svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

โรงงานแปรรูปยางใช้ 'เศษขี้เลื่อย' ต่อยอดฟาร์มเห็ด

08 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา นำเศษขี้เลื่อยเหลือทิ้งจำนวนมาก มาเพิ่มมูลค่าและต่อยอดทางธุรกิจใหม่ เป็นก้อนเห็ด ก่อนพัฒนามาเป็นฟาร์มเห็ดครบวงจร

โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา นำเศษขี้เลื่อยเหลือทิ้งจำนวนมาก มาเพิ่มมูลค่าและต่อยอดทางธุรกิจใหม่ เป็นก้อนเห็ด ก่อนพัฒนามาเป็นฟาร์มเห็ดครบวงจร จำหน่ายทั้งก้อนเห็ด และแปรรูปเห็ดที่ได้จากฟาร์มจำหน่าย และยังรับซื้อผลผลิตเห็ดจากเกษตรกรด้วย เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้จากการที่ตลาดรองรับแน่นอน ทั้งนี้ เห็ดทุกชนิดเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้สินค้ามีไม่เพียงพอ จึงเร่งสร้างเครือข่ายด้วยการส่งเสริมเกษตรกรเพาะเห็ด

 

ที่โรงงานผลิตเห็ด Red House Farm ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลหนองช้างแล่น อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง โดยมี นายวิถี สุพิทักษ์ เจ้าของโรงงานในกลุ่มวู้ดเวอร์ค ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและส่งออกไม้ยางพารารายใหญ่ของ จ.ตรัง ได้เกิดไอเดียจากการที่โรงงานมีเศษขี้เลื่อยเหลือทิ้งจำนวนมาก จึงนำมาเพิ่มมูลค่าและต่อยอดทางธุรกิจใหม่เป็นการผลิตก้อนเห็ดจำหน่าย ก่อนพัฒนามาเป็นฟาร์มเห็ดครบวงจร ไม่เพียงแต่การผลิตก้อนเชื้อเห็ด หรือวัตถุดิบในการเพาะเห็ดจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังนำเห็ดที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งรับซื้อเห็ดคืนจากเกษตรกรที่ซื้อก้อนเห็ดไปเพาะอีกด้วย ทำให้เกษตรกรมีตลาดรองรับ นอกจากนั้นยังผลิตผักปลอดภัย และสินค้าเกษตรอื่น ๆ รวมไปถึงการจัดแสดงศูนย์การเรียนรู้ แปลงสาธิต นิทรรศการ พร้อมจำหน่ายสินค้าเกษตร และยังเปิดร้านอาหารเพื่อนำเห็ดและผักภายในฟาร์มมาปรุงและรับรองลูกค้าอีกด้วย

นางสาวนวินดา คีรีเดช ผจก.โรงงาน บอกว่า ทางโรงงานเป็นทั้งแหล่งผลิตเห็ด และมีห้องแล็บเป็นของตนเอง โดยเห็ดที่ผลิต มีเห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดมิวกี้ เห็ดนางรมเทา และกำลังมีการต่อยอดเห็ดถั่งเช่าด้วย หรือหากลูกค้าสนใจเห็ดชนิดใด ทางโรงงานก็สามารถผลิตให้ได้ ซึ่งเห็ดที่ดูแลยากสุด จะเป็นเห็ดนางฟ้า เนื่องจากอ่อนแอง่าย หรือ Sensitive สูง ดังนั้น อุณหภูมิความชื้นอากาศต้องนิ่งอยู่เสมอ ทั้งนี้ ทางโรงงานจะจำหน่ายเห็ดในราคาต่าง ๆ เช่น เห็ดมิ้ลค์กี้ กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม กิโลกรัมละ 50-60 บาท นอกจากนั้นยังจำหน่ายก้อนเห็ด พร้อมกับสร้างเครือข่ายส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ หากเกษตรกรรายใดซื้อก้อนเห็ดไปเพาะ ทางโรงงานก็จะรับซื้อผลผลิตคืน เพื่อส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ที่ตลาดรองรับผลผลิตแน่นอน

 

สำหรับวิธีการทำก้อนเห็ด เริ่มจากนำขี้เลื่อยมาหมักเป็นก้อนเห็ด โดยใส่ส่วนผสมต่าง ๆ และทำอัดก้อน ก่อนใส่ฝา และเข้ากระบวนการนึ่งฆ่าเชื้อ เป็นเวลา 8 ชั่วโมง ด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 95 องศาเซลเซียสหลังจากนั้นจะมีการพักก้อน และนำมาหยอดเชื้อ โดยแบ่งตามแต่ละชนิดของเห็ด ก่อนนำเข้าห้องบ่มก้อน เป็นอันเสร็จพร้อมจำหน่าย ทั้งนี้ การดูแลเห็ดถือว่ามีขั้นตอนมากพอสมควรเลยทีเดียว เพราะต้องเก็บเส้นใยมาเลี้ยงในระยะเวลา 10-15 วัน เมื่อเส้นใยเจริญเติบโตจึงนำมาลงในหัวเชื้อ ต้องใช้ระยะเวลาบวกอีกประมาณ 10 วัน และเมื่อผลิตเป็นก้อนออกมาแล้ว ต้องบ่มก้อนอีกประมาณ 30 วัน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีก 45-60 วัน ถึงจะได้ก้อนเห็ดก้อน และนำไปเปิดดอกได้

ซึ่งแต่ละวันพนักงานทั้งหมด 15 คน จะเร่งผลิตอัดก้อน ใส่ถุง หยอดเชื้อ และทำการเปิดดอก โดยเฉพาะการผลิตเห็ดนางฟ้า จะได้ผลผลิตวันละ 200-300 กิโลกรัม ซึ่งขายหมดทุกวัน และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด นอกจากนั้น ยังมีการแปรรูปเห็ดที่ได้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากเห็ดด้วย เช่น เห็ดนางฟ้าทอดอบกรอบ ซึ่งจะมีทั้งรสชีส รสต้มยำ รสบาร์บีคิว ขณะเดียวกัน ก็ยังมีแหนมเห็ด แหนมเห็ดเจ และข้าวเกรียบเห็ด จำหน่ายปลีกราคาห่อละ 40 บาท ช่องทางการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ จะมีขายที่ Red house farm shop พร้อมนำไปวางขายตามร้านค้าทั่วไปที่เป็นตัวแทน หรือหากสนใจสามารถติดต่อมาได้ทางเพจ “Red house farm”

logoline