svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ตรวจคนเข้าเมืองมาเลย์ทำอินโดฯ ตาย 149

28 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่ม NGO ในอินโดนีเซีย ประณามสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย ว่าอยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของชาวอินโดนีเซีย 149 คน ที่ลักลอบเข้าเมือง และได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีในระหว่างถูกควบคุมตัว ขณะที่ UN แสดงความวิตกต่อความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาขณะถูกคุมขัง โดยเฉพาะเด็ก ๆ

กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน "โคลิซี บูรูห์ มิแกรน เบอร์เดาลัท" (Koalisi Buruh Migran Berdaulat) ในอินโดนีเซีย ได้กล่าวหาสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียว่า ทำให้ชาวอินโดนีเซีย 149 คน ที่ลักลอบเข้าไปในมาเลเซีย เสียชีวิตขณะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายและไร้มนุษยธรรม ขณะถูกคุมขังเพื่อรอการเนรเทศในระยะเวลากว่า 18 เดือนที่ผ่านมา โดยรายงานที่มีชื่อว่า "Like in Hell" ระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลศูนย์กักตัวในรัฐซาบาห์ บนเกาะบอเนียวของมาเลเซีย ละเลยไม่ใส่ใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังจำนวน 260 คน รวมทั้งเด็ก ๆ ที่ต้องแออัดยัดเยียดอยู่กับผู้ใหญ่ในห้องขังที่ไม่มีหน้าต่าง ขนาดเท่าสนามแบดมินตันและมีโถชักโครกเพียง 3 โถ 

 

รายงานยังพูดถึงชายที่ถูกระบุชื่อว่า "นาธาน" วัย 40 ปลาย ๆ ที่เป็นดาวน์ซินโดรม และถูกปล่อยให้เสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการรักษาขั้นพื้นฐานขณะป่วย โดยให้กินแค่ยาพาราเซตามอล อีกทั้งอาหารการกินก็อยู่ในขั้นแย่ ทำให้ในช่วงระหว่างปี 2564 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 มีชาวอินโดนีเซีย 149 คน เสียชีวิตขณะถูกคุมขังที่ศูนย์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในรัฐซาบาห์ 

 

ตรวจคนเข้าเมืองมาเลย์ทำอินโดฯ ตาย 149

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความวิตกของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่ห่วงใยความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ชาวโรฮิงญา ที่ลี้ภัยมาจากเมียนมา อาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และ ความรุนแรงจากเหตุการณ์ที่ผู้อพยพชาวโรฮิงญา พยายามหลบหนีออกจากศูนย์กักกันชั่วคราว "ซันไก บาคัป" ในรัฐเคดาห์ เพื่อรอการเนรเทศเมื่อเดือนเมษายน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 2 คน ซึ่งผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมดอยู่ในกลุ่มชาวโรฮิงญา 137 คน จาก 528 คน ที่พยายามหนีขึ้นไปบนทางด่วนจนถูกรถชนเสียชีวิต

 

ตรวจคนเข้าเมืองมาเลย์ทำอินโดฯ ตาย 149

 

ที่ผ่านมาชาวฮิงญานับแสน ๆ คน พากันอพยพหนีการกดขี่ข่มเหงในเมียนมาบ้านเกิดของพวกเขา หวังไปตายเอาดาบหน้ายังมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย กับอีกหลายประเทศ แต่ มาเลเซียไม่เคยยอมรับสถานะผู้ลี้ภัยของพวกเขา และมักล้อมจับตามที่พักอาศัยก่อนนำไปรวมไว้ที่ศูนย์กักกันเพื่อรอเนรเทศออกไป และแม้จะเดินทางมาจากคนละประเทศ แต่ชะตากรรมของผู้อพยพผิดกฎหมายทั้งชาวโรฮิงญาและชาวอินโดนีเซีย ไม่ได้แตกต่างกันเมื่อถูกส่งตัวเข้าไปในศูนย์กักกัน พวกเขาต้องอาศัยอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ถูกล่วงละเมิดทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

ตรวจคนเข้าเมืองมาเลย์ทำอินโดฯ ตาย 149

 

พวกที่หวังจะได้รับความช่วยเหลือจาก UNHCR เพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่าในประเทศที่ 3 มักจะฝันสลาย หลายคนถ้าไม่ถูกล่อลวง-เอาเปรียบด้านแรงงาน ที่ต้องทำงานวันละ 16 ชั่วโมง โดยไม่ได้ค่าโอที ก็จะถูกล่วงละเมิดทางเพศจากเพื่อนร่วมงานด้วยกัน แต่บางคนโชคร้ายเจอทั้งสองอย่าง พวกเขาไม่สามารถร้องเรียน ไม่สามารถเอาลูกเข้าโรงเรียนได้เพราะอยู่ในสถานะที่ผิดกฎหมาย และถ้าถูกจับได้ก็จะต้องถูกส่งไปยังสถานที่ที่เลวร้ายไม่ต่างกัน ซึ่งก็คือศูนย์กักกันเพื่อรอการเนรเทศนั่นเอง 

logoline