svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

24 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องสถานการณ์เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตหลักสี่-จตุจักร นับถอยหลังก่อนหย่อนบัตร ผู้สมัครคนไหนมีโอกาสเข้าวิน คนไหนวืด จับตาผลคะแนนชี้ชะตาพรรค ชี้ชะตาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ชี้ชะตาเลือกตั้งสนามใหญ่

หลังจากกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.กรุงเทพฯ) เปิดรับสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 9 กทม. เขตหลักสี่-จตุจักร (บางส่วน) เมื่อวันที่ 6 ม.ค.65 แทน “สิระ เจนจาคะ” ที่พ้นสมาชิกภาพส.ส.ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีพรรคการเมืองสนใจส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 8 คน ดังนี้

พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัช ผู้สมัครพรรคไทยภักดี เบอร์ 1

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัครพรรคกล้า เบอร์ 2

สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย เบอร์ 3

กุลรัตน์ กลิ่นดี ผู้สมัครพรรคยุทธศาสตร์ชาติ เบอร์ 4

รุ่งโรจน์ อิบรอฮีม ผู้สมัครพรรคไทยศรีวิไลย์ เบอร์ 5

กรุณพล เทียนสุวรรณ ผู้สมัครพรรคก้าวไกล เบอร์ 6

สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 7

เจริญ ชัยสิทธิ์  ผู้สมัครพรรคครูไทย เบอร์  8

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

จากนั้นผู้สมัครของทุกพรรค ต่างลงพื้นที่หาเสียงตามยุทธศาสตร์พรรค เพื่อขอคะแนนสนับสนุนจากชาว กทม.เขต 9 หลักสี่ - จตุจักร (บางส่วน) จนถึงช่วงโค้งสุดท้าย

 

ความเคลื่อนไหวช่วงโค้งสุดท้าย พรรคการเมืองต่างงัดกลยุทธต่างๆ ออกมาซื้อใจชาวบ้าน โดยกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกโรงเตือนให้ทุกพรรคอย่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

ช่วงโค้งสุดท้าย พรรคก้าวไกล จัดเวทีปราศรัยใหญ่ 22 ม.ค.65 ที่สนามกีฬาชุมชนเสนานิคม 2 มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค ขึ้นปราศรัยช่วย “เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ" ชูนโยบายส่งเสริมเพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุคนละ 3,000 บาท เพื่อดูเเลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในช่วงหลังวัยเกษียณ สร้างรัฐสวัสดิการเพื่อความมั่นคงในชีวิต รัฐจะไม่ทอดทิ้งคน ไม่ทอดทิ้งใครให้เดียวดายอยู่ที่บ้าน ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ต้องเลือกผู้แทนที่กล้าชน กล้าพูด 

 

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ วันจันทร์ที่ 24 ม.ค.65  “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่หาเสียงช่วย “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” โดยไม่มีการปราศรัยใหญ่ แต่จะวิธีพูดคุยกับประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำปัญหาที่ประชาชนสะท้อนมานำไปแก้ไข ท่ามกลางปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ กรณีขับ ส.ส.กลุ่ม  “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” พ้นพรรค (20 ม.ค.65)

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

สำหรับพรรคเพื่อไทย จะเปิดปราศรัยใหญ่ วันที่ 28 ม.ค.65 ช่วยผู้สมัคร “สุรชาติ เทียนทอง” ส่วนช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย จะปรับการสื่อสารภาพรวมให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น ตามแนวทางของ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรค พร้อมมอบหมายให้ ส.ส. ที่ว่างเว้นจากภารกิจลงพื้นที่ช่วย "สุรชาติ" หาเสียง และนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงปัญหาต่างๆ ที่สะสมอยู่ในพื้นที่นี้มาตีแผ่ และเสนอแนวทางการแก้ไข

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

พรรคกล้า จะเปิดปราศรัยใหญ่วันที่ 28 ม.ค.65 ที่เคหะท่าทราย หลักสี่ เพื่อขอเสียงให้ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ดีกรีเลขาธิการพรรคกล้า โดยพรรคจะรับฟังพี่น้องประชาชนที่มีความคาดหวังทางการเมือง ได้มีโอกาสมาแสดงออกกับประชาชนและสื่อมวลชน ถึงการเมืองคุณภาพที่อยากได้ 

 

“กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า หวังอย่างยิ่งให้พรรคกล้า แจ้งเกิดในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลังพลาดจากเลือกตั้งซ่อม จ.นครศรีธรรมราช-จ.สงขลา-จ.ชุมพร ดังนั้น การส่งเลขาธิการพรรค และเป็นอดีต ส.ส. จึงมีสิทธิ์ลุ้น 

 

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญ มีความหมายต่อพรรคกล้า อย่างยิ่ง เพราะถ้า “อรรถวิชช์” สอบตก ย่อมจะส่งผลต่อขวัญกำลังใจของพรรคกล้า นับเป็นความท้าทายต่ออนาคตของพรรคการเมืองน้องใหม่ ในสนามการเมืองนับจากนี้ไป

 

ช่วงโค้งสุดท้าย 5 ผู้สมัครเบียดสู้กันสูสี

 

จากการหาเสียงนับตั้งแต่ 6 ม.ค.65 ผ่านมาจนถึงช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนนับถอยหลังสู่วันหย่อนบัตรเลือกตั้ง 30 ม.ค.65 พบว่าผู้สมัคร จาก 5 พรรคการเมือง เบียดสู้กันสูสี ส่วนอีก 3 คน นั้นตามหลังห่างๆ

 

ผู้สมัคร 5 คนจาก 5 พรรคไล่เลียงกันไป ดังนี้

 

