ชวนสายมูทั่วไทย มาร่วมทำความรู้จัก "วันคเณศจตุรถี" เทศกาลคเณศจตุรถี 2566 คือวันอะไร?
คเณศจตุรถี เทศกาลประจำปีเพื่อสักการะบูชาพระพิฆเนศ แต่ละปีจะไม่ตรงกัน โดยจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งในปี 2566 จะตรงกับวันอังคารที่ 19 กันยายน - วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566
สำหรับเทศกาลคเณศจตุรถี ถือเป็นเทศกาลของการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ขององค์พระคเณศ เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาเราจะได้ใกล้ชิดกับองค์พระคเณศมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นช่วงที่พระองค์เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ในช่วงเวลานี้ ผู้ที่ศรัทธาก็จะทำการต้อนรับพระองค์ด้วยการทำการบูชาในช่วงเทศกาลนี้
บางตำรากล่าวไว้ว่า เป็นวาระ “วันเกิด” ของพระคเณศ ซึ่งมีหลายคัมภีร์ หลายตำรา และไม่ตรงกัน แต่ในที่นี้จะอ้างอิงกับ “วันคเณศชยันตี” ที่ถูกระบุว่า ถือเป็นวันเกิดของพระคเณศ โดยอ้างอิงจากชาวฮินดูใน รัฐมหาราษฏระ ซึ่งนับว่าเป็นรัฐที่บูชาพระคเณศเป็นใหญ่ และบูชาอย่างเคร่งครัด
เปิดความเชื่อเกี่ยวกับ “วันคเณศจตุรถี”
เชื่อกันว่าในช่วงนี้ องค์พระพิฆเนศจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประทานพรให้แก่ผู้ศรัทธาพระองค์ ถือเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์เป็นพิเศษ ชาวฮินดูและผู้เลื่อมใสศรัทธาจึงมักทำการเฉลิมฉลอง เพื่อต้อนรับพระองค์ ด้วยการบูชาในบ้านของตัวเองหรือเทวลัย ในปัจจุบันมักนิยมทำกัน 3 วัน 7 วัน หรือพิธีใหญ่ 10 วัน
ปกติที่อินเดีย จะสร้างเทวรูปขึ้นจากดิน ปั้นขึ้นมาเป็นองค์เพื่อใช้ในการบูชาในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถีนี้ เมื่อเสร็จพิธีจะนำไปลอยน้ำ
สำหรับคนที่สนใจ อาจต้องการเพียงแค่การบูชา สามารถนำเทวรูปที่เราบูชาอยู่ทุกวันมาใช้บูชาในช่วง เทศกาลคเณศจตุรถีได้เช่นกัน เสร็จพิธีเพียงอัญเชิญกลับหิ้ง ไม่จำเป็นต้องลอยน้ำ แต่ระหว่างที่อัญเชิญท่านมาบูชาอาจทำความสะอาดเทวรูปก่อน รวมถึงทำความสะอาดหิ้งพระ และเทวรูปต่างๆ ของเราด้วย
ทริกการบูชาพระพิฆเนศ เทศกาลคเณศจตุรถี
ในช่วงเทศกาลนี้ ผู้ที่มีจิตศรัทธาในพระพิฆเนศ จะทำการปั้นองค์พระคเณศขึ้นมาจากดิน ช่วงเทศกาลในแต่ละวันจะการสวดมนต์ ทำพิธี ถวายสิ่งของต่าง ๆ ทั้งผลไม้ ขนมหวาน ได้แก่ ลาดู และโมทกะ หญ้าแพรก ดอกชบา รวมถึงใบไม้มงคลหลากหลายชนิด เมื่อสิ้นสุดการบูชาแล้ว จะทำการส่งเสด็จพระองค์กลับสู่สวรรค์ ด้วยการนำเทวรูปที่ทำการบูชาไปลอยน้ำ โดยจะเรียกพิธีส่งเสด็จนี้ว่า คเณศ วิสรฺชน
การเตรียมตัวในพิธีคเณศจตุรถี (ทำเองได้ในบ้านแบบเรียบง่าย)
ของบูชาพระพิฆเนศ วันคเณศจตุรถี มีดังนี้
เริ่มบูชาในวันนี้ คือวันอังคารที่ 19 กันยายน 66 แนะนำว่า ควรทำตั้งแต่ช่วงเช้า แต่หากไม่สะดวกจริง ๆ ก็เลือกช่วงเวลาที่สะดวกแทนได้
