svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

“ท่านเปา” ชี้ช่องเดินเกมเร็วกระชาก “บิ๊กโจ๊ก” หยุดยื้อรับหมายเรียก

23 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็น “หมายเรียก” ที่พนักงานสอบสวนส่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” เป็นครั้งที่ 2 แล้ว แต่ยังไปไม่ถึงมือเจ้าตัว ในทางคดีเริ่มนับ 1 หรือยัง แหล่งข่าวในกระบวนการยุติธรรม ชี้ช่อง เดินเกมเร็วออกหมายจับ กระชาก“บิ๊กโจ๊ก”หยุดยื้อ

เรียกว่าฟาดฟันกันตั้งแต่ “ออกหมายเรียก” ยังไม่เข้าเนื้อคดี หรือข้อกล่าวหาเลยด้วยซ้ำ สะท้อนว่าการจะเล่นงาน “บิ๊กโจ๊ก” ไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ สมฉายา “แมวเก้าชีวิต”

ใช้ช่องโหว่กฎหมายยื้อเวลาออกหมายจับ 

แหล่งข่าวระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม ให้ความเห็นในเบื้องต้นว่า “บิ๊กโจ๊ก“ เป็นผู้รู้กฎหมาย จึงใช้ช่องโหว่ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง

กางขั้นตอนส่งหมายเรียก 

แหล่งข่าวอธิบายต่อว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

  • หมายเรียก ต้องส่งถึงตัวผู้ถูกเรียก 
  • กฎหมายกำหนดตัว “ผู้รับหมายแทนได้” คือ สามีหรือภรรยา  บุพการี คือพ่อแม่ ญาติ และผู้ปกครอง (เช่น กรณีเป็นผู้เยาว์) เท่านั้น ส่วนบุคคลอื่น เช่น ลูกน้อง แม่บ้าน หรือคนรับใช้ ไม่สามารถรับหมายแทนได้ 

หมายเรียกคดีอาญาที่ออกโดยตำรวจ หากไม่เจอตัว จะปิดหมายไว้ที่หน้าบ้านไม่ได้ ไม่เหมือนหมายในคดีแพ่ง จึงจะปิดไว้ที่หน้าบ้านได้ และจะถือว่าผู้รับหมายต้องรู้ว่ามีหมายแล้ว 

“ท่านเปา” ชี้ช่องเดินเกมเร็วกระชาก “บิ๊กโจ๊ก” หยุดยื้อรับหมายเรียก

  • ส่วนหมายเรียกคดีอาญา ต้องเป็น “หมายเรียกที่ออกโดยศาล” ให้มาแก้คดีในชั้นศาลเท่านั้น จึงจะปิดหมายที่หน้าบ้านได้ ส่วนหมายเรียกที่ออกโดยตำรวจ ต้องส่งถึงตัวเท่านั้น 

“ดังนั้นถือว่ากฎหมายมีช่องโหว่ “บิ๊กโจ๊ก” จึงใช้วิธี “ไม่อยู่บ้านเพื่อรับหมาย” ทั้งบ้านตามภูมิลำเนาในทะเบียนบ้าน และบ้านที่พักอาศัยอยู่จริงๆ โดยที่ตำรวจผู้ถือหมาย เมื่อไปถึงแล้วไม่เจอตัวที่บ้าน ก็ปิดหมายที่หน้าบ้านไม่ได้ แม้จะเป็นบ้านที่มีชื่อ “บิ๊กโจ๊ก” อยู่ในทะเบียนบ้านก็ตาม ”

และต่อมากฎหมายเปิดช่องให้ส่งหมายถึงตัวได้ คือไปส่งให้ที่ทำงานก็ได้ ไม่ต้องไปส่งที่บ้าน  “บิ๊กโจ๊ก” จึงลางานยาว

“ท่านเปา” ชี้ช่องเดินเกมเร็วกระชาก “บิ๊กโจ๊ก” หยุดยื้อรับหมายเรียก

หมายเรียกส่งไม่ถึงมือ “บิ๊กโจ๊ก” เท่ากับคดียังไม่เริ่ม?

ความน่าสนใจก็คือ เมื่อ “บิ๊กโจ๊ก” สวมวิญญาณ “ลอดช่องกฎหมาย” ทางออกของเรื่องจะเป็นอย่างไร แหล่งข่าวชั้นสูงในกระบวนการยุติธรรม อธิบายสรุปประเด็นได้ดังนี้

1.คดีกล่าวหา “บิ๊กโจ๊ก” คือ ฟอกเงินจากเว็บพนันออนไลน์ มีอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรง ศาลสามารถออกหมายจับได้เลย โดยไม่ต้องออกเป็นหมายเรียกก่อน แต่คดีนี้ ศาลมองว่า “บิ๊กโจ๊ก” เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายเรียกก่อน ถือเป็นการอนุโลม

2.ตามแนวปฏิบัติ ซึ่งไม่มีบัญญัติในกฎหมาย จะมีการส่งหมายเรียก 2 ครั้ง หากผู้ถูกเรียกมีพฤติการณ์ขัดหมายเรียก หรือจงใจไม่รับหมายเรียก พนักงานสอบสวนก็สามารถทำคำร้องต่อศาล บรรยายพฤติการณ์ เพื่อขอให้ศาลออกหมายจับได้ 

3.ปัญหาคือ หมายเรียกของ “บิ๊กโจ๊ก” มีผลหรือยังนับ 1 หรือยัง เพราะ

  • หมายเรียกยังไม่ถึงมือผู้รับ ทั้ง “บิ๊กโจ๊ก” และ “บุคคลที่กฎหมายกำหนดให้รับหมายเรียกแทนได้” คือ พ่อแม่ สามีหรือภรรยา และญาติ และเมื่อยังไม่มีการรับหมาย จะบอกว่าหมายมีผลแล้ว ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 เพื่อนำไปสู่การออกหมายจับได้อย่างไร 

ประเด็นนี้แหล่งข่าวยอมรับว่า ไม่เคยมีแนวคำพิพากษาในเรื่องแบบนี้มาก่อน และยังแสดงความเห็นส่วนตัวยังถือว่า “หมายเรียกยังไม่มีผล” 

“ท่านเปา” ชี้ช่องเดินเกมเร็วกระชาก “บิ๊กโจ๊ก” หยุดยื้อรับหมายเรียก

ชี้ช่องเดินเกมเร็ว ขอศาลออกหมายจับ

ให้พนักงานสอบสวนทำคำร้องบรรยายพฤติการณ์ของ “บิ๊กโจ๊ก” ว่ามีเจตนาไม่รับหมายเรียก ทั้งลางาน ลายาว ไม่อยู่บ้าน ไม่ไปทำงาน และไปต่างประเทศ

แต่ “บิ๊กโจ๊ก” ย่อมต้องทราบแล้วว่า โดนออกหมายเรียก เพราะปรากฏเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ และมีนักข่าวถาม “บิ๊กโจ๊ก” ตรงๆ หลายครั้ง ซึ่งเจ้าตัวก็ตอบคำถามนี้ด้วย แปลว่าต้องทราบแล้วว่าโดนออกหมายเรยีก

ที่สำคัญ “บิ๊กโจ๊ก” อาจจะลืมไปว่า คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี ศาลสามารถออกหมายจับได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียกก่อน ฉะนั้นพนักงานสอบสวนจึงสามารถไปบรรยายให้ศาลทราบข้อเท็จจริงตามนี้ โดยเฉพาะพฤติกรรมของ “บิ๊กโจ๊ก” และขอให้ศาลออกหมายจับเลย โดยไม่ต้องออกหมายเรียกก่อน และไม่ต้องรอครบ 2 ครั้งก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าศาลน่าจะออกหมายจับให้อย่างแน่นอน 

logoline