svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ดร.สามารถ แนะ “แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่าชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่”

13 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกประเด็นร้อนๆ ที่น่าสนใจ ดร.สามารถ เตือนสติ ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. “แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่ามัวแต่ชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่” เหตุหลายพื้นที่จมบาดาลและอ่วมหนัก ประชาชนเดือดร้อนทั่วกรุงเทพฯ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ระบุว่า

ดร.สามารถ แนะ “แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่าชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่”

เห็นใจท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ  ( นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  )

..

ที่ต้องมาแก้ปัญหาน้ำท่วมในตอนรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายที่ผู้เพิ่งรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำของ กทม. และของหน่วยงานอื่นได้แบบไร้รอยต่อ ผมจึงไม่ต้องการซ้ำเติมท่าน เพียงแต่อยากให้ท่านนำข้อเสนอของผมไปพิจารณาใช้เท่านั้น

1. ปีนี้ทำไมน้ำจึงท่วมกรุงเทพฯ ?

จากการเฝ้าติดตามการทำงานของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติและทีมงาน พบสาเหตุที่ทำให้กรุงเทพฯ ต้องประสบวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ดังนี้

(1) เส้นเลือดใหญ่ไม่ได้รับการบริหารจัดการให้ถูกต้อง ทำให้เส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วย เส้นเลือดใหญ่ประกอบด้วย ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ กทม.วางเพิ่มเติมโดยวิธีดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) คลองหลัก และอุโมงค์ระบายน้ำ ส่วนเส้นเลือดฝอยประกอบด้วย ระบบท่อระบายน้ำและระบบรางระบายน้ำจากผิวจราจร และคลองย่อย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าช่วงนี้น้ำในคลองหลัก เช่น คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว คลองประเวศ และคลองเปรมประชากร เป็นต้น มีระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต นั่นหมายความว่าในบางพื้นที่น้ำได้ล้นแนวเขื่อนกั้นน้ำเข้าท่วมแล้ว จนทำให้คนกรุงเทพฯ ในพื้นที่เหล่านั้นพูดว่า “น้ำล้นคลองไม่เกิดมานาน 20 ปีแล้ว เพิ่งมาเกิดอีกปีนี้แหละ” สถานการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าเส้นเลือดใหญ่มีปัญหาแล้ว
 

ดร.สามารถ แนะ “แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่าชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่” ถ้า กทม.ไม่เร่งแก้ปัญหาเส้นเลือดใหญ่ มัวแต่แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยที่ผู้บริหาร กทม. ชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ก็จะไม่สามารถขนน้ำไปทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เนื่องจากน้ำจากเส้นเลือดฝอยจะต้องไหลผ่านเส้นเลือดใหญ่ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเส้นเลือดใหญ่เป็นอัมพาต ย่อมส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเป็นอัมพาตตามไปด้วย ทำให้หลายพื้นที่ถูกน้ำท่วม

(2) ทีมงานบางคนสั่งการโดยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และ/หรือ ไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ อีกทั้ง มีการสั่งการกับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่หน้างานโดยตรง เป็นการสั่งการ “ข้ามหัว” ของหัวหน้าผู้ปฏิบัติงาน ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมขาดการบูรณาการ ที่สำคัญ ไม่รับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงานซึ่งมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น


2. ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าดังนี้

(1) ตรวจสอบการทำงานของเส้นเลือดใหญ่ว่าทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ? ถ้าไม่ ต้องเร่งแก้ไข ในกรณีที่น้ำไหลเข้าอุโมงค์ไม่ทัน ควรพิจารณาติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองเพิ่มเติม เครื่องสูบน้ำเหล่านี้จะทำหน้าที่ส่งน้ำเป็นทอดๆ เพื่อให้สามารถนำน้ำเข้าสู่อุโมงค์ และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้น้ำจากเส้นเลือดฝอยไหลมาสู่เส้นเลือดใหญ่ได้ พูดได้ว่าทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ไม่เป็นอัมพาต

(2) กำชับให้ “ทีมงาน” ศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนสั่งการให้ผู้ปฏิบัติงานทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และควรหลีกเลี่ยงการสั่งงานแบบ “ข้ามหัว” ที่สำคัญ ควรรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานระบายน้ำมาอย่างยาวนาน

 

(3) ขอให้กรมชลประทานเร่งสูบน้ำออกจากคลองที่อยู่ติดกับทะเลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การระบายน้ำออกจากคลองในเขตกรุงเทพฯ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว

3. สรุป

ย้ำว่า "ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นที่คาดหวังอย่างมากของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้ที่เลือกท่านให้มาแก้หลากหลายปัญหาของกรุงเทพฯ รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมที่ทำให้คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยต้องทุกข์ระทมอยู่ในเวลานี้

เหตุที่ท่านเป็นที่คาดหวังก็เพราะว่า ท่านเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงานบริหารในฐานะรัฐมนตรีมาแล้ว อีกทั้ง ทราบจากการหาเสียงของท่านว่า ท่านได้ศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาเป็นอย่างดีก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เป็นเวลาถึง 2 ปี

 

เมื่อ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นที่คาดหวังของคนกรุงเทพฯ แต่แก้ปัญหาให้เขาเหล่านั้นได้ไม่เท่ากับความคาดหวัง ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกตำหนิติเตียนบ้างเป็นธรรมดา ขอให้ถือว่าเป็นการ “ติเพื่อก่อ”

 

"ทั้งหมดนี้  ด้วยความหวังดีต่อท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ และทีมงานครับ"

ดร.สามารถ กล่าวทิ้งท้าย  

ดร.สามารถ แนะ “แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ” อย่าชู “เส้นเลือดฝอย” จนลืม “เส้นเลือดใหญ่”

logoline