svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

“อจ.จุฬาฯ" ชี้ "นักวิชาการ" ซื้องาน "วิจัยทิพย์" ตรวจสอบยาก

12 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“อจ.จุฬาฯ" ชี้ นักวิชาการ "ช้อปปิ้งงานวิจัยทิพย์" ตรวจสอบยาก ยกเคส ซื้อขายผลงานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาฝังรากลึกมานาน เพียงแค่รูปแบบเปลี่ยนไป

"วิจัยทิพย์" 12 มกราคม 2566 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณี ข่าวนักวิชาการซื้องานวิจัยต่างประเทศ เพื่อตีพิมพ์เป็นชื่อของตัวเอง เป็นผู้จัดทำ และร่วมคณะจัดทำ ว่า สร้างความเสียหายให้แวดวงวิชาการไทยอย่างมาก เพราะโดยหลักการไม่ควรมีใครที่ต้องซื้อผลงานของคนอื่นนำมาเคลมเป็นของตัวเอง ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวง แต่ที่รอดพ้นการตรวจสอบมาได้ ต้องยอมรับว่าการตรวจสอบเป็นเรื่องยาก และมีช่องโหว่พอสมควร

เนื่องจากการซื้อขายงานวิจัยเป็นเรื่องความพึงพอใจระหว่าง ผู้ซื้อ กับ ผู้ขาย ดังนั้นจึงไม่มีใครออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบ นอกจากนี้การยื่นขอตำแหน่งวิชาการ ผู้ขอกรอกข้อมูลถูกต้องครบถ้วน ยกเว้นกรณีมีพิรุธจริงๆ เช่น ทำวิจัยข้ามสายงาน หรือข้ามศาสตร์ที่ตัวเองถนัด แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีความสามารถ หรือมีความสนใจเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยถ้าพบการทำผิดชัดเจนมหาวิทยาลัยสามารถฟ้องเอาผิดได้

โดยอีกช่องทางหนึ่ง คือมหาวิทยาลัยในต่างประเทศบางแห่ง รับตีพิมพ์ผลงานวิจัย เพียงแค่จ่ายครบ จบทุกขั้นตอน เรื่องนี้ก็ตรวจสอบยาก เนื่องจากการวัดเกรดวารสาร จะพิจารณาจาก 3 หัวข้อหลัก คือ ออกตรงเวลา กองบรรณาธิการเป็นที่ยอมรับ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นบุคคคลมีชื่อเสียงระดับนานชาติ และห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ สมัครเป็นสมาชิก จึงไม่มีใครไปตรวจสอบ หรือจับผิดใคร

ส่วนปัจจัยที่วิชาการบางส่วนซื้อผลงานวิจัยจากคนอื่น อาจารย์ไชยันต์ เชื่อว่า สาเหตุหนึ่งมาจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เปลี่ยนสถานะมหาวิทยาลัยจากเดิมเป็นหน่วยราชการ เป็นนิติบุคคล บริหารงานตามระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

ต่อมาทางมหาวิทยาลัยพยายามสร้างหลักประกันคุณภาพการศึกษา โดยออกระเบียบข้อบังคับให้ “อาจารย์” ต้องมีผลงานทางวิชาการ ตามเงื่อนไข เช่น สอนมาแล้วกี่ปี ต้องมีงานวิจัยกี่ชิ้น ถ้าขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ต้องสอนมาแล้วกี่ปี หรือมีงานวิจัยกี่ชิ้น ตรงนี้เข้าใจว่ามีเจตนาเพื่อกระตุ้นอาจารย์บางคนที่สอนไปวันๆ อยู่อย่างเดดวูด ไม่สนใจทำงานวิชาการ ปรับตัวใหม่ ทว่าความเป็นจริงแล้ว ยังมีอาจารย์อีกจำนวนมากที่สอนดี ตั้งใจสอนนิสิต นักศึกษา แต่ไม่ชอบทำงานวิชาการ

ขณะที่อาจารย์บางท่านก็น่าเห็นใจ เพราะสาขาที่สอน หรือสาขาที่ถนัด ไม่รู้จะทำวิจัยเรื่องอะไร เช่น สอนภาษาต่างประเทศ ดังนั้นจึงมีบางท่านพยายามข้ามไปทำวิจัยเกี่ยวกับวรรณคดีต่างประเทศ

อาจารย์ไชยันต์ กล่าวอีกว่า เมื่อมหาวิทยาลัยกำหนดให้อาจารย์ต้องมีผลงานทางวิชาการ ฉะนั้นด้วยเงื่นไขส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถ เวลา หรือต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด จึงบีบบังคับให้ อาจารย์บางคน เดินทางผิด ก้าวสู่วงวนทุจริต เลือกวิถีการฉ้อฉล โดยซื้อ “เงิน” ผลงานจากนักวิจัยต่างประเทศ / ใช้อำนาจ / ใช้ตำแหน่ง เอื้อประโยชน์ของตัวเอง

นอกจากการซื้อผลงานเพื่อความอยู่รอดแล้ว อาจารย์ไชยันต์ ยังมองอีกว่า นักวิชาการบางคน ใช้ตำแหน่งเพื่อเป็นใบเบิกทางสู่การเป็นคณะกรรมการต่าง ๆ เช่น กรรมการหลักสูตร กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก กำหนดว่าต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับนานชาติ ไม่น้อยกว่า 1 ชิ้น

"ตราบใดที่ยังกำหนดให้อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องมีผลวิจัย เพื่อเป็นบันได้สู่ตำแหน่งทางวิชาการ ปัญหาซื้องานวิจัยคงไม่หมดไปง่าย ๆ" อาจารย์ไชยันต์ ระบุ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

logoline