svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ศิริกัญญา"ถามรัฐเต็มที่หรือยังกันทรู-ดีแทคควบรวมหวั่นค่าบริการพุ่ง

11 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศิริกัญญา"ร่ายยาวชำแหละ 8 ปี รัฐบาลเอื้อทุนผูกขาด ถามเต็มที่แล้วหรือยังป้องกันควบรวมทรู-ดีแทค หวั่นค่าบริการแพง-เพิ่มภาระประชาชน แซะหรือได้ประโชน์ร่วม

11 สิงหาคม 2565 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเศรษฐกิจผูกขาด โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ตอบแทน 

 

"ศิริกัญญา"ถามรัฐเต็มที่หรือยังกันทรู-ดีแทคควบรวมหวั่นค่าบริการพุ่ง

 

โดย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ระบบผูกขาดเกิดขึ้นในเศรษฐกิจไทย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด สิ่งนี้จะเป็นตัวฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ โดย 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งเสริมให้กลุ่มเจ้าสัวที่รวยสุดของประเทศ 50 รายแรก รวยขึ้น 2 ล้านล้านบาท แต่ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์เช่นเดียวกัน ก็ทำให้หนี้ครัวเรือนของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.6 ล้านล้านบาท เท่ากับประชาชนรายได้ลด แต่หนี้เพิ่มไม่หยุด

 

"ถ้าความร่ำรวยของเจ้าสัวเหล่านี้ เกิดขึ้นจากความสามารถเก่งกาจจะไม่ว่าอะไรสักคำเลย แต่ความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจากการผูกขาด โดยการเอื้อประโยชน์ของรัฐนั้น เท่ากับว่าเงินที่หายไปจากกระเป๋าประชาชนได้ถูกถ่ายเทไปเป็นความร่ำรวยของนายทุน แถมตลอดการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีแนวโน้มเอื้อทุนใหญ่มาโดยตลอด" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างการเอื้อกลุ่มทุนใหญ่-ทุนผูกขาด ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่...

 

-ยืดหนี้ให้กลุ่มทุนโทรคมนาคมจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 10 ปี จนรัฐเสียหาย เอกชนฟันผลประโยชน์ไป 2 หมื่นล้านบาท

 

-อุ้มเอกชนที่ผูกขาด Duty Free โดยแก้สัญญาสัมปทานแบบด่วนทันใจก่อนช่วยประชาชน ทั้งลดค่าสัมปทานและยืดอายุ จนรัฐเสียผลประโยชน์หลายพันล้านบาท

 

-อ้างโควิดเช่นกัน ในการยอมให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน PPP รถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน ยอมให้ผ่อนจ่ายค่าสิทธิ์บริหารจัดการ Airport Rail Link แบบดอกเบี้ยแสนถูก ให้รัฐบาลสมทบทุนเร็วขึ้นเพื่อช่วยออกค่าก่อสร้างแทนที่จะไปออกเงินตอนก่อสร้างเสร็จแล้ว

 

-รัฐบาลยังปล่อยให้มีการควบรวมห้างค้าปลีก-ร้านสะดวกซื้อ ทำให้เพิ่มการผูกขาดในตลาดมากขึ้น ทำให้ประชาชนหมดทางเลือก

 

-กรณีล่าสุด ควบรวมทรู-ดีแทค จะผูกขาดขั้นสุด ประชาชนต้องแบกรับค่าบริการ กระทบค่าครองชีพให้มากขึ้นไปอีก แต่ก็ยังมีรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ออกมาพูดจาสนับสนุนการควบรวมครั้งนี้ว่าเป็นสิทธิ์ของเอกชน

 

-ล่าสุดของล่าสุด การขออนุญาตควบรวมกิจการอินเตอร์เน็ต AIS-3BB

 

อย่างไรก็ตาม จึงตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วรัฐบาลชุดนี้ คิดว่ามีปัญหาการผูกขาดในเศรษฐกิจหรือไม่
แล้วรัฐบาลนี้มีนโยบายป้องกันการผูกขาดและส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมบ้างหรือไม่ ถ้ามี คืออะไร เป็นอย่างไรบ้าง แล้วคิดว่าทำดีพอแล้วหรือยัง เป็นธรรมต่อ SMEs และประชาชนผู้บริโภคที่ควรจะเป็นรากฐานสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้แล้วหรือยัง

"เดิมค่าบริการโทรศัพท์มือถือของคนไทยก็สูงอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีหน่วยงานกำกับดูแลอยู่ก็ตาม ตัวเลขจาก Internation Telecommunication Union (ITU) เปิดเผยว่าสำหรับแพคเกจใช้น้อย อยู่อันดับที่ 111 ส่วนแพคเกจใช้มาก อยู่อันดับที่ 87 จาก 182 ประเทศ ถ้าหากการควบรวมครั้งนี้สำเร็จก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก เมื่อดูเฉพาะอินเตอร์เน็ต ถ้าเราอยากส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริง ค่าบริหารก็จะต้องไม่แพง เพื่อส่งเสริมทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่ปรากฏว่าเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ คนไทยต้องทำงาน 2 วัน เพื่อจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทำงาน 1 วัน หรือน้อยกว่านั้น" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

