จับตาบทความเชิงสาระและสุขภาพ ที่จากทางเพจดัง หมอดื้อ หรือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ หมอธีระวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสเฟซบุก๊ส่วนตัว ธีระวัฒน์เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha โดยมีประเด็นการกินอาหารเช้า ระบุว่า
กินเร็วตั้งแต่เช้าตายช้า
มีรายงานการศึกษาทั้งสองชิ้นในวารสาร Cell Metabolism (clinical and translational report) 4 ตุลาคม 2022 ตอกย้ำการให้ความสำคัญกับเรื่องของอาหาร ซึ่งขณะนี้เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่มากผัก ผลไม้ กากใย น้ำมันมะกอก ไวน์แดง แป้งไม่มาก จัดเป็นอาหารช่วยชีวิต
ซึ่งในคนไทยเราก็มีผักผลไม้มากมายมหาศาลตามฤดูกาลอยู่แล้ว ปรับแต่งให้เข้ากับรสชาติไทยๆ เป็นส้มตำ เคียงผักนานาชนิด แต่อย่าให้เค็มมาก ลดข้าวเหนียวลงบ้าง เนื้อสัตว์ทั้งหลายพยายามหลีกเลี่ยง แต่ได้โปรตีนจากถั่ว จากพืช และปลา ปู กุ้ง หอย
คำถามหลักใหญ่อีกข้อคือ ถ้ากินเท่าเดิม เป็นชนิดของอาหารที่ดีตามข้างต้น จะกินตอนไหนดีตั้งแต่หลังตื่นนอน หรือชะลอไปเที่ยงหรือหลังเที่ยงไปจนกระทั่งถึงสอง สามทุ่ม แบบไหนจะดีกว่ากัน หรือจะเรียกกันง่ายๆว่า early eater กับ fast eater
และไม่นานมานี้ เราก็ทราบว่าการกินเป็นช่วงสั้นและกินแต่น้ำในช่วงเวลาที่เหลือในแต่ละวัน หรือจะเป็นเพียงผลไม้ที่เรียกว่า ไอ-เอฟ หรือ intermittent fasting โดย กิน 6 อด 18 ชั่วโมง หรือกิน 8 อด 16 ชั่วโมง หรือในหนึ่งสัปดาห์ กินปกติหกวัน ที่เหลืออีกหนึ่งวัน กินแต่น้ำ
โดยที่ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ พิสูจน์แล้วว่าทำให้สุขภาพแข็งแรง ปลอดจากโรคคาร์ดิโอเมตาบอลิก (cardio metabolic) รวมทั้งมีรายงานพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดความรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากการติดโควิด แต่ช่วงเวลาที่กิน ไอ-เอฟ จะกินตั้งแต่ครึ่งเช้าหรือจะกินบ่ายหรือค่ำ โดยระยะเวลาที่กินนั้นเท่ากัน
คำถามว่าจะกินตอนไหน กินเมื่อไหร่ และจะปล่อยให้กินได้ยาวนานเท่าใด
รายงานแรกจากคณะทำงาน Salk Institute for biological studies, La Jolla กับ University of California, San Diego ทำการศึกษาในอาสาสมัครที่เป็นนักผจญเพลิงที่ทำงานเป็นกะ กะละ 24 ชั่วโมง และให้กินอาหารได้เป็นระยะ (time restricted eating) ในช่วงเวลา 10 ชั่วโมง เทียบกับให้มีอิสระมากขึ้นในการกินอาหารให้ได้ระยะเวลาถึง 14 ชั่วโมง
โดยอาหารการกินนั้นเป็นอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนเหมือนกัน และแบ่งกลุ่มละ 75 คน ศึกษาการกินอาหารดังกล่าวเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ มีข้อมูลสุขภาพพื้นฐานก่อนทำการศึกษาอย่างครบถ้วน และมีการประเมินข้อมูลสุขภาพอย่างถี่ยิบ ซึ่งรวมถึงระดับไขมัน ชนิดของไขมัน ความดันโลหิต ความอ้วน ระดับน้ำตาลสะสม และอื่นๆอีกมาก
