svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

จับตาผู้ถือหุ้นทรู-ดีแทค ไฟเขียว 'ควบรวม' ธุรกิจ

04 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีการควบรวมระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่ว่าจับตาประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ทรู-ดีแทค วันนี้โหวตอนุมัติควบรวมธุรกิจ ก่อน กสทช. พิจารณา เงื่อนไขการควบรวมและมาตรการเยียวยาแล้วเสร็จ

ดีลนี้เริ่มเมื่อปลายปีที่แล้ว เดือนพ.ย. ทั้ง 2 บริษัทได้เซ็น MOU และแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าจะศึกษาความเป็นไปได้การควบรวม เปิดเผยว่าน่าจะทำ due diligence หรือตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางธุรกิจเสร็จสิ้นในไตรมาส 1 ปี 2565 จากนั้นในไตรมาส 2 จะสามารถลงนามในสัญญา หรือข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการทางตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงเข้าสู่กระบวนการทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) ต่อไป และน่าจะเสร็จภายในสิ้นปี 2565

แต่ดูเหมือนว่าดีลมูลค่าเกือบสามแสนล้านนี้น่าจะจบไวกว่าที่วางแผนไว้เสียอีก แบบที่ว่าที่บอร์ดชุดใหม่ที่สรรหาเสร็จตั้งแต่ ธ.ค. 64 ยังไม่ทันได้โปรดเกล้า

ผ่านไปได้ไม่ถึง 2 เดือน การทำ due diligence หรือการตรวจสอบสถานะธุรกิจของบริษัทที่มีสินทรัพย์รวมกัน 2.7 แสนล้านบาทก็เสร็จสิ้น และเดินหน้ายื่นเรื่องต่อเลขาธิการกสทช. เมื่อปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมา และได้แต่งตั้งบริษัทฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาอิสระมาทำรายงานความเห็น

สถานะ ณ ปัจจุบัน คือที่ปรึกษาอิสระได้จัดส่งรายงานความเห็นประกอบการแจ้งรวมธุรกิจเสร็จเรียบร้อย เดาได้ไม่ยากว่าความเห็นจะไปในทิศทางใด

ส่วนสำนักงานกสทช.ก็ได้มีการจ้างที่ปรึกษาด้วยเช่นกันจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้คู่ขนานก่อนส่งความเห็นให้บอร์ดพิจารณา

โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้ตั้งแต่แต่งตั้งที่ปรึกษา จนถึงการแจ้งผลการพิจารณาของบอร์ดกสทช. จะต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่แต่งตั้งที่ปรึกษา เท่ากับว่าไม่เกินเดือน พ.ค. 65 ก็จะได้ทราบว่าผลของดีลนี้จะเป็นอย่างไร

แม้ว่าผลจะออกมาเร็วอย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บริษัทก็จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 4 เม.ย.นี้ เพื่อขอมติผู้ถือหุ้นให้อนุมัติการควบรวม ก่อนหน้าที่ผลจะออกด้วยซ้ำ เป็นเรื่องน่าตั้งคำถามต่อไปว่าผู้ถือหุ้นจะลงมติอย่างถูกต้องได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่ทราบว่า กสทช. จะกำหนดเงื่อนไขอะไร จะมีมาตรการเฉพาะแบบไหน ต้องมีการขายกิจการบางส่วน หรือขายคืนคลื่นบางส่วนหรือไม่ จะกระทบกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างไร ไม่แน่ใจว่าทาง กลต. ได้คำนึงถึงประเด็นเหล่านี้บ้างหรือเปล่า ถึงได้ยอมให้จัดประชุม

ขอเท้าความสักนิดในเรื่องของอำนาจกสทช.ในการอนุมัติดีลนี้

จับตาผู้ถือหุ้นทรู-ดีแทค ไฟเขียว 'ควบรวม' ธุรกิจ

เนื่องจากอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นมีหลายฉบับ ทั้งพรบ.กสทช. พรบ.แข่งขันทางการค้า ประกาศกสทช.อีกหลายประกาศ จึงจำเป็นต้องอาศัยการตีความมากมายจากฝ่ายกฎหมายของสำนักงานกสทช.

เรื่องแรก ว่าหน่วยงานใดมีอำนาจกันแน่ระหว่างกสทช. กับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)

ทั้งสำนักงานกสทช.และสำนักงานแข่งขันทางการค้ายืนยันกับคณะกมธ.วิสามัญฯ ว่าเป็นอำนาจเต็มกสทช. เพราะเป็นเรื่องที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ตอนร่างพรบ.แข่งขันทางการค้า ว่าถ้ามีกฎหมายอื่นๆ กำกับเรื่องการแข่งขันให้ใช้กฎหมายนั้นรวมถึงธุรกิจโทรคมนาคม

แต่เรายังคาดหวังว่า กขค.จะเข้ามามีบทบาท หากกฎหมายของกสทช.ไม่สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแบบที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้

เรื่องที่สอง ว่าบอร์ดกสทช. มีอำนาจในการอนุมัติการควบรวมหรือไม่

จากคำชี้แจงของของสำนักงานกสทช. ปรากฏว่า กสทช. ไม่มีได้มีอำนาจในการอนุมัติอีกต่อไป เพราะตามประกาศ เรื่องการรวมธุรกิจปี 2561 ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนจากระบบอนุญาตไปเป็นระบบรายงาน โดยกสทช.เหลือเพียงอำนาจในการออกเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะในกรณีที่จะเกิดความเสียหายกับส่วนรวม

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสำนักงานฯตีความว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้เป็นการรวมธุรกิจคนละประเภท ระหว่าง บ. โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น (ถือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม) กับ บ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (ไม่ได้ถือใบอนุญาต) เพราะถ้าเป็นการรวมธุรกิจประเภทเดียวกัน จะไปเข้าเกณฑ์ของประกาศอีกฉบับ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด และยังคงต้องใช้วิธีขออนุญาต (ตามข้อ 9)

จะเห็นว่าการตีความกฎหมายที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่เคยตีความให้เป็นประโยชน์กับประชาชน หรือเพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชนเลย เมื่อเอกชนเห็นช่องว่างทางกฎหมาย ประกอบกับองค์การกำกับดูแลที่อ่อนปวกเปียก จึงเป็นหนทางไปสู่การเอารัดเอาเปรียบประชาชน ดิฉันยังยืนยันจะเดินหน้าคัดค้านการควบรวมนี้ให้ถึงที่สุด แม้ทางออกจะเริ่มตีบตัน และเวลาจะเหลือไม่มากแล้วก็ตาม

logoline