svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

WTO ชี้วิกฤตขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จ่อฉุดการค้าโลกร่วงหนัก

13 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างร้ายแรง นำไปสู่การปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของการค้าโลกในปี 2022 จากร้อยละ 4.7 เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน เหลืออยู่ที่ระหว่างร้อยละ 2.4-3

ตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดดังกล่าวจัดทำโดยองค์การการค้าโลก (WTO) และอ้างอิงแบบจำลองเศรษฐกิจโลก โดยวิกฤตความขัดแย้งอาจทำให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกลดลง 0.7-1.3 จุด เหลืออยู่ที่ระหว่างร้อยละ 3.1-3.7 ในปี 2022 ทั้งยังผลักดันราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น และกระทบต่อการส่งออกสินค้าจากทั้งรัสเซียและยูเครน


รัสเซียและยูเครนต่างเป็นประเทศส่งออกสินค้าจำเป็นแห่งสำคัญของโลก โดยเฉพาะอาหารและพลังงาน โดยทั้งสองประเทศส่งออกข้าวสาลีราวร้อยละ 25 ข้าวบาร์เลย์ร้อยละ 15 และดอกทานตะวันร้อยละ 45 สู่ทั่วโลกในปี 2019 อีกทั้งรัสเซียยังครองสัดส่วนร้อยละ 9.4 ของการค้าเชื้อเพลิงโลก รวมถึงส่งออกก๊าซธรรมชาติร้อยละ 20


รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกแร่แพลเลเดียมและโรเดียมแห่งสำคัญของโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยาสำหรับรถยนต์ ขณะการผลิตสารกึ่งตัวนำขึ้นอยู่กับนีออนที่จัดหาโดยยูเครน ดังนั้นการหยุดชะงักของการส่งออกวัสดุเหล่านี้อาจกระทบผู้ผลิตรถยนต์ในช่วงที่อุตสาหกรรมเพิ่งฟื้นตัวจากปัญหาขาดแคลนสารกึ่งตัวนำเมื่อไม่นานนี้

WTO ชี้วิกฤตขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จ่อฉุดการค้าโลกร่วงหนัก

ยุโรป ซึ่งเป็นจุดหมายส่งออกหลักของทั้งรัสเซียและยูเครน มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพราะการขนส่งธัญพืชและอาหารอื่นๆ ที่ลดลงจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น


ส่วนแอฟริกาและตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่เปราะบางที่สุด เนื่องจากทั้งสองภูมิภาคนำเข้าธัญพืชที่จำเป็นจากยูเครนและ/หรือรัสเซียมากกว่าร้อยละ 50 ขณะบางประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) กำลังเผชิญกับการขึ้นราคาข้าวสาลีที่อาจสูงถึงร้อยละ 50-85 อันเป็นผลมาจากปัญหาด้านการขนส่งธัญพืช


“วิกฤตการณ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มซ้ำเติมความไม่มั่นคงทางอาหารระหว่างประเทศในช่วงที่ราคาอาหารสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ก่อนแล้วจากการระบาดของโรคโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ” แถลงการณ์เตือน

logoline