อย่างไรก็ดี ผลปรากฏว่ากลุ่มที่กำหนดช่วงเวลาที่ให้กิน (time window) 10 ชั่วโมงนั้น มีสุขภาพดีแข็งแรงขึ้นกว่าอีกกลุ่มและภาวะสุขภาพทางคาร์ดิโอเมตาบอลิกดีขึ้น และควรจะได้เป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานเป็นกะ กะละถึง 24 ชั่วโมง โดยคนในกลุ่มนี้มีการศึกษาก่อนหน้าว่า สุขภาพเสื่อม โทรมไปทั้งสิ้น
สำหรับในรายงานที่สองนั้น มาจากภาควิชาอายุรศาสตร์และประสาทวิทยา ฮาร์วาร์ด บอสตัน ร่วมกับสถาบันในประเทศเยอรมนีและสเปน
โดยตั้งสมมติฐานจากการที่มนุษย์จะมีนาฬิกาชีวิต หรือสมอง กำหนดระยะเวลาของการกิน การออกกำลัง การทำงาน และการนอนหลับ ซึ่งมีส่วนที่แปรเปลี่ยนและสัมพันธ์กับเวลากลางวันและกลางคืน ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ถ้าตื่นขึ้นมาปุ๊บแล้วกินเลย โดยให้ระยะเวลาการกินอยู่ที่ 5 ชั่วโมง และเทียบกับเมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว ไม่ได้กินอาหาร กินข้าวเช้า
แต่ไปเริ่มกินเอาเที่ยงหรือบ่ายไปแล้ว จนกระทั่งถึงหัวค่ำ โดยที่ทั้งสองกลุ่มนี้ กลุ่มใดจะให้ผลกระทบในทางเลว ในแง่ของการปรับอุณหภูมิในร่างกาย การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานของร่างกายและศึกษาลึกลงไปจนถึงเนื้อเยื่อไขมันในการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของไขมัน
การศึกษานี้ คัดสรรซอยย่อยตั้งแต่อาสาสมัคร 2,150 ราย และมีคุณสมบัติที่จะสามารถเข้าร่วมในการวิจัยอย่างเข้มข้นได้หรือไม่ จนกระทั่งท้ายสุดเหลืออยู่เพียงจำนวน 16 คน และแบ่งออกเป็นกลุ่มกินแต่เช้าเจ็ดคน และกลุ่มที่กินล่าช้าไปจนกระทั่งถึงเย็นค่ำเก้าคน และให้มีรูปแบบแผนในการกินเร็วและกินช้าแบบนี้สลับสับเปลี่ยนกัน โดยมีช่วงเวลาพัก (wash out period) ระหว่างสามถึง 12 สัปดาห์
ผลของการศึกษาพบว่า กลุ่มที่กินช้าจะมีความรู้สึกหิวมากกว่า คล้องจองไปกับการที่มีฮอร์โมนที่เพิ่มการหิวข้าว และมีระยะตื่น (wake time) มากกว่า อัตราสัดส่วนของฮอร์โมน ghrelin ต่อ leptin ที่ 24 ชั่วโมงนั้นสูงขึ้น มีระบบการเผาผลาญใช้พลังงานลดลง และอุณหภูมิในร่างกายตลอด 24 ชั่วโมงลดลง
นอกจากนั้นการวิเคราะห์ยีน พบว่า ยีนที่ควบคุมความเสถียรของเซลล์ และการคุมการคงมีชีวิตและการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเซลล์ ในระบบ autophagy เป็นในทิศทางที่แย่ลง รวมทั้งมีการเผาผลาญไขมันลดลงและมีการเพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อไขมันมากขึ้น ซึ่งทั้ง หลายทั้งปวงนี้บ่งบอกถึงการมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน และโรคที่ตามติดมาจากผลพวงดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยทั้งสองกลุ่มต่างก็ให้ข้อสรุปในทิศทางคล้ายกัน คือ
เริ่มกินตั้งแต่เช้าหรืออย่างดมื้อเช้า และจำกัดระยะเวลาของการกินอยู่ในช่วง 5 ถึง 10 ชั่วโมงแรก และประเพณี ประพฤติ ปฏิบัติของการกินมื้อเย็น ดินเนอร์ตอน 5 โมงเย็น หรือล่าช้าไปถึงทุ่มหรือสามทุ่ม จะเป็นสิ่งที่ให้ผลดีต่อสุขภาพหรือไม่ และการกินตอนสายจนไปถึงบ่าย กลับจะเพิ่มความตะกละ อยากกิน จนอาจจะต้องลุกขึ้นมาหาอะไรกินตอนกลางคืน หรือตอนดึกไปอีก
และอาหารมื้อเช้านั้น น่าจะเป็นมื้อที่ใหญ่ที่สุดหรือไม่ ?
จึงมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งจากสกอตแลนด์และอังกฤษ พบว่า มื้อเช้าอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องเป็นมื้อใหญ่เสมอไป แต่อยู่ในระยะเวลาของการกินและปริมาณของอาหารและชนิดของอาหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ที่เรียนให้ทราบถึงตรงนี้ เพื่อที่จะให้รู้สึกสบายใจและมั่นใจที่จะเริ่มประพฤติปฏิบัติในการกินอาหารสุขภาพ ทราบถึงเวลาและระยะเวลาของการกิน ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงสุขภาพของร่างกายโดยรวม คุณภาพของการนอน และแน่นอน ส่งผลไปถึงสมองทำให้เสื่อมช้าลง (resistance) หรือแม้แต่เสื่อมแล้วก็ยังไม่แสดงอาการออกมาได้ (resilience)
ในช่วงท้าย หมอดื้อ ระบุว่า
ชีวิตของเราเองเลือกได้ ที่จะไม่เป็นภาระต่อครอบครัว สังคม และทำให้ประเทศไทยของเรามั่งคั่ง
..
แถมให้อีกสาระดีๆ ที่นานๆ คุณหมอสุดเท่ สุดแนว จะมีเวลามาลงโพสต์ในเฟซบุ๊กให้ติดตามอ่านกันฟรีๆ
โด๊ปยาเป็นกำ...ก็ไม่รอด
เรื่องนี้เกี่ยวกับการได้รับยาที่อาจไม่ถูกต้องพอเหมาะและสมเหตุสมผล และเกิดปฏิกิริยาข้างเคียงต่อกันเป็นลูกโซ่ คนไข้รายนี้เป็นหนึ่งในหลาย 10 รายซ้ำซากที่เจอ
คุณสมชาย (นามสมมติ) อายุ 56 ปี ครอบครัวพามาพบหมอเพื่อช่วยให้รักษาโรคสมองเสื่อม อัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน และอื่นๆ การตรวจสอบยาพบว่า คุณสมชายมียา 22 ชนิด (43 เม็ดต่อวัน) และมียาฉีดอาทิตย์ละครั้ง
เดิมมีสุขภาพดีมาตลอด ลงพุงเล็กน้อย มีไขมัน คอเลสเทอรอลสูงประมาณ 260 โดยที่มีไขมันเสียที่เรียกว่า LDL เท่ากับ 120 และมีไขมันดี หรือ HLD 45
ซึ่งไขมันระดับนี้คุมอาหาร ออก กำลังสม่ำเสมอ ควรจะเพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าเพื่อสุขภาพ คือวันละ 2 เป๊ก วิสกี้ต่อวัน ความดันโลหิตไม่เคยสูงกว่า 130/85 มาตลอด ซึ่งถือว่าไม่มีความดันโลหิตสูง ออกกำลังตามสะดวก หมายความว่า ออกน้อยมาก หรือไม่ออกเลย แต่ยังคงทำงานธุรกิจได้อย่างกระฉับกระเฉง ครอบครัวไม่มีใครเจ็บป่วยทางโรคเส้นเลือดของหัวใจ หรือสมองและไม่มีสมองเสื่อม
อาการเริ่มต้น เมื่อคุณสมชายเริ่มบ่นให้ภรรยาฟังว่ามี “บ้านหมุนโคลงเคลง” เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว อาการหมุนไม่รุนแรง ไม่เคยล้ม ขณะที่ล้มตัวลงนอนตะแคงข้างขวา จะเกิดอาการเวียนหัวเป็นระยะสั้นๆ หรือเมื่อเปลี่ยน ท่าก็ดูเหมือนอาการจะหายไป เดินเหินยังทำได้ปกติ ไม่มีเห็นภาพซ้อน หูไม่มี เสียงดัง ไม่มีชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีก หรือมีมือ-แขนแกว่งจับของไม่ถูก
ภรรยาพาคุณสมชายไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้รับการวินิจฉัยเกือบในทันทีที่เอ่ยถึงอาการบ้านหมุนว่า น่ากลัวจะเป็นเส้นเลือดตีบในสมอง และถูกจับตัวเข้าทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตามลำดับ
และการตรวจอีกสารพัด
และได้รับคำบอกเล่าว่าโชคดีที่ยังไม่เป็นมาก แต่ต้องรีบรักษาป้องกันไว้ก่อน
โดยได้ยาแก้เวียน 2 ขนาน นามชื่อ Flunarizine และ Cinnarizine ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณด้วยว่าช่วยระบบไหลเวียนเลือดสมองดีขึ้น (ซึ่งไม่จริง) ได้ยาบำรุงสมอง ซึ่งในเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์สรรพคุณว่าเก่งจริง อีก 5 ขนาน
และเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความเฉียบคมของสมอง ได้ยาป้องกันสมองเสื่อมอีก 2 ขนาน (ซึ่งไม่เป็นความจริงเช่นเคย) พร้อมกับยาป้องกันเส้นเลือดตีบ 2 ขนาน ซึ่ง 1 ใน 2 นั้น มียาแอสไพรินเป็นส่วนผสม นอกจากนั้นเพื่อเป็นการปกป้องเส้นเลือดจากไขมันตกตะกอนจึงได้ยาลดไขมันอีก 2 ขนาน
ภายในสัปดาห์แรก คุณสมชายดูจะดีขึ้นจากบ้านหมุนโคลงเคลง แต่หลังจากสัปดาห์ที่ 4 คุณสมชายตัวแข็งๆ มือสั่น เดินช้า ตาไม่ค่อยกะพริบ หน้าเคร่ง เฉยเมย และมีอาการปวดเมื่อยตามไหล่ หลัง ขาทั้ง 2 ข้าง จนนอนไม่ค่อยหลับและท้องอืด เมื่อกลับไปพบคุณหมอคนแรก ได้รับการวินิจฉัยว่า คุณสมชายเริ่มมีอาการของโรคพาร์กินสัน ต้องได้รับยาอีก 2 ขนาน และยาแก้ปวดเมื่อยอีก 1 ขนาน ยาท้องอืดอีก 1 ขนาน
ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว อาการของโรคพาร์กินสัน เกิดจากยาแก้เวียน ซึ่งข้อบ่งชี้กำหนดให้ใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ และผลข้างเคียงจะก่อให้เกิดโรคพาร์กินสันได้หากใช้ติดต่อกัน
โรคพาร์กินสัน ตามปกติจะค่อยๆเป็นค่อย ๆไป จนระยะเวลาเป็นหลายปีจึงมีสภาพเช่นนี้ ยกเว้น มีการโด๊ปยาช่วยโรคพาร์กินสันอย่างมโหฬารจะเกิดอาการเลวลงอย่างรวดเร็วได้ อาการปวดเมื่อยเกิดจากผลข้างเคียงของยาลดไขมัน ซึ่งกรณีนี้ได้รับ 2 ตัวพร้อมกัน เพื่อลดทั้งคอเลสเทอรอล และไขมันไตรกลีเซอไรด์จะยิ่งเพิ่มอัตราของอาการข้างเคียงนี้
ในกรณีของคุณสมชายยังได้วิตามินบำรุงหลายกำมือ
