svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี"ย้ำกฎหมายกำหนดกรอบเวลาทำงานของกระบวนการยธ.เป็นเรื่องสำคัญ

09 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทวี สอดส่อง"ชี้พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลากระบวนการยุติธรรมสำคัญ ต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่กระทบสิทธิประชาชน ขณะที่หลายหน่วยงานควรมีกรอบไทม์ไลน์ดำเนินงานอยู่แล้ว แนะเหมาะแก้ปัญหาศาลทหารตัดสินคดีล่าช้า 

9 กุมภาพันธ์ 2565 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ... ผ่านรายการ Inside รัฐสภา ของวิทยุรัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา ต่อการตีกรอบเวลาทำงานกระบวนการยุติธรรม

 

"ทวี"ย้ำกฎหมายกำหนดกรอบเวลาทำงานของกระบวนการยธ.เป็นเรื่องสำคัญ

 

โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นร่างที่เกิดจากการปฏิรูป ในกฎหมายปฏิรูปในการประชุมของรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวได้อ่านร่างนี้ และก็คงจะต้องเข้าไปสอบถามผู้ที่มาชี้แจง เพราะว่า ถ้าไปดูในเชิงลึกจริงๆ ถึงกระบวนการยุติธรรม ต้องเริ่มที่กฎหมายก่อน ปัจจุบันสังคมจำนวนมากไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย และจากได้ไปเกษตรกรที่มาชุมนุมเรียกร้องอยู่ที่กระทรวงการคลัง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการไม่ศรัทธาในกฎหมาย เห็นว่า กฎหมายไม่ยุติธรรม หรือกระบวนการไม่ยุติธรรม 

 

"เป้าประสงค์ของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ที่จะบัญญัติกฎหมาย มีเป้าประสงค์เดียวก็คือให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับปวงชน ก็คือความยุติธรรม แล้วก็ต้องพิจารณาว่าการบัญญัติกฎหมาย ยังไม่สำคัญเท่ากับการใช้ประโยชน์จากกฏหมาย และให้กฎหมายรักษาความยุติธรรมให้กับสังคม อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะมาคิด" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ทั้งนี้ อยากยกตัวอย่างว่า กระบวนการยุติธรรมมีการกำหนดระยะเวลาไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน ในเกือบทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น ในชั้นของตำรวจ ถ้าในคดีทั่วไปไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด ต้องทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน  ถ้าคดีอุกฉกรรจ์ คือ คดีฆ่าคนตาย คดีฆาตกรรมที่ซับซ้อน ต้องทำให้เสร็จใน 1 ปี แต่ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด จะจับได้หรือไม่ได้ก็ตาม คดีทั่วไปต้องเสร็จใน 2 เดือน ถ้าคดีอุกฉกรรจ์ต้องเสร็จใน 3 เดือน อันนี้มันชัดเจนอยู่แล้ว

 

ขณะเดียวกัน แต่ถ้าจับได้มีวิอาญาบังคับไว้ ตั้งแต่เวลาสูงสุดไม่เกิน 84 วัน ในการฝากขัง อยู่กับตำรวจอยู่กับพนักงานสอบสวนได้ 48 ชั่วโมง แม้แต่การประกันตัว การปล่อยตัวชั่วคราว ในคดีอาญาทั่วไป ต้องทำให้เสร็จใน 2 เดือน หรืออุกฉกรรจ์ก็ใน 3 เดือน รวมๆแล้ว ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปฟ้องศาลภายใน 6 เดือน กระบวนการในทางกฎหมายก็รวดเร็วไม่ชักช้า 

 

สำหรับวิธีคิดในการทำกฎหมายของสังคมไทยก็ต้องยอมรับว่า นักกฎหมายไทยจำนวนมากจะถูกบ่มเพาะในแนวนักกฎหมายเชิงอำนาจนิยม ไม่ได้ถูกบ่มเพาะกฎหมายในการให้ความสำคัญในสิทธิเสรีภาพ เช่น ร่างกฏหมายฉบับนี้แม้การกำหนดระยะเวลามีความจำเป็น เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ถ้าเกิดกฎหมายไม่ยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม การกำหนดระยะเวลาต้องเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือความยุติธรรม นำหน้าระยะเวลา

 

"ถ้าเราไปอ่านร่างกฎหมายนี้ กฤษฎีกาไม่เห็นด้วย แล้วตอนหลังฝ่ายรัฐบาลก็ยืนว่า จะให้กฤษฎีกาเห็นด้วย กฤษฎีกาก็มาเขียนเป็นความเห็นที่ค่อนข้างเจ็บปวดในของกฤษฎีกา คือ ถ้าหากคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่า จำเป็น จะต้องออก กฤษฎีกา ก็มีความเห็นมา ซึ่งความเห็นของกฤษฎีกาไม่เห็นด้วย เดี๋ยวก็คงจะมีผู้นำไปอภิปรายในที่ประชุม" เลขาธิการพรรค ระบุ 

ส่วนที่ความกังวลว่า เมื่อมีกฎหมายจำนวนมากที่ออกโดยไม่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม เช่น กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ที่ออกมาเมื่อปี 62 เนื่องจากอุทยานแห่งชาติที่ประกาศไว้เดิม มีที่ดินประมาณ 4.7 ล้านไร่ ปรากฏว่า เป็นการพิพาทว่า ประชาชนอยู่ก่อนประกาศอุทยาน และในกฎหมายดังกล่าว ก็มีมติ ครม.ไม่ให้จับกุม ก็คือให้ไปพิสูจน์สิทธิแล้ว ซึ่งสิทธิทางกฎหมายถ้าอยู่ก่อนป่า อยู่ก่อน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ที่ดิน ก็ต้องออกเป็นเอกสารสิทธิ อยู่ๆ กฎหมายเมื่อปี 62 ก็บอกว่า 4.7 ล้านไร่ ประชาชนเป็นผู้บุกรุก ต้องมาแสดงตัว ใน 240 วัน แล้วก็รัฐก็จะจัดให้เป็นผู้อาศัย ซึ่งนี่คือตัวอย่าง 

 

ดังนั้นในกฎหมายฉบับนี้ คิดว่า จำเป็นต้องออก แต่ต้องมาดูกันให้รอบคอบ ว่าเป้าประสงค์ความยุติธรรมสำคัญกว่า อีกหลายประเด็นที่เกิดที่เกิดความสงสัย เช่น ในภาคใต้ที่ใช้กฏหมายเป็นอำนาจนิยม ปกติบุคคลจะต้องถูกควบคุมตาม ป.วิ.อาญาได้มากที่สุดไม่เกิน 84 วัน ถ้าจับตัวได้ แต่ในภาคใต้จะมีการจับกุมคนควบคุมเพิ่มในกฎอัยการศึก 7 วัน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 30 วัน ซึ่งหน่วยงานทหาร คือ กระทรวงกลาโหมในร่างมาตรา 5 ที่มีอยู่ 10 หน่วยงานไม่มีกระทรวงกลาโหมเห็นว่า ควรเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมด้วย และอีกหลายหน่วยงาน เช่น กกต. อ้างว่า กกต.มีกฎหมายกำหนดเวลาไว้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็เหมือนกับองค์กรอื่น มีระยะเวลาชัดเจนเช่นกัน หรือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้กำหนดไปในหมวดของกระบวนการยุติธรรมเพิ่ม และมีอีกหลายหน่วยงานควรต้องไปพิจารณา

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นข้อท้วงติง จะทำอย่างไรให้กฎหมายฉบับนี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับปวงชน ก็คงต้องฟังผู้มาชี้แจง บางอย่างก็เสนอแนะไปให้คณะกรรมาธิการ ที่อาจจะมีการแต่งตั้งขึ้น ถ้ารับกฎหมายฉบับนี้ เพื่อจะทำให้กฎหมายเกิดความยุติธรรม โดยส่วนตัวถ้าปล่อยกฎหมายให้เป็นลักษณะอำนาจนิยมเกินไป ไม่คำนึงถึงสิทธิ เพราะวันนี้ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทุกกฎหมายจะเกิดผลกระทบต่อประชาชน เพราะกฎหมายจำนวนมากออกมาโดยไม่ได้ปราดเปรื่อง ไม่ได้รอบคอบ แล้วคนที่ถูกบังคับใช้ ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงในส่วนนั้น  

 

สำหรับร่างกฎหมายนี้เป็นเหมือนลักษณะคำสั่งทั่วไป ควรกำหนดเวลามาตรฐานกลางให้ชัดเจน กำหนดความรับผิดชอบไว้ด้วย ซึ่งในกฏหมายกระบวนการยุติธรรมแต่ละองค์กรมีเวลาอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำตามเวลา ทำสำนวนเกินเวลา ก็ติดคุก แต่ที่สำคัญที่ผ่านมา คือ ขาดความรับผิดชอบ ในการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ปัจจุบันมีอยู่ 3 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร ควรมีกรอบระยะเวลาไว้ด้วย ในจังหวัดภาคใต้มีปัญหามาก ที่ไปอยู่ศาลทหาร เพราะให้เขตอำนาจว่า ทหารกระทำผิดไม่มีพลเรือนร่วมไปขึ้นศาลทหาร 

 

"ผมเคยยกตัวอย่างการแก้กฎหมายอย่างเช่น คดีท่าน ส.ว.ฟัครุดดีน บอตอ เหตุเกิดเมื่อปี 49 พอจับตัวคนร้ายได้ มาปี 60 เป็นว่า 11 ปี ศาลทหารชั้นต้นจึงตัดสิน แล้วก็อุทธรณ์ จนขณะนี้ปี 65 เป็นเวลา 16 ปีแล้ว ศาลอุทธรณ์ของของศาลทหารยังไม่มีมาเลย ขณะที่ผู้เสียหายเป็นพลเรือน แต่พอไปศาลยุติธรรม คดีคุณครูจูหลิง เกิดหลังนี้ ประมาณปี 50 ศาลฎีกาตัดสินไปแล้ว ลักษณะเช่นนี้ก็คงจะมาดูว่า ทำไมศาลทหารซึ่งมีปริมาณคดีไม่เยอะนัก ทำไมปล่อยคดีผู้เสียหายเป็นพลเรือน ถึงล่าช้า อันนี้ร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลากระบวนการยุติธรรม ก็อาจจะมีประโยชน์นะครับ ก็คงจะมาดูกันในรายละเอียดกันนะครับ" พ.ต.อ.ทวี กล่าว  
 

logoline