 

สำหรับผลการศึกษาการควบรวมครั้งนี้ออกมาแล้วจาก 5 หน่วยงาน ทั้งจากหน่วยงานที่ทรู-ดีแทค จ้างศึกษา มีทั้งสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา รวมถึงคณะอนุกรรมการของ กสทช. เอง ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ขั้นต่ำ คือ 10% แต่ถ้าการควบรวมนี้มีการฮั้วกัน ก็จะทำให้ค่าบริการยิ่งแพงขึ้นไปอีก โดยคณะอนุกรรมการของ กสทช. เองศึกษาแล้วพบว่าค่าบริการจะพุ่งสูงขึ้นถึง 49-200% หมายความว่าถ้าทุกวันนี้ (11ส.ค.) จ่ายค่ามือถือและอินเตอร์เน็ตอยู่ 100 บาท อาจจะต้องจ่าย 150-300 บาท แบบนี้กระทบค่าครองชีพประชาชนอย่างเต็มที่ ซ้ำเติมเงินเฟ้อที่ยังขึ้นไม่หยุดด้วย แล้วประชาชนและธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้จะพัฒนากันต่อได้อย่างไร

 

ขณะเดียวกัน ทราบดีว่าเป็นหน้าที่กำกับดูแลโดย กสทช. แต่ในฐานะรัฐบาล ได้ศึกษาประเมินบ้างหรือไม่ว่ามูลค่าความเสียหายของเศรษฐกิจดิจิทัลจะอยู่ที่กี่พันล้านบาท งานของประชาชนคนไทยจะหายไปกี่ตำแหน่ง และถ้าผลกระทบมากขนาดนี้ คิดว่ากฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ ที่มีอยู่นั้นพอหรือไม่ที่เยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

"เรายังไม่มีความเชื่อใจ มั่นใจ ว่า กสทช. จะกำกับราคาได้เลย วันนี้เราหวังว่าให้ควบรวมไปก่อนแล้วค่อยไปกำกับดูแลราคาทีหลัง มันไม่ได้ เมื่อมีการดีลใหญ่เกิดขึ้นแบบนี้ รัฐบาลทั่วโลก ก็จะมีบทบาทนำมาโดยตลอด เช่น การควบรวมบริษัทโทรคมนาคมที่แคนาดา ก็เป็นรัฐบาลเองที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้มีการควบรวมในครั้งนั้น แม้สุดท้ายบริษัทจะยอมคลายคลื่น และยอมผ่านดีลในที่สุด และมีอีกหลายกรณีที่ดีลไม่ผ่านเลย เช่น กรณีของ AT&T และ T-mobile ของสหรัฐฯ เพราะหน่วยงานกำกับดูแลเข้มแข็งมาก" 

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในหลายครั้ง ต้องเป็นบทบาทและนโยบายของทางรัฐบาลในการเจรจาดึงดูดนักลงทุน แก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่างๆ เพื่อทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้น นี่คือนโยบายจากทางรัฐบาลทั้งสิ้น และทุกประเทศก็ทำกัน เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นตัวกลางและใส่เงินในการเจรจาควบรวมบริษัทผลิตชิปภายในประเทศเมื่อเกิดวิกฤติ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการผูกขาดในประเทศ แต่เพื่อความแข็งแกร่งของบริษัทที่จะไปแข่งในตลาดโลก

 

ขณะเดียวกัน ส่วนตัวเรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีบทบาทนำในประเด็นนี้มากขึ้น ทางเลือกที่เหลืออยู่ หากจำเป็นจะต้องหานักลงทุนรายใหม่เข้ามาแทนดีแทค ที่จะถอนหรือลดการลงทุนจากภูมิภาคนี้ ก็มีอยู่ไม่กี่ทางเลือก คือ

 

1.ให้รัฐวิสาหกิจมาเทคโอเวอร์ เช่น NT (แต่ไม่สนับสนุนแนวทางนี้)

 

2.ดึงดูดนักลงทุนจากในประเทศรายใหม่ ก็เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรงว่าจะเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคมหรือไม่ แต่คำถามสำคัญ คือ รัฐบาลได้ใช้อำนาจ ใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และนำพาประเทศพ้นวิกฤตครั้งนี้

 

"ท่านจะตอบกับประชาชนอย่างไร เมื่อพวกเขามองว่าท่านไม่พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันการควบรวมผูกขาดครั้งนี้ และเขาตั้งข้อสงสัยว่า ท่านไม่ทำอะไรเลย จากการดีลควบรวมในครั้งนี้ เพราะท่านได้ประโยชน์ดีลผูกขาดนี้เช่นกัน" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

 

ด้าน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้มีการแข่งขันอย่างเสรีอยู่แล้ว และไม่เชื่อว่าเอกชนสองรายจะฮั้วกัน รวมทั้งรัฐบาลไม่มีอำนาจในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกำกับดูแลกรณีควบรวมทรู-ดีแทค เพราะเป็นอำนาจของ กสทช. แต่นโยบายของรัฐบาล คือ ให้มีการแข่งขัน ไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร

logoline