svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ชูวิทย์" โพสต์ "อิทธิฤทธิ์พรรคเล็ก" เรื่องน่าปวดหัวของรัฐบาลบิ๊กตู่

08 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชูวิทย์" โพสต์ "อิทธิฤทธิ์พรรคเล็ก" เรื่องน่าปวดหัวของรัฐบาลบิ๊กตู่ หากคุมไม่ดีมีโอกาสล้มรัฐบาลได้ ยิ่งใกล้หมดเวลายิ่งต้องจ่ายไม่อั้น

ช่วงนี้สถานการณ์การเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังคงต้องจับตา เพราะอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้เกมการเมืองในสภาฯ จะกลับมาอีกหลัง โดยคาดว่า หลังการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญประจำปี วันที่ 22 พ.ค. 65 ฝ่ายค้านจะเดินเกมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง รมต. ที่มีแผลทันที และทุกครั้งมีการยื่นอภิปรายฯ ก็จะมีเรื่องของเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะจากพรรคเล็กทุกครั้ง 

 

โดยวันนี้ (8 พ.ค.) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า 

 

อิทธิฤทธิ์พรรคเล็ก 

 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้สนับสนุนให้เกิดพรรคเล็กขึ้นมามากมาย บางพรรคมีคนเดียว บางพรรคมี 3 - 4 คน ถึงแม้จะเป็นพรรคการเมือง แต่การบริหารจัดการตกอยู่กับคนที่เป็น ส.ส. ในสภาเท่านั้น คุณค่าของพรรคเล็กขึ้นอยู่กับ “คะแนนของรัฐบาล” ว่า หากมีเสียงมากเกินครึ่ง จะต้องไปพึ่งเสียงนกเสียงกา เล็ก ๆ น้อย ๆ ทำไม? เพราะไม่มีผลสั่นสะเทือนใด ๆ ต่อสถานะรัฐบาล
 

 

โพสต์ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง

ในยุคสมัยก่อน คะแนนของ ส.ส. ซีกรัฐบาลมีเสียงเกินครึ่งไปมาก พรรคเล็กจึงไม่มีความหมาย แต่เมื่อคะแนนฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านไม่ได้ห่างกันมากในยุคนี้ พรรคเล็กพรรคจิ๋วจึงรวบรวมกำลัง ผนึกจับมือกัน ทำให้มีพลังต่อรองขึ้นมามากทันที

 

ความปวดเศียรเวียนเกล้ากับการบริหารจัดการพรรคเล็ก จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ1. ต่างคนต่างมา พรรคละ 1-4 คน ทุกคนจึงใหญ่หมด คุมกันไม่ได้ 2. ทิศทางการเมืองไม่แน่นอน อุดมการณ์ไม่มี แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากน้อย 3. ส.ส. แต่ละคนในพรรคเล็ก บางคนคิดว่าไหนๆ ก็ได้เป็น ส.ส. แค่สมัยเดียวแล้ว ต้องได้คุ้มก่อนจาก  4. การตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรค หรือนโยบายพรรค แต่ขึ้นอยู่กับความพอใจของตนเองเป็นหลัก ยิ่งเป็น ส.ส. สมัยแรกยิ่งหนัก 5. ไม่สนใจการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงไม่พะวงกับคะแนน จะทำอะไรก็ไม่แคร์สายตาประชาชน เพราะเป็น ส.ส. ครั้งนี้ครั้งเดียว

 

