svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เปิดเหตุผล "ทรู-ดีแทค" แจงควบรวมกิจการ เพราะอะไร?

03 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดคำชี้แจง "ทรู-ดีแทค" ควบรวมกิจการ เพราะอะไร? เอไอเอส ว่าอย่างไร เมื่อทั้ง 2 บริษัทเป็นทองแผ่นเดียวกัน ทำไม กสทช. ถึงไม่เข้าไปดูแล หาคำตอบที่นี่

3 มีนาคม 2565 กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรู” กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ในลักษณะบริษัทร่วมลงทุน (Joint Venture) แม้การดำเนินการครั้งนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ หลังจากหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งข้อสังเกตสำหรับเหตุผลและความจำเป็น ที่สำคัญประชาชนจะได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการในครั้งนี้

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทค และการค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งมี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นประธาน ได้เชิญผู้บริหารทั้ง 2 ค่าย ให้มาชี้แจงเหตุผล รวมทั้งยังมีบริษัท แอดวานซ์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับดีลนี้ เข้าร่วมวงประชุมด้วย

น.อ.อนุดิษฐ์

น.อ.อนุดิษฐ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการสอบถามในหลายประเด็น แม้จะได้รับทราบเหตุผลความจำเป็นเบื้องต้นในการควบรวมกิจการแล้ว ทั้งแนวทางการควบรวมกิจการ ข้อกฎหมาย และผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่ยังมีบางเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน จึงขอให้ ทั้ง 2 บริษัท กลับไปจัดทำข้อชี้แจงมาให้คณะกรรมาธิการเพิ่มเติมอีก เพื่อจะได้นำข้อมูลไปศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวจากการประชุม ระบุว่า ได้มีการสอบถามตัวแทนของเอกชนจากค่ายมือถือไปว่า ถ้าไม่มีการให้ควบรวมกิจการแล้วจะเป็นอะไรไหม ซึ่งตัวแทนของ ทรู และดีแทค ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันถ้าไม่มีการควบรวมกันจะส่งผลต่อการทำธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาทางเอไอเอส ได้รุกการทำ 5G อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องควบรวมเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันเชิงธุรกิจให้ได้

โดยเฉพาะทางดีแทคเองในปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ให้บริการเอง ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กสทช. เกี่ยวกับเพดานที่กำหนดไว้ชัดเจน

 

ประกอบกับการมีแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเข้ามา เช่น เน็ตฟลิกซ์ ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น เพราะลูกค้าต้องใช้ข้อมูลเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเก็บค่าบริการเพิ่มเติมได้

 

ส่วนประเด็นคำถามที่คณะกรรมาธิการฯ ยังมีข้อสงสัย เช่น สาเหตุสำคัญจริง ๆ ของการควบรวมกิจการครั้งนี้มีอะไรเพิ่มเติมอีก เพราะแม้ว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัทจะได้ชี้แจงไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะกรณีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทางผู้บริการจะมีการให้บริการใหม่ ๆ อย่างไรบ้าง เพื่อให้การใช้เครือข่ายมากขึ้น แต่ไม่กระทบต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของต้นทุนการบริการ

 

นอกจากนี้การลดต้นทุนของผู้ประกอบการ จะกระทบต่อการให้บริการหรือไม่ และยังสามารถแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมต่อไปได้อย่างไรบ้าง

 

ขณะที่ เอไอเอส ให้ความเห็นว่า ภายหลังการควบรวมดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เป็นเรื่องยากที่จะมีบริษัทหน้าใหม่เข้ามาเป็นคู่แข่งขันในตลาดเพิ่มเติม

เกียรติ สิทธีอมร

ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ยังมีข้อกังวล และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดหาผู้เข้ามาทำการศึกษาการควบรวมกิจการ ตามกรอบกฎหมายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่จะต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน

 

โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งผู้ที่เข้ามาทำการศึกษาจะต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินการครั้งนี้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามกฎหมายของกสทช.เอง ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ไปทบทวนในกระบวนการที่ได้ทำจนถึงวันนี้ให้ดีก่อน

