svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ดราม่า สาวอยู่คอนโดโวย วัดสวดศพเสียงดังรบกวน ปะทะคารมชาวบ้านเดือด (มีคลิป)

19 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แชร์สนั่นคลิปดราม่า สาวลูกบ้านคอนโดหรู ร้องวัดดังย่านฝั่งธน สวดศพเสียงดังรบกวน - ทำงานไม่ได้ ก่อนปะทะคารมเดือดชาวบ้าน สุดท้ายมีหนังสือแจ้ง พศ. ให้ตรวจสอบ

กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโซเชียล กรณีมีผู้ใช้ Tik Tok รายหนึ่งโพสต์เรื่องราวการพิพาทระหว่างหญิงรายหนึ่ง ที่อาศัยในคอนโดใกล้เคียงวัดบางสะแกนอก ย่านตลาดพลู กับผู้คนภายในวัด เกี่ยวกับเรื่องเสียงดังรบกวนจากพระสวดศพ จนสร้างความเดือดร้อนทำงานไม่ได้ ก่อนที่จะมีชายคนหนึ่งพยายามอธิบาย ขอให้พระสวดงานศพครึ่ง ชม. พร้อมระบุวัดแห่งนี้อยู่มา 400 กว่าปี อยู่มาก่อนคอนโด ก่อนจะมีการโต้เถียงกัน

 

 

ดราม่า สาวอยู่คอนโดโวย วัดสวดศพเสียงดังรบกวน ปะทะคารมชาวบ้านเดือด (มีคลิป)

ล่าสุดช่วงเย็นวันนี้ (19 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่วัดบางสะแกนอก สอบถามข้อเท็จจริงตามคลิป โดยนายจรูญ พัฒนะ ผู้ที่ถ่ายคลิปดังกล่าว เล่าว่า เหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นช่วงหัวค่ำวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้หญิงเดินเข้ามาบอกว่า เสียงดังมาก หนวกหูเค้า ช่วงตอนนั้นมีการสวดศพ แต่เสียงที่มาโต้ตอบกันดังกว่าเสียงสวดอีก มาบอกว่าให้ลดเสียงลง ตนก็ไม่เข้าใจว่าดังแบบไหน เสียงก็คือเสียงพระสวดตามปกติทั่วไป

 

ทางวัดจะมีการสวดศพ 2 เวลา 6 โมงกับ 6 โมงครึ่ง ถ้าแขกยังมาไม่พร้อม แต่ส่วนมากจะสวดเวลาเดียว แต่ละวันก็ใช้เวลาสวดแค่จบเดียวเพื่อให้กระชับจะได้ไม่รบกวนคนอื่น ใช้เวลาก็จะไม่เกินชั่วโมงนึง ให้จบเลย ทางวัดก็ปรับเปลี่ยนกิจกรรม ไม่ให้ใช้เสียง อย่างมีงานบวชก็งดใช้เครื่องเสียง เครื่องดนตรี เจ้าภาพจ้างสิงโตมาก็ห้าม เล่นเสียงไม่ได้ 
 

 

นายจรูญ พัฒนะ ผู้ที่ถ่ายคลิป

วัดบางสะแกนอก ย่านตลาดพลู

ขณะที่ผู้หญิงในคลิป (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) บอกว่า วันดังกล่าวตนเรียนออนไลน์อยู่ ต้องใช้สมาธิและต้องตอบอาจารย์ด้วย แล้วเสียงสวดศพ ของลำโพงเข้ามาในห้อง ดังมาก ซึ่งตนก็เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่มีสมาธิเรียน ตนจึงตัดสินใจเดินเข้าไปขอให้หันลำโพงไปทางอื่นได้มั้ย แต่ทางวัดก็ไม่สามารถทำอะไรได้ และนำพาไปยังพูดคุยเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

 

แล้วหลังจากนั้นก็มีคนที่พูดจาดีหน่อยเข้ามาพูดกับเราว่า ได้ทำเรื่องให้แล้ว เราก็โอเคยังยกมือไหว้ขอบคุณเค้าเลยที่เข้าใจ แล้วเราก็หันหลังจะเดินกลับ ก็มีเสียงโห่ไล่หลังเราไป ก็คือคนที่บอกว่าเป็นผู้ดูแลวัดคุยตั้งแต่แรก ๆ ซึ่งเราก็ยืนยันว่า เราไม่ได้มีเจตนาแล้ว เราก็ไม่ได้เป็นคนส่งหนังสือไปที่สำนักพุทธฯ  แล้วตอนนี้ข่าวออกไปเยอะมากกลายเป็นว่าโดนตำหนิ ซึ่งตนไม่ได้เป็นคนทำเลย ตื่นมาตอนเช้าเห็นข่าว แล้วมันเป็นคลิปวันที่ 19 เม.ย. แล้วทำไมถึงมาเกิดเรื่องแบบนี้ ทำไมต้องทำกันขนาดนี้เลยหรอ

 

ความรู้สึกตอนนี้คือพูดตรง ๆ คือร้องไห้ไปหลายรอบแล้ว อยากฝากบอกคนที่ลงคลิปว่า เราไม่ได้ทำ ไม่ได้เป็นคนส่งหนังสือไปยังสำนักพุทธ แต่คนในคลิปเป็นเราจริง แล้วเราไม่ได้มีเจตนา เราเคารพในพระพุทธศาสนา อย่าไปตี ตรา ใครโดยที่ไม่ได้ฟังความอีกข้างนึงทำให้เสียหายไปหมดเลย

 

 

หญิงสาวคนที่ปรากฎในคลิป

 

 

ด้าน นายประพันธ์ ฉากทองคำ ประธานกลุ่มรักบางสะแก เล่าว่า เหตุการณ์เริ่มแรกที่ผู้ร้อง น่าจะเป็นวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ตอนนั้นทางวัดมีงานศพ แล้วกำลังจะกรวดน้ำ ก็มีผู้หญิงเดินลงมาจากคอนโดมา บอกว่า เค้าอยู่ที่คอนโด ทางวัดเสียงดังรบกวนเค้า ทำงานไม่ได้ เสียงสวดเข้าไปในสมองเค้า ทางวัดก็บอกว่า อีกครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้ว เค้าก็บอกว่า ทำไมมีงานอะไรไม่มารายงานให้เค้ารู้ ทางวัดก็เป็นนิติบุคคล ทำไมต้องไปรายงานใครเวลามีงานอะไร ก็นึกว่าจบกันไปแล้ว ไม่มีอะไร

 

แล้วเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าคณะมาตรวจที่วัดว่า มีหนังสือร้องเรียนไปที่สำนักพุทธฯ ให้ตรวจสอบเรื่องใช้เสียงรบกวน เป็นหนังสือมาให้ทางวัดชี้แจ้ง ตนก็ดูในหนังสือร้องเรียนเป็นช่วงโควิด-19 ระบาด ช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. 64 ซึ่งตอนนั้นคอนโดยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งขัดแย้งกับตอนที่เค้าลงมาร้องเรียน กรณีที่เกิดขึ้นตนรู้สึกหดหู่ เพราะการจัดงานประเพณีวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่โบราณ การแห่เทียน บวชลูกบวชหลาน ต้องมีขบวนแห่เข้ามา พอมามีหนังสือร้องเรียนมา พอถึงหน้าประตูต้องเดินมาแบบเงียบ ๆ เกิดมาตั้งแต่เล็กจนโตไม่เคยเจอ ตั้งแต่เกิดเรื่องตนได้เข้าไปพูดคุยกับนิติคอนโด แต่ตนก็ยังไม่เข้าใจผู้ร้อง

 

ในเมื่อคุณเข้ามาอยู่ใกล้ศาสนสถาน คุณต้องปรับตัว ต้องเข้าใจในกิจกรรมของทางวัด เหมือนคุณซื้อผ้าที่ต้องดูที่เนื้อผ้า คุณซื้อคอนโดราคาเป็นคุณต้องรู้ด้วยว่า อยู่ใกล้วัด แล้วทางวัดเค้าก็มีกิจกรรมของทางวัด มีงานสวด มีงานบวช ต้องใช้เสียง อยากให้มีไรมาคุยกัน มีไรเอื้อกันไปเอื้อกันมา ไม่ใช่ไปร้องที่สำนักพุทธ

 

 

นายประพันธ์ ฉากทองคำ ประธานกลุ่มรักบางสะแก

หนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

 

ชมคลิป

logoline