svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับจังหวะตีความ"นายกฯประยุทธ์"วาระครบ 8 ปี หวังขุดหลุม หยุดปฏิบัติหน้าที่?

03 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แผนหลายชั้นต้อน"นายกฯประยุทธ์"ตกหลุมพราง เมื่อฝ่ายค้านจับจับหวะเวลาที่เหมาะสมในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ในช่วงเดือนส.ค. คาดหวังสูงอยากเห็น ประยุทธ์ ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว มโนหรือเป็นไปได้

 

"ไม่ง่ายและเป็นไปด้วยความซับซ้อน"   

 

นั่นคือท่วงทำนองการอรรถาธิบายของวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อกระแสสื่อที่โหมกระหน่ำ "นายกฯสำรอง" 

 

นับเป็นประเด็นชวนคิดอยู่เหมือนกัน เหตุใดถึงออกมาพูดในช่วงนี้ ภายใต้ข้อพิจารณาต่อไปว่า เป็นไปได้ขนาดไหน 

 

1. เกิดจากเครือข่ายภาคประชาชนขาประจำ จัดเวทีเสวนา ด้วยเป้าหมายเรียกร้องที่ไม่ได้แตกต่างจากทุกครั้ง นั่นคือ "ไล่ลุงตู่ หานายกฯสำรอง"  หลังจากใช้วิธีกดดันนอกสภาไม่ได้ผลต้องเข้ามาสู่วงเสวนากางรธน. โน้มน้าวสังคมให้เห็นไปในทางเดียวว่า สามารถทำได้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เร่งเร้าอารมณ์คนการเมืองสร้างกระแสกดดัน ตามปฏิทินเดือนพฤษภาร้อนทางการเมืองเหมือนทุกๆปี 

 

2. ความเคลื่อนไหวของพรรคเล็กพรรคน้อย กับการขยับของผู้กองคนดัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย วอร์มอัพกันก่อนเปิดสภา ด้วยตอบสื่อมวลชน ถึงช่องทางตามรธน. มาตรา 272  สามารถ หานายกฯ สำรอง มาแทน "ลุงตู่" ได้ 

 

"ในความคิดเห็นของผม คงใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 สำหรับบุคคลที่จะเข้ามาแก้ไขในสถานการณ์นี้ได้"  รอ.ธรรมนัส กล่าว 

 

รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 คืออะไร  ต้องย้อนไปดูมาตรา 272 วรรค 1 ด้วย

 

272 วรรค 1 - ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ในระยะ 5 ปีแรกหลังมีสภาชุดแรกตาม รธน.นี้ 

 

272 วรรค 2 - ถ้าเลือกนายกฯจากบัญชีแคนดิเดตที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ ก็ให้ไปเลือกนายกฯคนนอก โดยขออนุมัติจากรัฐสภา เสียง 2 ใน 3 

 

พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาการนายกฯเบอร์หนึ่ง

 

แปลกหรือไม่ที่ "ผู้กองธรรมนัส" ไม่พูดถึง 272 วรรค 1 แต่ข้ามไป 272 วรรค 2 เลย  คำตอบก็คือ ไม่เอานายกฯในบัญชีแคนดิเดต แต่จะเอา "คนนอก" และ "คนนอก" นั้นคือ "บิ๊กป้อม" 

 

เสียงนี้สอดประสานทั้งในสภา คือ กลุ่มผู้กอง - พรรคเศรษฐกิจไทย และนอกสภา คือ สภาที่ 3 รวมทั้งกลุ่มสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ที่นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ + นิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา และ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ รวมอยู่ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้ก็เคยเสนอ "นายกฯคนนอก" มาแล้ว

 

 

แต่ช้าก่อน มือกฎหมายรัฐบาล วิษณุ เครืองาม ออกมาสยบเหตุการปั่นกระแส"นายกฯสำรอง"ไปโดยพลัน 

 

"หากศาลวินิจฉัยให้พ้นจริง จะต้องมีนายกรัฐมนตรีรักษาการซึ่งจะเป็นไปตามรายชื่อที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งลำดับที่ 1 คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองลงมาคือตนเอง  จากนั้นเป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา ที่ต้องจัดประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามบัญชีแนบท้ายของพรรคการเมือง ที่ประกอบไปด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล  นายชัยเกษม นิติสิริ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แม้ว่า บางคนจะลาออกจาพรรคไปแล้ว ก็ยังอยู่ในบัญชีรายชื่ออยู่"

 

"แต่สุดท้ายหากรัฐสภาไม่เอารายชื่อตามบัญชีข้างต้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเข้าชื่อเพื่อเสนอคนนอก ด้วยคะแนนเสียง 500 ต่อ 750 เสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนอย่างไรก็ตาม หากได้นายกคนใหม่แล้วจะสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึงแค่เดือนมีนาคม 2566 ตามวาระของสภาฯ" 

 

วิษณุ เครืองาม  แจกแจงถึงความยุ่งยากซับซ้อน ในการหานายกฯสำรอง เมื่อวันที่ 2 พ.ค.65 

 

วิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกฯเบอร์สอง

ถึงกระนั้น พิจารณาจากคำอธิบายข้างต้น มีประเด็นที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ยังไม่ได้พูด เพราะอาจจะยังไม่มีใครถาม

 

นั่นคือ ถ้ามีการยื่นตีความให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วฝ่ายที่ยื่น ก็ไปยื่นคำร้องช่วงใกล้ๆ จะครบกรอบเวลาที่ต้องตีความกฎหมาย คือเดือน ส.ค. (ครบวันที่ 23 ส.ค.65  หากนับการดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ 24 ส.ค.57 )

 

อาจมีการใช้เทคนิคยื่นศาลให้สั่ง พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เพราะหากปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แล้วเกิดศาลวินิจฉัยว่าดำรงตำแหน่งมาครบวาระแล้ว ช่วงเวลาที่นั่งนายกฯล้นไป ก็จะสร้างความเสียหายได้

 

 

 

เทคนิคนี้ ถ้าไปยื่นคำร้องตั้งแต่ไก่โห่ สมมติยื่นพรุ่งนี้เลย ศาลย่อมไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะยังไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าไปยื่นใกล้ๆ 23 ส.ค. อาจทำให้ศาลพิจารณาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนกัน 

 

เรื่องนี้เป็นข่าววงในที่มีการพูดคุยกัน ต้องรอลุ้นว่าจะเป็นอย่างไร แต่หากมีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จริง "นายกฯรักษาการ" ย่อมมาเร็วกว่าที่คาดหมายไว้มาก 

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

ที่สำคัญ การวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ​เมื่อเร็วๆ นี้ โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ยึดแนวทางการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องก่อนรัฐธรรมนูญปัจจุบันบังคับใช้ จนมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้ได้อานิสงส์เรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง ที่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับเขียนไว้ไม่เหมือนกัน

 

สรุปง่ายๆ คือได้วาระยาวที่สุดเท่าที่รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับกำหนด ปรากฏว่าตุลาการที่ได้อานิสงส์มี 4 คน ไม่ใช่แค่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น 

 

เรื่องนี้จะส่งผลต่อการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯด้วยหรือไม่ ต้องรอลุ้นกัน

logoline