svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

'พิสิฐ' ยันแก้ กม.แบงก์ชาติ ไม่แทรกแซงการทำงาน

02 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 โดยให้เพิ่มเติมมาตรา 61/1 ที่ระบุว่าทุก 3 เดือนให้ ธปท.จัดทำรายงานเปิดเผยสภาพเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง เสนอต่อรัฐสภา

จากกรณี ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ เสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 โดยให้เพิ่มเติมมาตรา 61/1 ที่ระบุว่าทุก 3 เดือนให้ ธปท.จัดทำรายงานเปิดเผยสภาพเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งจัดทำแนวทางการดำเนินงานในอำนาจหน้าที่ของ ธปท เสนอต่อรัฐสภา เพื่อรายงานให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภาทราบ

 

ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ระบุ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบให้เสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ... ไปพิจารณา และจะนำมาเสนอในการประชุมสภาฯ ครั้งต่อไปวันที่ 4 ส.ค.นี้ ซึ่งต้องรอว่าผลจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ในส่วนของตนที่เป็นผู้เสนอแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนาที่จะให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ได้ใช้เวทีของสภาฯ ในการพูดกับประชาชน เพราะการนำเสนอข้อมูลในสภาจะเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะในระดับรากหญ้า ต่างจากการเข้าเว็บไซต์ของ ธปท. หรือฟังการแถลงข่าว ที่เข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก หากธปท. มารายงานในสภาฯ ที่มีตัวแทนประชาชนอยู่ทั่วประเทศที่จะเป็นผู้รับฟังและนำไปเผยแพร่ต่อได้ ขณะเดียวกัน ธปท.จะได้รับฟีดแบ็กจากประชาชนว่าเห็นอย่างไรต่องานที่ทำอยู่

ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรอิสระทุกแห่งมานำเสนออยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงธนาคารของรัฐ เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ เอ็กซิมแบงก์ ที่มารายงานในสภาฯ และสภาฯก็จะมีฟีดแบ็กกลับไป

 

ยืนยันว่าการให้ ธปท. มารายงานดังกล่าว ไม่ได้ถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. แต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ปกติที่ธนาคารกลางสำคัญในโลกได้ทำ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นธนาคารกลางที่เป็นอิสระ แต่ก็ยังมีหน้าที่ต้องมาชี้แจงต่อรัฐสภา ดังนั้น การที่ ธปท. เข้ามาให้ข้อมูลกับสภาฯ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน เพื่อที่ ธปท.จะนำข้อมูลที่ได้รับกลับไปทำงานต่อไปได้ นอกจากนี้ การทำงานของ ธปท. และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ได้รับการรับรองในกฎหมายของธนาคารอยู่แล้วว่า จะมีความเป็นอิสระ และไม่มีโอกาสที่จะให้ฝ่ายใดเข้าไปแทรกแซง

 

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 กำหนดให้ ธปท.มีหน้าที่ในการการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ 4 เสาหลัก ได้แก่ 1.เสถียรภาพของการเงิน หรือการดูแลปัญหาเงินเฟ้อ 2.เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน 3.เสถียรภาพของระบบการชำระเงิน และ 4.เสถียรภาพของเศรษฐกิจกับต่างประเทศ ดังนั้น ธปท. จึงเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจ และเป็นศูนย์รวมของข้อมูลและความรู้ทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในวิกฤติโควิด ธปท. มีบทบาทในการช่วยเหลือเศรษฐกิจและประชาชน โดยการออกมาตรการต่างๆ

'พิสิฐ' ยันแก้ กม.แบงก์ชาติ ไม่แทรกแซงการทำงาน

เช่น การออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs ด้วยการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 5 แสนล้านบาท ,การตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้ 4 แสนล้านบาท ,การศึกษาติดตามปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 90% ต่อจีดีพี และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความทุกข์ยากเกี่ยวกับหนี้สินด้วยการตั้งคลินิกแก้หนี้ เป็นต้น ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ให้มีความทันสมัย โดยขอให้ ธปท. มารายงานต่อรัฐสภาเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การเงิน และการดำเนินงานของ ธปท. เพื่อให้รัฐสภาได้รับทราบ และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการทำงานของ ธปท. เป็นประโยชน์ต่อการที่จะให้ประชาชนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการเงินและเศรษฐกิจ เพราะปัญหาของประเทศไทยคือการที่ประชาชนไม่ค่อยได้รับข้อมูลเท่าที่ควร

'พิสิฐ' ยันแก้ กม.แบงก์ชาติ ไม่แทรกแซงการทำงาน

logoline