svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โหวตล้มรัฐบาลไม่ได้-แต่ยังมี"ปชต.หน้าบาง"

19 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการมองศึกซักฟอกล้มรัฐบาลยาก "ประชาธิปไตย"เป็นระบอบการปกครองคนหน้าบาง มารยาท-สปริตการเมือง แค่เส้นบางๆขั้น

แม้อาจารย์ "วิษณุ เครืองาม" ทนายความหน้าหอประจำรัฐบาล จะออกมาบอกว่ารัฐมนตรีที่ได้คะแนนโหวตไม่ไว้วางใจ 239 เสียงขึ้นไป ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ก็ยังตั้งกลับมาได้ในตำแหน่งอื่น และหากคะแนนไม่ไว้วางใจไม่ถึง 239 แต่คะแนนไว้วางใจน้อย หรืองดออกเสียงเยอะมาก ก็ไม่จำเป็นต้องลาออก หรือแสดงมารยาท เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมี ผ่านไป 7 วันคนก็ลืมนั้น

 

ประเด็นนี้ "จารุพล เรืองสุวรรณ" ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์การสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคเพื่อชาติ และอดีตนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายแยกแยะเอาไว้ว่า 

 

-ถ้าเสียงโหวตรัฐมนตรีแพ้จริง ตามมารยาทรัฐบาลก็ต้องลาออก เพราะถือว่าไม่สามารถคุมเสียงข้างมากได้ หลักประชาธิปไตยว่าด้วยเสียงข้างมาก ส.ส.1 คน แบกเงาประชาชนไว้หลายคน ไม่ใช่แค่คนในสภาไม่ไว้วางใจเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนที่ไม่วางใจรัฐบาลด้วย  

 

-ส่วนกรณีที่รัฐบาลยังได้รับคะแนนโหวตไว้วางใจ แต่เสียงปริ่มน้ำ ย่อมไม่ถือว่าแพ้ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องลาออก แต่บางกรณี บางสถานกาณ์ รัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่ได้คะแนนปริ่มน้ำเอง ก็ชิงลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถเลือกทำได้ 

ขณะที่ อ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบ่งเป็น 2 ส่วน

 

1.เรื่องสปริตทางการเมือง 

 

2.เรื่องกฎหมาย 

 

ทั้งนี้ ถ้าตามกฎหมาย หากได้รับคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ ไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็อยู่ต่อได้ แต่ในทางการเมือง มีเรื่องความชอบธรรม เรื่องมารยาทที่ไม่อาจตัดสินได้ด้วยคำว่าถูกหรือผิด แต่ต้องได้รับการยอมรับทางสังคม ซึ่งในกรณีที่แม้จะได้รับคะแนนไว้วางใจผ่านกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าตอนลุกขึ้นชี้แจง กลับตอบไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถทำให้สิ่งที่ฝ่ายค้านกล่าวหากระจ่างขึ้นได้ มีคะแนนน้อยกว่ารัฐมนตรีคนอื่นที่ถูกซักฟอก  ตามมารยาทแล้วต้องพิจารณาตัวเอง แสดงสปิริตรับผิดชอบด้วยการลาออก 

สรุปง่ายๆ จากทัศนะของนักรัฐศาสตร์ทั้ง 2 คน คือ ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองของ "คนหน้าบาง" และ "คนมีจิตสำนึก" เพราะการจะถูกคว่ำกลางสภาเป็นเรื่องยาก เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมาก และผูกกันด้วยผลประโยชน์ แต่จะสังเกตจากประชาธิปไตยของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ แม้นายกฯจะผ่านศึกไม่ไว้วางใจมาได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ต้องรอดูว่าเมืองไทยของจะเป็นแบบไหน-อย่างไร ลงเอยอย่างไร

logoline