svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ดูเตอร์เตไม่ไปประชุมสุดยอดอาเซียนที่สหรัฐฯ

29 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพกลางเดือนหน้า จะไม่มีประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์ เข้าร่วม โดยอ้างเหตุผลว่าตอนนั้นจะมีผู้นำคนใหม่ได้รับเลือกตั้งมาแทนที่เขาซึ่งจุดยืนอาจไม่ตรงกัน

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ประกาศว่าจะไม่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม โดยให้เหตุผลต่อชาวฟิลิปปินส์ในระหว่างการแถลงแห่งชาติว่า ถ้าเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการก็อาจมีข้อตกลงหรือข้อผูกมัดบางอย่างเกิดขึ้น และเขาอาจแสดงจุดยืนที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประธานาธิบดีคนใหม่ ที่จะมาจากการเลือกตั้งวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เขาบอกอีกว่าในเวลานั้น (ช่วงที่จัดการประชุมสุดยอด) การเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงแล้ว และเราก็จะรู้ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป เขาก็เลยแจ้งไปว่าจะไม่เป็นการดีถ้าเขาไปร่วมประชุมทั้งที่กำลังจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ 

 

นับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2559 ดูเตอร์เตไม่เคยไปเยือนสหรัฐฯ ขณะที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในยุคของเขาก็เสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัด เพราะสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์การทำสงครามต่อต้านยาเสพติดของเขาอย่างไม่เกรงใจ ส่วนวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ของเขา กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน และอาจเผชิญการถูกไต่สวนจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) กรณีนโยบายการทำสงครามต่อต้านยาเสพติด ที่ทำให้ชาวฟิลิปปินส์เสียชีวิตไปหลายพันคนด้วย 

 

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์

คาดว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่แฝงอยู่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดร่วมกับผู้นำอาเซียนของไบเดน ก็คือ "การหาพวก" ภายใต้ถ้อยคำที่สวยหรูว่า "กระชับความสัมพันธ์" เพื่อถ่วงดุลกับจีนที่ขยายขอบเขตทางทหารในทะเลจีนใต้ ที่มีข้อพิพาทกับหลายประเทศ ส่วนประเด็นอื่นๆ ได้แก่

- การฟื้นฟูหลังโควิด-19
- ความช่วยเหลือด้านวัคซีน
- ภาวะโลกร้อน
- การเชื่อมโยงสหรัฐฯ กับอาเซียน (US-ASEAN Connectivity )
- ความสัมพันธ์อินโด-แปซิฟิก
- ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม (people to people) 

 

ดูเตอร์เตไม่ไปประชุมสุดยอดอาเซียนที่สหรัฐฯ

ส่วนเรื่องการไม่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมของผู้นำฟิลิปปินส์ ที่เป็นหนึ่งในคู่พิพาทในทะเลจีนใต้ของจีน ก่อนอำลาตำแหน่งของดูเตอร์เต มีนัยสำคัญดังนี้ 

 

- ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดูเตอร์เตไม่เข้าร่วมประชุมอาเซียน

เมื่อปีที่แล้วดูเตอร์เตก็ไม่เข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน  รวมทั้งการประชุมสุดยอดฉุกเฉินที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย เพื่อหารือถึงวิกฤตหลังการรัฐประหารในเมียนมา โดยอ้างแรงกดดันจากความวิตกภายในประเทศจากการระบาดของโควิด-19 

 

- ปักหมุดไม่เป็นศัตรูกับจีน 

แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างในทะเลจีนใต้ แต่นโยบายต่างประเทศของดูเตอร์เตนั้นชัดเจนว่า "เข้าใกล้จีนและถอยห่างสหรัฐฯ" แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรทางทหารที่เหนียวแน่นที่สุดของสหรัฐฯ มายาวนานถึง 70 ปี ซึ่งพิสูจน์ได้จากการที่เขาไปเยือนจีนถึง 6 ครั้ง และ เรียกประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนว่า "เพื่อนสนิท" และฟิลิปปินส์ไม่มีทางทำสงครามกับจีน ทั้งยังอาศัยความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากจีนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่วนจีนก็ส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปให้ก่อนประเทศอื่นด้วย 

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน

 

- ถอยห่างสหรัฐฯ 

ความไม่พอใจที่สหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์แบบไม่ไว้หน้าเรื่องการทำสงครามยาเสพติด ยังส่งผลให้ดูเตอร์เตประกาศไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ - อาเซียน เมื่อปี 2563 (ก่อนถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเพราะการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก) เพื่อตอบโต้ที่สถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงมะนิลา ไม่ออกวีซ่าให้วุฒิสมาชิกโรนัลด์ เดลา โรซา อดีตผู้บัญชาการตำรวจ ที่ปฏิบัติตามนโยบายของเขาในการทำสงครามต่อต้านยาเสพติด เขายังขู่จะฉีกข้อตกลงการซ้อมรบร่วมกับทหารอเมริกันที่ฟิลิปปินส์ ก่อนเปลี่ยนจุดยืนหลังจากนั้น 

logoline