svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ล้างไพ่ตั้งรัฐบาลใหม่ดัน"เสี่ยหนู"แทน"บิ๊กตู่"ขึ้นแท่นนายกฯ

12 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำไมทีมความมั่นคงที่ช่วยงานนายกฯอยู่ จึงมองซีนาริโอนี้ และคิดว่าฝ่ายค้านบางพรรค จะมาสนับสนุน "อนุทิน ชาญวีรกูล" เหตุผล คือ การชิงความได้เปรียบทางการเมือง

1.ถ้านายกฯยุบสภา ไม่ว่ากรณีใดๆ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลชุดนี้จะทำหน้าที่ "รักษาการ" ต่อไป มีอำนาจเกือบเท่าๆ ตัวจริงที่ไม่ได้รักษาการ หรือ มีอำนาจใกล้เคียงปัจจุบัน

 

2.ถ้านายกฯยุบสภา ตอนที่ร่างกฎหมายลูกยังแก้ไขไม่เสร็จ โดยเฉพาะกติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ อาจต้องใช้วิธีผ่าทางตัน ซึ่งมีพูดกัน 2 วิธี แต่ไม่มีใครรับรองว่าทำได้ เพราะไม่มีกฎหมายเขียนไว้ และไม่มีกฎหมายรองรับ ขณะที่ รองนายกฯ วิษณุก็ไม่กล้ารับประกัน

 

ซึ่งแนวทางแรก นำร่างกฎหมายลูกที่ค้างพิจารณาอยู่ มาออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พระราชกำหนด แปลว่ารัฐบาล นายกฯเป็นคนออกกติกาเลือกตั้ง แต่ผลเสีย คือ จะกลายเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารอย่างเดียว แถมยังไม่ต้องนำเข้าสภาเพื่อขออนุมัติ เพราะไม่มีสภา เนื่องจากสภาถูกยุบไปแล้ว อาจจะต้องเข้าวุฒิสภา 

 

แนวทางต่อมา คือ ให้ กกต.ออกกติกาการเลือกตั้ง และวิธีการนับคะแนน คำนวณคะแนน และคำนวณ ส.ส.

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแนวทาง นายกฯล้วนได้เปรียบ และหากมีมือดีไปยื่นตีความว่า เป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่แก้ไขแล้ว การเมืองก็จะกลายเป็นสุญญากาศทันที ไม่มีทางออก และนายกฯ ก็จะอยู่รักษาการไปเรื่อยๆ

 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครอยากให้นายกฯยุบสภา ในช่วงที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ โดยเฉพาะฝ่ายค้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก้าวไกล ที่คะแนนนิยมยังไม่ดี ยังไม่พร้อมเลือกตั้ง เพราะสุ่มเสี่ยงเข้าสู่ dead lock ทางกฎหมาย

 

แต่การปล่อยให้นายกฯอยู่ไปเรื่อยๆ จนทำกฎหมายลูกเสร็จ แล้วค่อยยุบสภา ระยะเวลาก็เนิ่นนานเกินไป เพราะอาจจะราวๆ ปลายปี แถมยุบสภาแล้วก็ย้อนกลับไปข้อ 1 คือ นายกฯยังทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการ เวลานั้นพรรคใหม่ที่ตั้งรอไว้ ก็น่าจะมีความพร้อมมากขึ้น กลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวขึ้นมาอีก

ส่องไทม์ไลน์ "กฎหมายลูก" (บัตร 2 ใบ)

 

ก.พ.65 => เข้าวาระ 1 ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา คาดว่าเป็นช่วงหลังอภิปรายทั่วไป 17-18 ก.พ.นี้

 

ปลาย ก.พ.65 => รับหลักการวาระ 1

 

มี.ค.-เม.ย.65 => พิจารณาวาระ 2 (กมธ.วิสามัญฯ)

 

พ.ค.65 => ส่งกลับมาพิจารณาวาระ 2-3 ในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา

 

**อาจเปิดประชุมวิสามัญฯ เร่งบรรจุก่อนเปิดประชุมสมัยสามัญ เพราะเสี่ยงโดนยื่นซักฟอก

 

กรณีไม่เปิดประชุมสมัยวิสามัญฯ

 

ปักษ์หลัง พ.ค.65 => พิจารณาวาระ 2-3 และลงมติ

 

มิ.ย.65 => ส่งให้ กกต. พิจารณาว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่

 

-ถ้าไม่เห็นชอบ จะล่าช้าออกไป และต้องยึดตาม กกต.เป็นหลัก

 

-ถ้าเห็นชอบ ก็ส่งกลับสภา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ

 

เมื่อทูลเกล้าฯ แล้ว จะมีกรอบเวลา 90 วัน ที่จะพระราชทานลงมา

 

ก.ค.-ก.ย.65 => รอโปรดเกล้าฯ กฎหมายลูก 2 ฉบับ

 

**กฎหมายลูกจะมีผลบังคับใช้เร็วที่สุด ก.ค.65 ช้าที่สุด ก.ย.65

 

หลังจากนั้นถ้ามีการยุบสภา จะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ไม่เร็วกว่า 45 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 60 วัน ตารัฐธรรมนูญ มาตรา 103

 

**หากคิดตามกรอบเวลานี้ กรณียุบสภาทันทีหลังกฎหมายลูกมีผลบังคับใช้ เหมือนทีรัฐบาลอภิสิทธิ์ วางมาตรฐานไว้ จะมีการเลือกตั้งได้ตั้งแต่ ก.ย.ไปจนถึงปลายปี 65

 

ฉะนั้นฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค จึงอาจจับมือกัน ล้มนายกฯช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อเลือกนายกฯใหม่ และอาจล้างไพ่ ตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เกลี่ยเก้าอี้กันใหม่ โดยเฉพาะโควต้ากลาง ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่จะประคองการแก้กฎหมายลูก และอาจยุบสภา จัดเลือกตั้ง โดยที่รัฐบาลใหม่ ก็จะมีสถานะเป็น "รัฐบาลรักษาการ" ด้วย

 

ถ้าทุกอย่างเดินไปตามแผนนี้ รัฐบาลใหม่จะมี อนุทิน เป็นนายกฯ และอาจจะยึดพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเป็นหลัก โดยทิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไว้เบื้องหลัง แล้วเกลี่ยเก้าอี้กันไป และอาจดึงพรรคฝ่ายค้านบางพรรคเข้ามาเสียบ เพื่อไม่ให้เพื่อไทยชิงการนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไป

 

นี่คือซีนาริโอการเมืองอีกแบบหนึ่งที่กำลังถูกพูดถึงกันอย่างมากในแวดวงนักเลือกตั้ง และทีมความมั่นคงที่ทำงานให้นายกฯอยู่ในขณะนี้ และเป็น "แผนลับ" ที่อธิบายปรากฏการณ์ ลาประชุม ครม.ของ 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยได้อย่างแจ่มชัด

 

งานนี้ใกล้เปิดหน้าชกกันเต็มทีแล้ว...

logoline