ทั้งผสมโรงจาก ส.ส. ที่ฟลุ๊คได้มาในบางพรรคใหญ่ แล้วแปรสภาพกลายเป็น “งูเห่า” ย้ายพรรคจนจำไม่ได้ หรือการโหวตสวนกับมติพรรคตลอด ชื่ออยู่พรรคหนึ่ง แต่ใจไปอยู่อีกพรรค เป็น “ชู้” กันให้เห็นไม่เกรงใจ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” หากคุมไม่ดี หรือพรรคเล็กทำท่าทีเข้าข้างฝ่ายค้าน มีโอกาสล้มรัฐบาลได้ รัฐบาลจึงต้องโอ๋สุด ๆ ได้โก่งราคากันสุดโต่ง ยิ่งใกล้หมดเวลา ยิ่งได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของพรรคเล็กชัดเจนขึ้น ใครว่าใกล้หมดเวลาไม่มีราคาให้ ผมกลับเห็นว่ายิ่งต้องจ่ายไม่อั้น เพราะมีผลถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่าจะมีโอกาสกลับมาหรือไม่ ? 

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
 

 

ส่วนพรรคใหญ่ที่ร่วมรัฐบาลคุมง่ายกว่ามาก ไม่กล้าหือ ไม่เหมือนพรรคเล็ก ที่ออกข่าวค่าตัวพุ่งกระฉูดไม่เว้นแต่ละวัน จึงเป็นเรื่องน่าปวดหัวของรัฐบาลที่ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนของพรรคเล็ก ที่ร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้าน กดดันปั่นราคาไปถึง 30 ล้าน เพราะเมื่อฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ ไม่สามารถ “ยุบสภา” หนีได้ มีแต่ต้องเอาใจพรรคเล็กต่อไป จนละครจบลาโรง ทำไปทำมา รัฐบาลไม่ได้กลัวพรรคฝ่ายค้านเพื่อไทยเสียเท่าไร เพราะข่าวลับว่ามีการเจรจาต๊าอ่วยกันถึงระดับบนที่ต่างประเทศ ถึงการร่วมมือกันจัดตั้ง รัฐบาล “แลนด์สไลด์”

 

ที่เป็นห่วงคือ “อิทธิฤทธิ์พรรคเล็ก” ที่ร้องเจี๊ยวจ๊าวไม่หยุดหย่อน ได้โน่นจะเอานี่ ได้นี่จะเอานั่น เหมือนลูกนกอ้าปากรอให้แม่นกมาป้อนอย่างเดียว นายกฯ ตู่ คะแนนนิยมตก ชาวบ้านเบื่อ เศรษฐกิจตกต่ำ ร้องยี้กันไปทั่ว ไหนๆ ก็ปลายยุคแล้ว  แค่กล้วยหวีเดียวไม่พอ ต้องเอามาทั้งป่าให้หายอยาก เพราะรถไฟบรรทุกกล้วยขบวนสุดท้ายแล้ว ไหนจะความแตกแยกของพรรคพลังประชารัฐ ฉะกัน แทงหลัง ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม  ยังมีพวกเตรียมการแตกตัว ทั้งตั้งสาขา พรรคตัวแทน พรรคสำรอง พรรคเผื่อยุบ ดูไม่จืด เหมือนแกงเปรอะเลอะเทอะไปหมด

 

ฝ่ายค้านทำอะไรรัฐบาลไม่สะดุ้งสะเทือน แต่เจอศึกในกันเอง คนในพรรคยืมมือพรรคเล็กปั่นราคาล้มนายกฯ ชูนายกฯ สำรอง ให้สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกการเมืองทำให้ราศีของนายกฯ สำรองคนใหม่ เห็นภาพว่า บารมีจับ เที่ยวหน้า เสียงขู่หลอก ๆ ว่า “แลนด์สไลด์” ตอกย้ำว่า รีบมาเจรจาจับมือกันวางแผนแต่เนิ่น ๆ เวรกรรมของรัฐบาลแท้ ๆ อุตส่าห์ได้รัฐธรรมนูญเข้าทางตัวเอง แต่ต้องมาแพ้ทางพรรคเล็ก พรรคประชาธิปัตย์พังเพราะนารี พรรครัฐบาลพังเพราะพรรคเล็ก พังเพราะเรื่องไม่ควรพัง ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่

 

 

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง

logoline