คำกล่าวอัญเชิญองค์พระคเณศ
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์ ประทับยังแท่นที่เตรียมไว้
อัญเชิญเทวรูปขึ้นประทับยังแท่น
หรืออาสนะที่เตรียมไว้ นำข้าวสาร หรือดอกไม้ โปรยที่แท่น หรืออาจเรียงเป็นรูปสวัสดิกะ แล้วนำเทวรูปวาง
ถวายน้ำล้างพระบาท
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระบาทต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำวน ที่บริเวณพระบาทของเทวรูป 3 ครั้ง แล้วเทลงที่พระบาท หรือเบื้องหน้าเทวรูป
ถวายน้ำล้างพระหัตถ์
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระหัตถ์ต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำวนที่บริเวณพระหัตถ์ของเทวรูป 3 ครั้ง แล้วเทลงที่พระหัตถ์ ข้างใดข้างหนึง หรือเบื้องหน้าเทวรูป
ถวายน้ำชำระพระโอษฐ์
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำชำระพระโอษฐ์ต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำวนที่บริเวณพระโอษฐ์ของเทวรูป 3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระโอษฐ์ หรือเบื้องหน้าเทวรูป
ถวายน้ำสรงสนาน
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำสรงสนานต่อพระองค์ ถวายน้ำสะอาด หรือน้ำนม หรือถวายน้ำปัญจะมรัตน์สรงเทวรูป หลังสรงแล้ว ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดองค์เทวรูป ทำความสะอาด เชิญองค์เทวรูปกลับแท่นพิธี (หากไม่สรงที่องค์ สามารถนำน้ำสะอาดวนรอบเทวรูป แล้วเทลงเบื้องหน้า ได้เช่นกัน)
ถวายผ้าทรง
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสำหรับนุ่งห่ม ต่อพระองค์นำผ้าคลุม หรือผ้านุ่งที่เตรียมไว้ ถวายต่อเทวรูป อาจจะนุ่ง หรือคลุม หรือวางไว้เบื้องหน้า
การถวายเครื่องหอม แป้งและผงเจิม
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องหอม และผงจุ่มเจิมต่อพระองค์ นำผงเจิม เช่น ผงจันทร์ ผงกุมกุม ผงซินดู เจิมที่เทวรูป นำน้ำหอมประพรมที่เทวรูป
ถวายเครื่องประดับ
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องประดับต่าง ๆ ต่อพระองค์ นำเครื่องประดับที่จัดเตรียมไว้ เช่น สร้อย กำไล สวมคล้องต่อเทวรูป หรือวางไว้เบื้องหน้า
ถวายดอกไม้ และมาลัย
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย มาลัยดอกไม้นี้แด่พระองค์ นำดอกไม้ มาลัยที่เตรียมไว้ คล้องถวายต่อเทวรูป
ถวายธูปหอม และกำยาน
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายธูปหอม และกำยานนี้ต่อพระองค์ นำธูป หรือกำยาน จุด วนถวาย ต่อเทวรูป
ถวายดวงประทีป
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายดวงประทีปต่อพระองค์นำประทีป หรือเทียน จุดถวายต่อเทวรูป
ถวายเครื่องบริโภค ผลไม้ ขนมหวาน