“ที่ผ่านมาได้ตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้มาก่อนมีการยื่นขอควบรวมกิจการ แต่พอระหว่างทางได้มีการยื่นขอควบรวมกิจการเกิดขึ้น จึงมีความหมายว่า ตามกฎหมาย กสทช.ต้องตั้งนักวิชาการอิสระขึ้นมาศึกษาผลกระทบ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตไปแล้วว่า นักวิชาการที่เอามานี้ต้องอิสระจริง ๆ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่ง ณ วันนี้มองว่า ยังไม่สบายใจในประเด็นนี้” รองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวและกล่าวต่อ

 

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เพราะที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า หลายหน่วยงานยังไม่สามารถทำอะไรกับกรณีนี้ได้ แต่ขณะนี้ได้หารือกันในรายละเอียดจนมั่นใจว่า ผู้กำกับดูแลทั้ง กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแลการควบรวมกิจการในหลาย ๆ ชั้น ทั้งบริษัทแม่ และบริษัทลูก และไม่มีช่องโหว่ใด ๆ เกิดขึ้นแน่นอน

 

อย่างไรก็ตามการหารือครั้งนี้ ทั้ง 2 บริษัท ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการควบรวมกิจการแล้ว โดยเมื่อมีผู้ให้บริการน้อยราย บริษัทที่เป็นรายเล็กคงต้องร่วมกันถึงจะอยู่ได้ ส่วนอีกเรื่องคือ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการจากต่างประเทศที่ใช้บริการบนฐานอินเตอร์เน็ตจำนวนมาก กลุ่มนี้ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ให้บริหารอย่างชัดเจน

 

ดังนั้นคณะกรรมาธิการฯ จึงตั้งข้อสังเกตไปว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกก็ไม่ได้ปล่อยให้ใครเข้ามาหาประโยชน์ในลักษณะนี้ โดยจะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องก่อน ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลของไทยควรต้องพิจารณาแนวทางดูแล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทต่าง ๆ เบื้องต้นคณะกรรมาธิการฯ ได้ขอให้บริษัทยื่นข้อเสนอ เพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างของกิจการโทรคมนาคมอย่างเปิดกว้างในทันที

นพ.ระวี

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากการศึกษาและประชุมของกรรมาธิการตลอด 6 ครั้งที่ผ่านมา พบว่าการยื่นขอควบรวมกิจการของทรูกับดีแทค จะก่อให้เกิดการผูกขาดทางการค้า เพราะบริษัทใหม่จะครอบครองตลาดเกิน 50% และลดการแข่งขันในภาพรวม เนื่องจากจะเหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย คือ เอไอเอส กับบริษัทใหม่ ซึ่งตัวแทนสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)และ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) ยอมรับว่าดัชนีวัดการกระจุกตัว(HHI) จะเกิน 2500 และค่า HHI จะเพิ่มขึ้นเกิน 100 ใกล้เคียงกับการศึกษาของ TDRI ซึ่งแสดงว่า การควบรวมกิจการจะส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างชัดเจน

 

กสทช. ให้ความเห็นกับ กรรมาธิการฯ ว่าอำนาจของ กสทช.ตาม พ.ร.บ.และประกาศ กสทช.หลายฉบับ ไม่สามารถระงับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ได้ ทำได้เพียงกำกับดูแลและออกมาตรการต่างๆ เท่านั้น ซึ่ง กมธ.เสนอว่าหากพิจารณาแล้วเป็นการ “ผูกขาดทางการค้าและเป็นอันตรายต่อการแข่งขันเสรี” กสทช.จำเป็นต้องออกประกาศฉบับใหม่ในปี 2565 เพื่อระงับการควบรวม ขณะที่ กขค. ได้ยืนยันว่า สำหรับกิจการโทรคมนาคมเป็นอำนาจของ กสทช. ในการพิจารณาดูแลและควบคุม

logoline