svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กกต."เตือนผู้สมัครตรวจสอบคุณสมบัติให้ดีก่อนลง"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม."

30 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กกต."เตือนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.-เมืองพัทยา ตรวจสอบคุณสมบัติให้ดีก่อนลง"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม." ย้ำอย่าเอาสนุกหวั่นถูกดำเนินคดีภายหลัง เผยคุณสมบัติไม่ครบเพียบทั้ง"ส.ว.-ส.ส.-ท้องถิ่น" แนะระวังเรื่องสัญญาว่าจะให้-ขนคนไปใช้สิทธิ์

 

30 มีนาคม 2565 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าว "ข้อควรรู้เพื่อนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา" หัวข้อ "รวมพลังสุจริต ใช้สิทธิอย่างโปร่งใส พร้อมใจไปเลือกตั้ง" ในวันที่ 22 พ.ค. 2565 ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษ ดูจากการโหมโรงตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนถึงเวลานี้ ผู้สมัครก็มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก ขณะที่พรรคการเมืองก็ส่งผู้สมัครกันหลายพรรค

 

นายแสวง กล่าวต่อว่า แต่ความพิเศษนี้ ก็จะมีความสลับซับซ้อนในการหาเสียง โดยเฉพาะหลายพรรคการเมืองเข้ามาหาเสียงด้วย ต้องระมัดระวัง พร้อมย้ำเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร ว่า กกต. จะตรวจสอบในส่วนที่มีข้อมูลอยู่ในฐานของรัฐ ด้วยการขอข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ 20 กว่าหน่วย แต่บางข้อมูลไม่มีในฐาน ดังนั้น ตามกฎหมายจึงกำหนดให้ผู้สมัครรับรองตัวเอง หากตรวจเจอในภายหลังก็จะถูกดำเนินคดีทางอาญา

 

"การหาเสียงต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการหาเสียง เพราะถึงแม้จะหาเสียงนอกเวลาราชการ ก็ถือว่าผิด เช่น นายอำเภอ มีญาติเป็นผู้สมัคร และไปรับประทานอาหารเที่ยง แล้วบอกคนอื่นว่าขอให้เลือกน้องชายของตนเองนั้น แบบนี้สามารถทำได้ แต่หากนายอำเภอ เรียกประชุมผู้ใหญ่บ้าน เพื่อบอกให้เลือกผู้สมัคร ก็จะถือว่าผิด" นายแสวง กล่าว 

 

นอกจากนี้ เมื่อปิดหีบแล้วตรวจสอบพบว่า ผู้แสดงตนมาใช้สิทธิ์กับจำนวนบัตรเท่ากัน แต่นับคะแนนกลับต่างกัน ก็ต้องนับคะแนนใหม่ แต่หากผู้มาแสดงตนใช้สิทธิ์กับจำนวนบัตรไม่ตรงกัน อาจจะเกิดจากคนนำบัตรออกจากหน่วยเลือกตั้ง หรือเหตุอื่นๆ แต่ทำให้บัตรหายไป กรณีนี้ต้องลงคะแนนใหม่ ซึ่งจะต่างจากกรณีแรก ดังนั้น หากข้อเท็จจริงตรวจสอบแล้วพบต้นเหตุว่ามีที่มาที่ไป เช่น มีการฉีกบัตรเลือกตั้ง ทำให้จำนวนบัตรไม่ตรงกัน ก็ไม่ต้องนับคะแนนหรือลงคะแนนใหม่ 

 

ด้าน น.ส.มาณวิกา ทองประเสริฐ รองผู้อำนวย กกต. ประจำกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า เป็นห่วงผู้สมัครที่ต้องเตรียมหลักฐานให้ครบ รวมถึงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี และต้องรู้เท่าทันเรื่องการจัดให้มีขบวนแห่ต่างๆ การจัดเลี้ยงกองเชียร์ในวันสมัคร ถือเป็นการจัดมหรสพ ซึ่งผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น

 

นอกจากนี้ กกต. กทม. ได้ประสานกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว เขตละ 3 คน รวมทั้งหมด 150 นาย ดูแล 50 เขตใน กทม. เพื่อป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

 

ขณะที่ ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการดำเนินการสืบสวนและข้อห้ามในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยยอมรับว่า เลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมา มีการกระทำความผิดมากมาย บางครั้งก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งหลายเรื่องมีโทษหนักมากและมีหลายข้อหา ถึงขั้นจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-600,000 บาท ตัดสิทธิ์เลือกตั้งถึง 20 ปี จึงขอฝากไปถึงผู้สมัครว่า หากรู้ว่าไม่มีคุณสมบัติแล้วยังสมัคร ถือว่ามีความผิด

 

"ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองให้ดี สมัครแล้วห้ามถอน อย่าคิดว่า มีเวลา มีเงิน มีพวก แล้วชวนกันไปสมัครเอาสนุกเข้าว่า เพราะหากคุณสมบัติไม่ครบ ก็จะมีประวัติถูกดำเนินคดีติดตัวไปด้วย" รองเลขา กกต. กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม มีผู้สมัคร ส.ว. กว่า 300 คน ขาดคุณสมับติ ผู้สมัคร ส.ส. 200 คน ผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น 3 ประเภท ยังไม่รวบรวม แต่คาดดำเนินคดีอีก 1,000 คน ขณะเดียวกันให้ระวังการทำความผิด เช่น ให้-สัญญาว่าจะให้ จัดรถรับส่งไปเลือกตั้ง จัดให้มีเล่นพนันเลือกตั้ง เพราะมีโทษหนัก ทั้งนี้ กกต.มีห้องปฏิบัติงานข่าวสืบสวนสอบสวน เมื่อได้รับแจ้งเหตุจะเเจ้งต่อไปยังชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งมี 52 ชุด ออกตรวจตราต่อไป และหากใครมีเบาะแสและหลักฐาน ก็สามารถแจ้งมายัง กกต. หรือ ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ เพื่อดำเนินการจับกุมต่อไป

 

"หากสามารถเอาผิดได้จริง ก็จะมีเงินรางวัลนำจับด้วย หรือจะส่งผ่านแอปฯ ตาสับปะรด ก็ได้ แต่ต้องแสดงตัวตนด้วย เพราะที่ผ่านมามีคนก่อกวน ไม่ให้ข้อมูลที่แท้จริง พร้อมย้ำเตือนประชาชนว่า การซื้อเสียง ไม่ใช่แค่ผู้ให้เงินที่มีความผิด แต่ผู้รับเงินก็มีความผิดด้วยเช่นกัน และฝากสื่อเรื่องการเสนอข่าว ที่นำเสนอเฉพาะผู้สมัครบางคน เนื่องจากบางคนไม่ดัง ก็ขอให้มีความเสมอภาค จะเชิญใครมาสัมภาษณ์ก็ขอให้เท่าเทียม สม่ำเสมอ"  ร.ต.ต.ชนินทร์ กล่าว

logoline