ผ่านไปอีก 3 อาทิตย์อาการตัวแข็งยังเป็นอยู่ และมีอาการงกๆเงิ่นๆ มากขึ้น เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยน หวาดระแวง กลัวสมบัติจะหาย เห็นภาพหลอน จึงไปพบคุณหมอคนที่ 2 ซึ่งก็ได้ให้ยารักษาโรคจิตและยานอนหลับ
ทั้งนี้อาการทางจิตเป็นปฏิกิริยาหรือผลข้างเคียงต่อยาสมองเสื่อมและยาช่วยบรร-เทาโรคพาร์กินสัน ในโลกนี้ยังไม่มียาตัวใดที่สามารถรักษาอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้
ยาป้องกันสมองเสื่อม 2 ขนานที่ว่านี้ไม่มีผลใดๆในการชะลอหรือรักษาต้นเหตุ เป็นเพียงกระตุ้นสารเคมีในสมองให้รู้สึกตื่นตัว ฉับไว จะได้จำได้มากขึ้นบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ คุณหมอคนที่ 2 ยังได้ให้ยาแก้โรคกระเพาะท้องอืดมาอีก 1 ขนาน
อาการทั้งหมด ดี-เลว สลับกันไป จนทรุดหนักลงเรื่อยๆในช่วง 4 เดือนหลังจนถึงกับเดินลำบาก ต้องนั่งรถเข็นและพูด “ถามคำ ตอบคำ” ซึ่งน่าจะเป็นผลของยาโรคจิต ซึ่งทำให้อาการพาร์กินสันเลวลง และคุณสมชายกลายเป็นซอมบี้ มีอาการของโรคพาร์กินสันจริง ร่วมกับอิทธิพลของยานอนหลับ ซึ่งจะทำให้สมองและประสาทรับรู้การโต้ตอบ สั่งงานเชื่องช้าไปด้วย
หมอแนะนำให้คุณสมชาย หยุดยาทั้ง 23 ชนิด รวมทั้งยาฉีด
1 เดือนผ่านไปจนหมอลืมไปแล้วด้วยซ้ำ คุณสมชายเดินเข้ามาพบหมอในห้องตรวจพร้อมกับครอบครัวในสภาพปกติ จากอาการทั้งหมด คุณสมชายมีอาการบ้านหมุนจาก “หินปูนท่อน้ำในหู” ซึ่งเป็นโรคไม่ร้าย แรงแต่อาจเป็นๆ หายๆ และวิธีการรักษา คือใช้ยาแก้เวียนแต่น้อยเท่าที่จำเป็น และให้มีการเคลื่อนไหวหรือมีการบริหารท่าต่างๆ เพื่อปรับสมดุลจาก “หินปูนท่อน้ำในหู” นำไปสู่การวินิจฉัย “อัมพฤกษ์”
ซึ่งไม่เป็นจริงและได้ยาบำรุงรวมทั้งยาผีบอกอีกนับไม่ถ้วน และจากความเชื่อของคุณสมชายเองยังได้เสาะหาอาหารเสริมที่โฆษณาในทีวี-นิตยสารอีก 3-4 ชนิด จนตัวคุณสมชายได้กลายเป็น “สนามรบ” ของยาหลายชนิดและเป็นที่มาของการเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์...
การเลิกนิสัยที่อะไร ๆ ต้องกินยาก่อน น่าจะเป็นบทเรียนของคุณสมชายและเพื่อนแพทย์ทุกคนครับ
ปิดท้ายด้วย ข้อมูลสุดปัง
อายุ 60 ขึ้น นั่งนิ่งๆ วันละ 10 ชั่วโมง ขึ้นไปสมองเสื่อมมาเยือน
(แม้นั่งๆลุกๆ แต่ถ้ารวมเวลาแล้ว นานเกินไปเสร็จ)
วารสาร JAMA 12 กันยายน 2023
เติมเต็มด้วยสาระน่าอ่าน >>
10 ไอเดีย อาหารเช้าแบบคลีนๆ ทำง่ายในช่วงเร่งรีบของชีวิต
ขอขอบคุณที่มา : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha