svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

วอร์มอัพก่อน"เลือกตั้ง66" กลยุทธ์ "ประมง-กัญชา-ยาบ้า" เครื่องมือหาเสียง?

05 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ระบบที่พังทลายช่วงปลายสมัยของรัฐบาลและสภาชุดนี้ร้ายแรงที่สุดคือการเล่นเกมการเมืองกันจนประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ทั้งๆ สภา และรัฐบาล ต้องมีเจตจำนงทำเพื่อประชาชน ติดตามใน"เจาะประเด็นร้อน" ศึก"เลือกตั้ง66"

"เนชั่นทีวี" ขอพาย้อนกลับไปดูเหตุผลที่ทำให้สภาล่มเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ถึงขั้นทำให้ "นายศุภชัย  โพธิ์ศุ"  รองประธานสภาบ่นออกมาดังๆ ผ่านไมค์ เรียกร้องให้ "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ยุบสภาไปเสียที เพราะตัวเองก็สุดจะทนแล้ว (ในโลกนี้ไม่รู้เคยเกิดที่ไหนมาก่อนบ้าง) 

 

"...ผมก็เบื่อหน่ายเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ อยากเรียกร้องว่าท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าได้ยินก็รีบยุบสภาเสีย เพราะ ส.ส.ไม่อยากประชุมแล้ว รัฐมนตรีไม่ยอมมาตอบกระทู้ในที่ประชุม ท่านจะอยู่ไปทำไม ผมก็มีอารมณ์อยากระบายเหมือนกัน..."

 "ศุภชัย  โพธิ์ศุ " รองประธานสภาฯ จากพรรคภูมิใจไทย  เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

-ช่วงที่สภาล่ม เป็นวาระการลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอโดย ครม. เข้าครั้งแรกสัปดาห์ที่แล้ว ก็ล่มไปก่อนแล้ว ครั้งนี้ก็ล่มอีก 

 

-มี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมบางตา ประธานกดออดอยู่นานร่วม 15นาที ก็ไม่เห็นแววครบองค์ประชุม 

 

- ส.ส.ที่อยู่ในห้องส่วนใหญ่เป็นเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ เพื่อเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง จำนวน 7 ฉบับ ในวาระถัดไป

-มีรายงานว่า ไม่มี ส.ส.พรรคภูมิใจไทยอยู่ในห้องประชุม เพื่อเอาคืนหลังจากเกิดเหตุสภาล่ม เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ส่งผลให้ "ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง"  ค้างอยู่ในสภานานหลายสัปดาห์ไม่คืบหน้า (ถึงขั้นมี ส.ส.เพื่อไทย บอกให้ประธานฯศุภชัย หรือ ครูแก้ว แจ้งในไลน์กลุ่มพรรคภูมิใจไทย เพราะครูแก้ว ก็อยู่พรรคนี้ บอก ส.ส.ให้ช่วยเข้าประชุม) 

 

วอร์มอัพก่อน"เลือกตั้ง66" กลยุทธ์ "ประมง-กัญชา-ยาบ้า" เครื่องมือหาเสียง?

 

สุดท้ายสภาก็ล่มไปอีกครั้งหนึ่ง 

 

สาเหตุที่สภาล่ม หลายคนอาจจะมองว่า สาเหตุใหญ่ที่สุดมาจาก "รัฐบาล" ไม่สามารถรักษาองค์ประชุมได้ ซึ่งก็ถูกส่วนหนึ่ง 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สภาที่ล่มในระยะหลัง มาจากการคัดค้านร่างกฎหมาย 2 ฉบับสำคัญ ซึ่ง ส.ส.รัฐบาลจากบางพรรคก็ออกโรงค้านด้วย ทำให้สภาไม่มีทางรอดได้เลย แปลว่า "ล่มตลอด" นั่นเอง 

ร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่ว่านี้คือ 

 

1.ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ฝ่ายค้านไม่เอาด้วย เพราะมองว่าเป็นกฎหมายอำนาจนิยม ร่างออกมาไม่ทันยุคทันสมัย ไม่ได้พัฒนาการศึกษา แต่อาจพาถอยหลังเข้าคลอง - ปัญหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ พอจะโทษรัฐบาลได้ระดับหนึ่งว่ารักษาองค์ประชุมไม่ได้เอง แต่ลึกๆ แล้วก็มี ส.ส.รัฐบาลไม่เอาด้วยกับร่างกฎหมายนี้เช่นกัน 

 

วอร์มอัพก่อน"เลือกตั้ง66" กลยุทธ์ "ประมง-กัญชา-ยาบ้า" เครื่องมือหาเสียง?

 

2.ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... พรรคการเมืองที่ไม่เอาด้วย มีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ได้แก่ เพื่อไทย ประชาชาติ (ฝ่ายค้าน) ประชาธิปัตย์ (รัฐบาล) ส่วนพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่โดดประชุม โดยเฉพาะในวันที่มีรวมพลที่บ้านป่ารอยต่อฯ 

 

เมื่อพรรคใหญ่และพรรคขนาดกลางของฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่เอากฎหมายฉบับนี้ โอกาสที่กฎหมายจะพิจารณาอย่างราบรื่นจึงไม่มีเลย 

 

ส่วนประเด็นการ "เอาคืน" ของพรรคภูมิใจไทย ถึงขั้นมีการแซวให้ประธานฯ (จากภูมิใจไทย) ตาม ส.ส.ในไลน์กลุ่มพรรคให้มาประชุม / หากพูดอย่างกลางๆ ก็ไม่ได้มีใครยืนยันว่าเป็นการ "เอาคืน" ของภูมิใจไทย หลังจากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ไม่คืบหน้า สภาล่มซ้ำซากหรือไม่ 

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ "ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558" ไม่ได้ถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อพิจารณา 

 

ย้อนกลับไปยุคที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง โจทย์ยากข้อหนึ่งที่ต้องเข้ามาแก้ คือ การถูกขู่บอยคอตจาก "ไอยูยู" ของสหภาพยุโรป ในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ขาดการควบคุม 

 

วอร์มอัพก่อน"เลือกตั้ง66" กลยุทธ์ "ประมง-กัญชา-ยาบ้า" เครื่องมือหาเสียง?

 

คสช.เข้ามาแก้ปัญหานี้โดยใช้ "หมัดเหล็ก" หรือ "ไม้แข็ง" เพื่อให้ไทยรอดจากการถูกคว่ำบาตร และมีการออก พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 มาบังคับใช้ แม้ด้านหนึ่งจะทำให้ไทยรอดจากกฎเหล็ก ไอยูยู แต่ผลด้านตรงข้ามที่เป็นผลลบ ก็คือ ธุรกิจประมงของไทยที่เคยทำรายได้ปีละหลายแสนล้าน พังแทบทั้งระบบ รายได้เข้าประเทศลดลงเหลือแค่ร้อยละ 10 เรือประมงจอดทิ้งร้าง เพราะออกหาปลาไม่ได้ และมีการใช้ "ทหาร" โดยกองทัพเรือ มาเป็น "ผู้คุ้มกฎ" ซึ่งทหารย่อมไม่เข้าใจธุรกิจประมง

 

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทุกคนเห็นด้วย แต่เมื่อผ่านระยะเวลามาหลายปีแล้ว กลับไม่มีการพยายามทำความเข้าใจกับ ไอยูยู เพื่อขอผ่อนปรน หรือสร้างความเข้าใจในการทำประมงในแบบของไทย เพื่อผ่อนคลายกฎเหล็กบางประการ ให้อาชีพประมงอยู่ได้ 

 

ขณะที่แนวทางตามกฎหมาย มีการตรวจสอบเข้มทุกขั้นตอน การซื้อเรือคืน (สำหรับเรือที่ไม่ผ่านมาตรฐาน) กว่าจะจ่ายเงินกันได้ ต้องตรวจสอบโดยคณะกรรมการไม่ต่ำกว่า 3 รอบ ป่านนี้ยังแทบไม่ได้จ่ายกัน วันก่อนประมงปัตตานีก็เพิ่งประท้วงกันไป 

 

ที่ผ่านมาเครือข่ายประมงมีการจัดสัมนา และรวมพลมายื่นร้องเรียนที่สภา ทำความเข้าใจกับพรรคการเมืองทุกพรรค กระทั่งเห็นตรงกันว่า จะมีการแก้ไขพระราชกำหนดการประมงร่วมกัน และจะทำให้เสร็จก่อนสิ้นสมัยประชุมนี้ และก่อนหมดวาระของสภาชุดนี้ 

 

มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขพระราชกำหนดการประมง ถึง 7 ร่าง จากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล ประชาชาติ หรือแม้แต่ภูมิใจไทยเอง 

 

แต่ปรากฏว่าสภาล่ม ทำให้สภาไม่ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา จึงสะท้อนให้เห็นว่า การเล่นการเมืองกันของพรรคการเมืองในช่วงใกล้เลือกตั้ง สร้างความเสียหายรุนแรงเพียงใด 

 

"กันตวรรณ ตันเถียร" กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์

 

"กันตวรรณ ตันเถียร" กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่ร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขพระราชกำหนดการประมง ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องนี้

 

-การเป็นพรรคการเมือง ควรจะแยกแยะประเด็น เพราะ พ.ร.บ.แก้ไขพระราชกำหนดการประมง เป็นเรื่องลมหายใจของพี่น้องประมงทั่วประเทศ เป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับการพิจารณา จึงก่อผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและปากท้อง 

 

"พรรคภูมิใจไทย"ไม่ควรเอาเรื่องนี้มาเป็นเกมในสภา เพราะนี่คือปัญหาของพี่น้องประมงทั่วประเทศ ท่านจะสนับสนุนกัญชาระดับไหนก็ผ่านสภาไป แต่ปัญหาของพี่น้องประมง ท่านจะต้องเข้ามาเป็นองค์ประชุม เพราะ ส.สของภูมิใจไทยเองก็เสนอร่างด้วยเช่นกัน"

 

-ท่าทีของประชาธิปัตย์ที่บางครั้งก็ไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม ช่วงพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง "กันตวรรณ" อธิบายว่า เป็นคนละอย่างกัน เพราะอยู่ในขั้นตอนพิจารณารายมาตรา ตนเองก็อยู่ในห้องประชุมตลอด เรื่องเนื้อหาแต่ละมาตราจึงมีความเห็นแย้งกันได้ โดยเฉพาะเรื่องกัญชาทางการแพทย์ กับ กัญชาเสรี , ส่วนกฎหมายประมง เป็นขั้นตอนการรับหลักการ เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปพิจารณาในรายละเอียด จะได้เดินหน้าต่อไป หากจะคว่ำหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกวาระหนึ่ง 

 

ศึกนี้คงไม่จบง่าย เพราะจะว่าไปก็มีการเมืองแฝงอยู่ทุกอณู

 

"กันตวรรณ ตันเถียร" กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์

"กันตวรรณ" เป็น ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ บ้านเดียวกับหัวหน้า"จุรินทร์" และเป็น ส.ส.มาแล้วถึง 5 สมัย 

 

เลือกตั้งปี 62 พังงามี ส.ส.คนเดียว ซึ่ง"กันตวรรณ" ก็เก็บ clean sheet เอาไว้ได้ (ไม่เสียประตู) 

 

เลือกตั้งปี 66 พังงาเพิ่มเป็น 2 เขต (ก่อนปี 62 ก็เคย 2 เขต) "กันตวรรณ" จึงเป็นตัวเต็ง แต่ก็ถูกลูบคมโดยพรรคภูมิใจไทย 

 

"เสี่ยหนู" อนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยประกาศสร้างแลนด์สไลด์ฝั่งอันดามัน หวังเจาะพังงา กระบี่ ตรัง สตูล ซึ่งบางจังหวัดเจาะได้ไปแล้วในการเลือกตั้งปี 62 ซึ่งได้มาถึง 8 ที่นั่งอย่างสุดเซอร์ไพรส์ 

 

งานเตะตัดขา ขวางกฎหมาย จึงต้องดำเนินต่อไป และนำไปขยายผลต่อในสนามเลือกตั้ง 

 

กล่าวถึงภูมิใจไทยในภาคใต้ เลือกตั้งหนนี้มีกระอัก เพราะโดน “พิษกัญชา” แทรกซ้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก เนื่องจากมีกระแสต้านกฎหมายกัญชา ว่าเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม (หะรอม ไม่ใช่ ฮาลาล) 

 

เมื่อกฎหมายกัญชาก็ไม่ผ่าน พรรคตัวเองก็โดนถล่มไม่เว้นวัน  ล่าสุด"ภูมิใจไทย"จึงพลิกเกม เสนอให้ผู้ครอบครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ด = 2 เม็ดขึ้นไป เป็นผู้ค้า จากเดิม ครอบครองต่ำกว่า 5 เม็ด = ผู้เสพ เทียบเท่าผู้ป่วย จะถูกส่งไปบำบัด และไม่ถูกดำเนินคดี 

 

ก่อนหน้านั้น มาตรฐานการแยกแยะผู้เสพ กับผู้ค้า เคยไปไกลถึงขั้น ต้องครอบครองเกิน 15 เม็ด จึงจะเป็นผู้ค้า เนื่องจากกฎหมายเดิมที่เขียนแบบเข้ม ใครครอบครองยาบ้าแม้แต่เม็ดเดียว ก็มีโทษสูงสุดถึงประหาร ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา คือ นักโทษล้นคุก ผู้ต้องขังกว่า 80% เป็นนักโทษคดียาเสพติด 

 

ระบบบำบัด และบังคับบำบัด ถูกนำมาใช้ และกำลังพัฒนาต่อไป โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อคัดกรองคนกลับสู่ชุมชน สร้างโอกาสทางสังคม ทางอาชีพ ไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ เป็นโมเดลเหมือนกับที่โปรตุเกส ประสบความสำเร็จ คือ "โปรตุเกสโมเดล" คือไม่ได้มุ่งเอาผิดผู้ครองครองยาบ้า หรือยาเสพติด แต่เปลี่ยนมุมไปเน้นบำบัด รักษา สร้างความเข้าใจ

 

แต่บ้านเรากำลังย้อนกลับไปใช้ "หมัดเหล็ก" อีกครั้ง โดยผลข้างเคียงที่จะกลับมาแน่นอน คือ 

 

1.นักโทษล้นคุก ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ (ก่อนหน้านี้ ไทยติดอันดับ 6 ของโลก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นแค่ประเทศเล็กๆ) 

 

2.ตำรวจยัดยา เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้ง หรือเรียกสินบน 

 

เพราะแค่ 2 เม็ด โทษประหาร จึงเปิดช่องให้เรียกใต้โต๊ะ ถ้ายอมจ่าย ก็ทำสำนวนอ่อน ลดจำนวนเม็ดยาให้ ฯลฯ 

 

แต่ดูเหมือน"ภูมิใจไทย"จะเดินหน้าเสนอเข้า ครม.อังคารหน้า เพื่อให้เห็นว่าภูมิใจไทยเอาจริงเอาจังกับเรื่องยาเสพติด แก้ภาพลบความเป็น "พรรคเสรีกัญชา" หวังผลในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป

logoline