“โอม ศรี คเณศายะนะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายผลไม้ตามฤดูกาลนี้ พร้อมขนมหวานต่าง ๆ ต่อพระองค์ นำผลไม้ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ถวายต่อเทวรูป ถ้ามีเยอะมากหลายถาด สามารถนำน้ำตักใส่ช้อนวนที่ผลไม้ ขนมหวานต่าง ๆ แล้วเทน้ำลงเบื้องหน้าเทวรูปได้
ถวาย หมาก พลู หญ้าแพรก
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายหมากพลู และหญ้าแพรกต่อพระองค์ นำหมากพลู และหญ้าแพรก ที่เตรียมไว้ถวายต่อเทวรูป
ถวายบทบูชาสรรเสริญ
สวดบูชาสรรเสริญ ด้วยบทสวด หรือมนต์ต่าง ๆ หรือสวดมนต์ 108 จบเป็นต้น
“โอม วักรตุนดะ มหากายา
สุริยะโกฏิ สมะประภา
นีระวิฆนัม กุรุเมเดวา
สรวะกา เยรชุ สรวะดา”
แปลว่า : ขอน้อมบูชาพระคเณศผู้ยิ่งใหญ่ องค์วักระตุน ผู้มีรัศมีเจิดจรัญส่องสว่างดังดวงอาทิตย์นับโกฏิดวง มีงวงอันคดโค้งอ่อนช่อย ผู้เป็นครู แห่งทวยเทพทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอน้อมบูชาในพระองค์
หรือ สวดบทย่อ 108 จบ ดังนี้
“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ”
พิธีอารตี
สวดบูชาพร้อมวนไฟถวายต่อเทวรูป
สวดบูชาอารตี
หากสวดไม่ได้ สามารถเปิดทางยูทูป (Youtube) ค้นหา “ganpati aarti”
หรืออาจแค่วนไฟถวายพร้อมสวด “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ”
พิธีนี้ สามารถปฏิบัติได้ตลอดในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี หากผู้ประกอบพิธีไม่สะดวก ให้ทำเท่าที่เราทำได้ ของบูชา ขั้นตอนต่าง ๆ สามารถลด หรือเพิ่มเติมได้ แล้วแต่ผู้ทำบูชาจะเห็นควร อาจจะทำเต็มทุกขั้นตอนทุกวัน หรืออาจทำแค่วันแรก และวันสุดท้าย วันอื่น ๆ อาจจะแค่สวดมนต์ ถวายผลไม้ ขนมหวาน โดยไม่ต้องสรงน้ำก็ได้เช่นกัน
ในวันสุดท้าย เมื่อทำบูชาเสร็จแล้ว ให้อัญเชิญเทวรูปกลับขึ้นหิ้ง ถือเป็นการสิ้นสุดการบูชา ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี
ทั้งนี้เราสามารถปฏิบัติบูชาเช่นนี้ได้ตลอด หรือหากไม่สะดวก อาจทำเท่าที่เราทำได้ ขั้นตอนต่างๆ สามารถลดหรือเพิ่มเติมได้ แล้วแต่ผู้ทำ จะเห็นสมควร
บางคนอาจทำเต็มขั้นตอนทุกวัน หรือทำแค่วันแรก หรือวันสุดท้าย วันที่เหลืออาจแค่สวดบูชา ถวายผลไม้ ขนมต่างๆ โดยไม่สรงน้ำ
เพราะแท้จริงแล้ว แก่นแท้ของการกราบสักการะบูชานี้คือเพื่อแสดงความเคารพและนำมาซึ่งความสงบสู่จิตใจ อันเป็นการสร้างสติปัญญาและสิริมงคลให้กับชีวิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊กพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ
10 ศาลพระพิฆเนศที่ไปไหว้ได้ ด้วยจิตศรัทธา
1) เทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกรัชดา-ห้วยขวาง กรุงเทพฯ
เดิมแยกนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงตั้งศาลไว้เพื่อเตือนใจผู้ใช้รถใช้ถนน ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรได้รับโชคลาภมากมายจนโด่งดัง
ที่ตั้ง : สี่แยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เปิด : 12.00-24.00 น.
2) เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพฯ
สถานที่ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย มีลำดับการสักการะเทพทั้งหมด โดยเริ่มต้นจากพระพิฆเนศก่อนเสมอ ถือว่าท่านเป็นองค์ประธานของหมู่เทพ
ที่ตั้ง : 268 ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิด : 09.30-15.30 น. โทร : 0-2222-6951
3) ศาลพระพิฆเนศ อาเขต เชียงใหม่
ศูนย์กลางความศรัทธาใจกลางเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระพิฆเนศ 3 ปางและมีองค์เทพอื่นๆ อีก เช่น พระตรีมูรติ พระพรหม พระราหู
ที่ตั้ง : 207 ซอย 5 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เปิด : 24 ชั่วโมง
4) เทวสถานองค์พระพิฆเนศ ด่านนอก จ.สงขลา
พระพิฆเนศองค์ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ มีความสูง 30 เมตร มีองค์ท้าวมหาพรหมให้สักการะบูชาด้วย
ที่ตั้ง : ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เปิด : 07.00-23.00 น. โทร : 09-2456-2429
5) เทวาลัยคเณศร์ พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นองค์ประธานแห่งพระราชวังสนามจันทร์ มองเห็นพระปฐมเจดีย์อยู่ด้านหลัง
ที่ตั้ง : ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เปิด : 08.00-20.00 น.
6) วัดสมานรัตนาราม จ.ฉะเชิงเทรา
พระพิฆเนศปางนอนเสวยสุขใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 16 เมตร ประทานความเป็นอยู่อย่างสุขสบายมีกินมีใช้เงินทองไม่ขาดมือไม่มีเรื่องทุกข์ใจ มีพระพิฆเนศอีก 32 ปาง
ที่ตั้ง : ริมแม่น้ำบางปะกง หมู่ที่ 11 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิด : 08.00-18.00 น.
7) เทวาลัยพระพิฆเนศ บางใหญ่ นนทบุรี
ตั้งอยู่ระหว่างบิ๊กซีกับเซ็นทรัลเวสเกต เปิดให้สักการะ 24 ชั่วโมง มีองค์พระพิฆเนศปางมหาเทพไอยรา เป็นองค์ประธาน และมีองค์เทพอื่นๆ อีกหลายองค์
ที่ตั้ง : 6/39 ถนนกาญจนาภิเษก ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เปิด : 24 ชั่วโมง โทร : 08-5444-1509
8) ศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดช่องลม 2 สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
พระพิฆเนศปางประทานพรใหญ่ที่สุดในเขตเทือกเขาตะนาวศรี สีเขียวมรกต หน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 12 เมตร ตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขา มีพระโพธิสัตว์กวนอิม ตั้งอยู่ด้วย
ที่ตั้ง : ถนนราชบุรี-ผาปก ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เปิด : 08.00-18.00 น.
9) พระพิฆเนศ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.เพชรบุรี
พระพิฆเนศหล่อโลหะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในมหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่ตั้ง : มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เปิด : 08.00-18.00 น.
10) อุทยานพระพิฆเนศ นครนายก
พระพิฆเนศปูนปั้นใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ปางนั่งประทานพร หรือปางคณบดี ปางไสยาสน์ประทานพร หน้าตักกว้าง 9 เมตร สูง 15 เมตร และมีองค์พระพิฆเนศถึง 108 ปาง
ที่ตั้ง : สี่แยกประชาเกษม หมู่ 11 ถนนนครนายก-น้ำตกสาริกา ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เปิด : วันจันทร์-ศุกร์ 09.00-17.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 08.30-18.00 น.โทร : 06-4552-4292
.........................
ข้อมูลอ้างอิง : พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ, KCindjija : BLOG ที่เที่ยวอินเดีย วัฒนธรรม, Hindu Meeting, กรุงเทพธุรกิจ มา ณ โอกาสนี้
อีกแนวทาง สำหรับการจัดการเตรียมของถวายในพิธีคเณศจตุรถี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>
เอาใจสายมู! แม่ค้าตามเทรนด์ ทำขนมไทยบูชา "พระพิฆเนศ" ช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี