svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"หมอมนูญ" เผย ยอดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่งแซงโควิด ชี้ ควรรับการฉีดวัคซีนปีละครั้ง 

31 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"หมอมนูญ" เผยรายงานทางการแพทย์ล่าสุด พบผู้ป่วย "โรคไข้หวัดใหญ่" เพิ่มขึ้น พุ่งแซงหน้าโควิดผู้ป่วยโควิดในรอบ 3 ปี ย้ำควรฉีดวัคซีนป้องกันปีละครั้ง ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ "หมอมนูญ" ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุถึงการแพร่ระบาดของ "โรคไข้หวัดใหญ่" ที่ขณะนี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แซงหน้าผู้ป่วยโรคโควิดในรอบ 3 ปี

ช่วงนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดลงอย่างมาก ขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น เป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่นอนรักษาในโรงพยาบาลวิชัยยุทธแซงหน้าผู้ป่วยโรคโควิดในรอบ 3 ปี

ผู้ป่วยชายอายุ 16 ปี มีไอ 2 วัน มีไข้ปวดเมื่อย ปวดตัว เจ็บคอ น้ำมูกเล็กน้อย 1 วัน ไม่เหนื่อย ตรวจ ATK ที่บ้านให้ผลลบ ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดไฟเซอร์ 4 เข็ม ติดไวรัสโควิดเดือนกันยายน 2565  ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เดือนพฤศจิกายน 2565 ผู้ป่วยบอกว่าเพื่อนๆในโรงเรียนเดียวกันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่า 200 คน เพราะนักเรียนในโรงเรียนใส่หน้ากากอนามัยน้อยลง

เชื้อไวรัสโควิด ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทยในขณะนี้เป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ยังไม่ใช่ XBB.1.5 คนไทยไม่ต้องตื่นกลัวสายพันธุ์ XBB.1.5 เท่าที่ทราบสายพันธุ์ XBB.1.5 ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ XBB.1.5 ติดกันง่ายมาก คนที่ยังไม่เคยติดเชื้อโควิด ในที่สุดก็จะติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ นอกจากนี้คนที่ได้รับวัคซีนครบโดสและเข็มกระตุ้นแล้วหรือเคยติดเชื้อก็ยังติดเชื้อนี้ได้อีก เพราะ XBB.1.5 หลบหลีกภูมิคุ้มกันเก่งกว่าสายพันธุ์อื่น

 

แต่คนส่วนใหญ่ถ้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเคยติดเชื้อมาก่อนจะป่วยไม่มาก การหลบหลีกภูมิคุ้มกันอาจทำให้การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld ไม่ได้ผล แต่ยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ แพ็กซ์โลวิด และโมลนูพิราเวียร์ยังใช้ได้ผลเหมือนเดิม

 

"หมอมนูญ" เผย ยอดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่งแซงโควิด ชี้ ควรรับการฉีดวัคซีนปีละครั้ง   

ช่วง 2 ปีแรกหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสตัวอื่นๆลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังจากที่มีการปลดล็อกดาวน์ ไม่จำกัดการเดินทางทั้งในและนอกประเทศ เด็กไปโรงเรียนได้ตามปกติ คนใส่หน้ากากอนามัยน้อยลง เชื้อไวรัสทางเดินหายใจต่างๆ เริ่มกลับมาแพร่ระบาดใหม่ในทุกประเทศ


ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2565 พบเชื้อไวรัสโควิด-19  RSV ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสชนิดอื่นๆจากการตรวจ ATK ตรวจแอนติเจน และรหัสพันธุกรรม RT-PCR  ดังนี้:
เชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 5,904 ราย
เชื้อไวรัส RSV 343 ราย
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 313 ราย
เชื้อ Rhinovirus 45 ราย 
เชื้อโคโรนาไวรัส OC43 จำนวน 27 ราย
เชื้อ Human metapneumovirus 24 ราย
เชื้อ Parainfluenza ไวรัส 19 ราย
การใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่มีผู้คนแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี เวลาเดินทางบนระบบขนส่งสาธารณะ ใช้บริการในโรงพยาบาล เวลาตัวเองมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล 
เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ เป็นสุขนิสัยที่ดี ช่วยลดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ทุกชนิด

ไขข้อสงสัยคาใจเกี่ยวกับ "ไข้หวัดใหญ่"

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ฉีดแล้วไม่เป็นหวัด จริงหรือ ?

ผศ. นพ. พิสนธิ์ จงตระกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ใช้สารพันธุกรรมจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ตายแล้ว นำมาผลิตเป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสารพันธุกรรมดังกล่าว ดังนั้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงป้องกันได้โรคเดียว คือ โรคไข้หวัดใหญ่

เนื่องจากวัคซีนทำมาจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดโรค แต่จะทำหน้าที่เป็นแอนติเจน (antigen) กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี (antibody) มาเป็นภูมิคุ้มกันโรค ปกป้องเราจากการเป็นโรค

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัด


ความแตกต่างของไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่
โรคหวัด เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเช่นกัน แต่เป็นไวรัสคนละชนิดกับไข้หวัดใหญ่ ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดได้บ่อยที่สุด คือไวรัสไรโน (rhino virus)

ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีชื่อเรียกว่า ไวรัสอินฟลูเอ็นซา (influenza virus) 

ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัด จะมีอาการคล้ายคลึงกันในระยะแรก คือ มีไข้ น้ำมูกไหล แต่ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงมาก ใช้เวลาในการรักษานานกว่า ทั้งสองโรคเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงรักษาไม่ได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

เมื่อมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ อย่ารีบซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้ ควรได้รับการวินิจฉัยก่อนว่าเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส หรือแบคทีเรีย หากเกิดจากแบคทีเรียจึงจะได้ประโยชน์จากการใช้ยาปฏิชีวนะ

"หมอมนูญ" เผย ยอดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่งแซงโควิด ชี้ ควรรับการฉีดวัคซีนปีละครั้ง 

ขอขอบคุณที่มาข้อมูล: อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

logoline