางโบราณคดี ที่ปรากฎว่าโบราณสถานนั้นถูกปกคลุมไปด้วยเนินดิน หญ้า และต้นหญ้า หากเป็นคนทั่วไปซึ่งไม่มีความรู้ก็จะไม่รู้เลยว่าข้างใต้นั้นจะเป็นซากเมืองโบราณขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่กับนักโบราณคดี!

‘เราขุดลงไปในชั้นใต้ดิน เห็นชั้นวัฒนธรรมตั้งแต่ปัจจุบันย้อนไปถึงอดีตยุคแรกของเมือง ชั้นดินตามยุคสมัยจะมีโบราณวัตถุตามชั้นดิน และแน่นอนว่ามีความแตกต่างกันในแต่ละยุค .. ชั้นล่างสุดเป็นชั้นธรรมชาติยังไม่มีคนอาศัยอยู่ ไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นชั้นดินทรายเฉยๆ ไม่มีวัตถุ  ชั้นต่อไปคือชั้นทวารวดี  ชั้นต่อมาเป็นชั้นเขมร จะมีโบราณวัตถุแบบเขมรอยู่’   คุณธนัชญาอธิบายให้ฟังในแต่ละลำดับที่ขุดพบ

‘ทีนี้พอชั้นถัดมา เราขุดลงไปแล้วพบว่าจากชั้นเขมรจนถึงชั้นปัจจุบัน เรากลับไม่เจอหลักฐานการอยู่อาศัยเลย ไม่มีขยะที่คนโบราณทิ้งไว้เลย เป็นชั้นดินธรรมชาติเปล่าๆ  ไม่มีคนกลับมาใช้พื้นที่ตรงนี้เลย

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน
ทฤษฎีที่ยังต้องรอการพิสูจน์

จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า เมืองโบราณศรีเทพถูกทิ้งร้าง ไร้ผู้คน!

‘จริงๆ ต้องแยกเป็น 2 ประเด็นว่า ทำไมจากเมืองนี้ที่ร่ำรวยสุดๆ กลายเป็นตกต่ำลง และอีกประเด็นคือ ทำไมเมืองนี้ถึงถูกทิ้งร้างไป ' นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพชี้แจงเพิ่มเติม

พวกเขาสามารถให้ข้อสรุปต่อประเด็นคำถามแรกคือ ‘ทำไมจากมืองนี้ที่ร่ำรวยสุดๆ กลายเป็นตกต่ำลง’ ได้ โดยพบว่าในยุคนั้นเหตุการณ์การตกต่ำ หรือพูดง่ายๆ คือเมืองจนลง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

‘ในยุคนั้น พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จสวรรคต ผลจึงทำให้อำนาจของเขมรที่แผ่ไปไกลถึงภาคกลางของไทยลดน้อยลง ความเป็นเขมรเสื่อมลงตามลำดับ อำนาจทางการเมืองของศรีเทพก็ลดลงเหมือนกัน ประกอบกับเกิดเส้นทางการค้าใหม่ ด้วยว่าจีนสามารถแต่งสำเภาเข้ามาค้าขายด้วยตัวเองได้’

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน

จากการขยายอำนาจทางการค้าด้วยการแต่งสำเภาของคนจีน ส่งผลให้อำนาจบนแผ่นดินเมืองโบราณศรีเทพเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะได้เกิดศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่ที่ใกล้ทะเลมากกว่านั่นก็คือสุโขทัยและอโยธยา ตรงข้ามกับเมืองศรีเทพที่อยู่ไกลจากเส้นทางการค้าหลัก จึงทำให้เมืองจนและเสื่อมลง แต่ความจนก็หาใช่เหตุผลที่คนจะต้องทิ้งเมือง

‘ตรงนี้ก็คือยังเป็นปริศนา และหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมผู้คนถึงทิ้งร้างบริเวณนี้ไป’  คุณธนัชญากล่าวสรุป 

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน

‘ จนลงก็จริง แต่ก็ต้องมีคน? แต่ทำไมไม่กลายเป็นชุมชนเล็ก ๆ ทำไมถึงไม่อยู่ต่อ’

การทิ้งร้างเมืองโบราณศรีเทพจึงกลายเป็นปริศนาที่ยังรอวันพิสูจน์ โดยมีการคาดการณ์ว่าสาเหตุของการทิ้งร้างเมืองอาจจะมาจากประเด็นภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง หรือโรคระบาด 

‘เราก็จะศึกษาไปตามข้อสันนิษฐานอย่างเช่น ภัยแล้ง จะศึกษาภูมิอากาศสมัยโบราณ การศึกษาเมล็ดพืชในสมัยโบราณ ก็ยังพอเอามาประเด็นมาศึกษาต่อไปได้’

คุณธนัชญา กล่าวว่า ประเด็นการทิ้งร้างเมืองเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจศึกษาเพิ่มเติมอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถาม อื่นๆ ในเมืองศรีเทพที่ยังเป็นปริศนาให้ขุดค้นและหาคำตอบอีกมากเพื่อที่จะเรียนรู้และเข้าใจเมืองแห่งนี้ อาทิ การหา DNA ของคนและสัตว์ในเมือง การหาอายุของคูน้ำคันดิน เพื่อแบ่งแยกว่าเมืองส่วนไหนสร้างก่อนหรือหลัง รวมไปถึงการเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อสร้างภาพจำลองการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองศรีเทพในยุคนั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>

ระหว่างรอลุ้นการประกาศขึ้นทะเบียน “เมืองโบราณศรีเทพ” ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ของไทย เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 45 ที่ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย วันนี้ (19 ก.ย. 2566) ชวนคอข่าวเนชั่นออนไลน์ มาทำความรู้จักเมืองโบราณที่น่าภาคภูมิใจแห่งนี้ของประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น

รู้จัก "เมืองโบราณศรีเทพ" 

หรือในอีกนามเรียกขานว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปได้ถึงสมัยทวารวดี ที่มีอายุเมื่อราว 1,200 ปีที่แล้ว นักโบราณคดีไทยเรียกยุคประวัติศาสตร์ช่วงสมัยนี้ว่า “สมัยทวา” สันนิษฐานว่า ศูนย์กลางความเจริญของยุคนี้น่าจะอยู่บริเวณด้านตะวันตกของลุ่มนํ้าเจ้าพระยา แถวเมืองอู่ทองและนครปฐม จากการที่พบหลักฐานทางโบราณคดีเป็นจํานวนมาก และขนาดของเมืองที่มีขนาดใหญ่ โดยเมืองเหล่านี้ทําหน้าที่เป็นเมืองท่าทางทะเลด้วย

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงสองเมืองหลักของสมัยทวารวดี นักโบราณคดียังค้นพบ “กลุ่มเมือง” วัฒนธรรมทวารวดี ทั้งทางภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และภาคใต้ของไทยด้วย โดยเฉพาะ “กลุ่มเมืองทวา” ลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี อาทิ ลพบุรี จันเสน และศรีเทพ

แหล่งชุมชนโบราณศรีเทพ

โดย “ศรีเทพ” นั้น เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าป่าสัก อันเป็นลุ่มน้ำที่พบ “แหล่งชุมชนโบราณ” ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มากมาย ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี ไปจนถึงสระบุรี นอกจากนี้ ป่าสักยังถูกใช้เป็นเส้นทางในการติดต่อระหว่างพื้นที่ทางเหนือ อีสาน และภาคกลาง โดยมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวเชื่อมโยงคือ แร่ทองแดง อันเป็นแร่ตั้งต้นของการผลิตสําริด ในยุคสําริดลงมาถึงยุคเหล็ก เมื่อราว 1,800 ปีก่อน ดังพบหลักฐานจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่บ่งบอกถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณในพื้นที่บริเวณนี้มานานแล้ว

ชุมชนโบราณศรีเทพมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดีย และเริ่มเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ของไทยเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่ผ่านมา เมื่อเริ่มมีการสร้างเมืองเป็นรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของทวา ซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าวนั้นก็คือ “คูน้ำคันดิน” มีสองเมือง คือ เมืองในและเมืองนอก ภายในเมืองใน ปรากฏโบราณสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดีจำนวนมาก อาทิ เขาคลังใน เป็นพุทธสถานในศาสนาพุทธหินยาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ต่อมาเปลี่ยนการใช้งานมาเป็นพุทธศาสนามหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14 ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายแต่ยังคงหลงเหลือหลักฐานที่สมบูรณ์ คือ ฐานอาคารแบบทวารวดีที่เรียกว่า “ฐานบัววลัย” และ “ฐานยกเก็จ”

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน \"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน

สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลรูปแบบการก่อสร้างมาจากศิลปะอินเดียใต้ มีประติมากรรมปูนปั้นคนแคระแบก มีทั้งศีรษะที่เป็นสิงห์ช้าง และลิง สื่อความหมายถึงผู้ปกป้องดูแล โดยการแบกโบราณสถานเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีลายปูนปั้นที่เรียกว่า “ลายกระหนกผักกูด” ซึ่งเป็นอิทธิพลของงานศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและสมัยหลังคุปตะ ลายดอกกลมสลับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน อีกทั้งยังมีการขุดค้นพบพระพุทธรูปซึ่งมีอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะอันเป็นยุคทองของศิลปะอินเดียและพบพระโพธิสัตว์หลายองค์ในบริเวณเขาคลังใน

ส่วน เขาคลังนอก เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองโบราณศรีเทพ และเป็นสถาปัตยกรรมที่ใหญ่ที่สุดในวัฒนธรรมทวารวดีในเวลานี้ ตั้งอยู่ในเขตเมืองนอกศรีเทพ จากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2551 พบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม 1 องค์ ตัวโบราณสถานมีขนาด 64x64 เมตร สูง 20 เมตร ฐานอาคารมีการประดับปราสาทหรืออาคารจำลองไว้ทุกมุมทุกด้าน ด้านบนมีลานประทักษิณ และมีเจดีย์ประธานสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ทรงโอคว่ำ อิทธิพลจากศิลปะอินเดีย ทางขึ้นหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งมีเขาศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ คือ "เขาถมอรัตน์" มีถ้ำซึ่งประดิษฐานประติมากรรมพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และสถูป จากหลักฐานที่ปรากฏที่เขาคลังนอก สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน นอกจากสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียและชวาแล้ว เรายังพบปราสาทตามแบบศิลปะเขมรที่เมืองโบราณศรีเทพด้วย คือ “ปรางค์ศรีเทพ” สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในศิลปะเขมรแบบบาปวนและมีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยบายน ตัวปราสาทสร้างอยู่บนฐานอาคารสมัยทวารวดี ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐศิลาแลง มีอาคารประกอบทั้งมณฑป บรรณาลัย โคปุระ และสะพานนาค

อีกแห่งคือ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์องค์พี่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยนครวัด สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระศิวะ ส่วนปรางค์องค์น้องมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่การใช้งานเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนามหายานในสมัยบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีทับหลังที่สวยงามติดอยู่คือ อุมามเหศวร ที่เป็นศิลปะแบบบาปวน

ความหลากหลายทางศาสนาและศิลปะ ที่หลอมรวมอย่างงดงาม

กล่าวได้ว่า เมืองศรีเทพ หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นั้น มีจุดเด่นคือความหลากหลายของการนับถือศาสนาตั้งแต่พุทธศาสนาหินยาน มหายาน จนถึงพราหมณ์-ฮินดู มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่บ่งบอกวัฒนธรรมทวารวดี-วัฒนธรรมเขมร มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนทั้งภายในและภายนอกโดยเฉพาะจากอินเดีย เนื่องด้วยศรีเทพเมื่อ 1,200 ปีก่อนนั้นเป็นดินแดนที่ไม่ไกลจากทะเล จึงได้รับอิทธิพลทางด้านงานศิลปะ และสถาปัตยกรรมมาจากอินเดีย และที่อื่นๆ ผสมผสานกับแนวความเชื่อ งานศิลปะของช่างท้องถิ่น กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีทีแบบศรีเทพที่ไม่เหมือนใคร

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน ทั้งนี้ การพิจารณาขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโก จะอยู่ในวาระการพิจารณาที่ 31 จากทั้งหมด 53 วาระ ในช่วงบ่ายของวันนี้ (19 ก.ย.) ซึ่งหากเมืองศรีเทพได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ก็จะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีสำหรับประเทศไทย เพราะว่างเว้นการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมมานานถึง 31 ปีแล้ว โดยครั้งหลังสุดเป็นการประกาศขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2535

นอกจากนี้ หากเมืองโบราณศรีเทพได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยก็จะมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศโดยยูเนสโก จำนวนรวม 4 แห่ง โดยสามแห่งก่อนหน้านี้คือ 

  • เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
  • เมืองประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร
  • แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี

หลังประกาศจะมีกระบวนการทำงานทั้งการพัฒนาพื้นที่ แหล่งโบราณสถาน การจัดทำศูนย์ข้อมูลและการขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติม รวมถึงการรักษาดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโกต่อไป

เครดิตภาพ : กอบภัค พรหมเรขา (Korbphuk Phromrekha) สำนักข่าวเนชั่น 

\"เมืองโบราณศรีเทพ\" ปริศนาที่รอคำตอบ เหตุใดเมืองจึงถูกทิ้งร้างและไร้ผู้คน

ขอขอบคุณที่มา : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ / Posttoday