1.ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” หรือมาดามหลี ภรรยา “สิระ เจนจาคะ” อดีต ส.ส.กทม.ครั้งนี้ “มาดามหลี” หมายมั่นปั้นมือจะเข้าสภาฯ ทำหน้าที่ส.ส.แทนสามี และยังมีเดิมพันครั้งสำคัญคือ พลังประชารัฐ จะแพ้อีกไม่ได้ เพราะถ้าแพ้ครั้งนี้ เท่ากับพรรคพลังประชารัฐ พ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งซ่อม 3 สนาม ติดต่อกัน ต่อจาก สงขลา และชุมพร 

 

และโดยส่วนตัว “มาดามหลี” ต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรี ครอบครัว “เจนจาคะ” ว่ายังเป็นที่ไว้วางใจสำหรับชาวหลักสี่  

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

2.ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย “สุรชาติ เทียนทอง” ลูกชาย  “เสนาะ เทียนทอง" เลือกตั้งรอบที่แล้วแพ้สิระ ไปแค่ 2,000 คะแนน ครั้งนี้เจ้าตัวมั่นใจ และพรรคมั่นใจว่า การไม่ทิ้งพื้นที่ และคะแนนนิยมที่มีต่อรัฐบาล เริ่มลดน้อยถอยลงจากปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หมูขาดแคลน และปัญหาสินค้าพาเหรดขึ้นราคา “แพงทั้งแผ่นดิน” ชาวหลักสี่จะไว้วางใจเลือกผู้สมัครพรรคเพื่อไทยเข้าไปทำงานในสภา

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

3.ผู้สมัครพรรคกล้า “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เลขาธิการพรรคกล้า อดีต ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่นี้มาก่อน สร้างจุดขาย”การเมืองคุณภาพ” ยึดมั่นหลักปฏิบัตินิยม ไม่แบ่งซ้าย ไม่แบ่งขวา ยืนบนหลักข้อเท็จจริงและความถูกต้อง 

 

ผลคะแนนเลือกตั้งซ่อม จ.สงขลา และจ.ชุมพร คะแนนนิยมของพรรคกล้าเพิ่มมากขึ้น จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นสัญญาณที่ดีว่า คนรุ่นใหม่เริ่มเข้าใจวิธีคิดปฏิบัตินิยมแล้ว 30 ม.ค.65 นี้จึงวัดว่าการเมืองคุณภาพเที่ยวนี้รอดหรือไม่ 

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

4.ผู้สมัครพรรคก้าวไกล “กรุณพล เทียนสุวรรณ” จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ (กฤษณุชา สรรเสริญ คะแนน 25,735 คะแนน) มาเป็นลำดับ 3 แสดงว่า ที่มีฐานเสียงใน เขต 9 กทม.ไม่น้อย ก้าวไกล หวังลึกๆ ว่า การทำงานทั้งใน และนอกสภาฯ ฐานเสียง และแฟนคลับ ยังพร้อมให้โอกาสแก่ผู้สมัครของพรรค 

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

5.ผู้สมัครพรรคไทยภักดี “พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชน์” นักธุรกิจ-แกนนำร่วมก่อตั้งพรรค ซึ่งได้แรงเชียร์ จาก นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ 

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

 

จุดยืนการเมือง-การตัดคะแนนกันเอง

 

การเลือกตั้งในกรุงเทพฯ จะสังเกตว่า คนกรุงเทพฯ ตัดสินใจ “ตามกระแส” และครั้งนี้ก็เช่นกัน นอกจากนั้นตัวผู้นำรัฐบาล ก็มีส่วนในการตัดสินใจของกลุ่ม “เอา” พล.อ.ประยุทธ์ กับ “ไม่เอาประยุทธ์”

 

สำหรับ 5 ผู้สมัคร 5 พรรค แยกออกเป็น 3 กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มไม่ชอบฝ่ายค้าน ยังเชียร์รัฐบาลลุงตู่ ยังเลือกผู้สมัคร พลังประชารัฐ หรือเลือกผู้สมัคร ไทยภักดีแทน

 

กลุ่มที่สอง ไม่เอารัฐบาล ไม่เอาลุงตู่ หนุนฝ่ายค้าน ตัวเลือกคือผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล มีโอกาส ที่จะตัดคะแนนกันเอง

 

กลุ่มที่สาม คนที่เลือกทางสายกลาง และมีความผูกพันธ์ กับอดีตส.ส.เขตนี้ ก็อาจเทไป พรรคกล้า  

 

ดังนั้น การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม. หลักสี่-จตุจักร (บางส่วน) จึงบ่งบอกได้ทั้งคะแนนนิยมที่มีต่อตัวผู้สมัคร คะแนนนิยมพรรค และอารมณ์ทางการเมือง ที่คนกรุงเทพฯ มีต่อรัฐบาล มีต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และยังมองไปถึงแนวโน้มการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร การเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในอนาคต 

 

ผลการเลือกตั้งจึงเป็นโจทก์ใหญ่ที่ทุกพรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญเพราะบ่งบอกถึงอนาคตของแต่ละพรรคได้ไม่มากก็น้อย

นับถอยหลัง “เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่”

ย้อนดูผลคะแนนเลือกตั้ง62

สำหรับผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ปี 2562 เขต 9 หลักสี่ กรุงเทพมหานคร  ดังนี้

1.นายสิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ : คะแนน 34,907 คะแนน

2.นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย : คะแนน 32,115 คะแนน

3.นายกฤษณุชา สรรเสริญ จากพรรคอนาคตใหม่ : คะแนน 25,735 คะแนน

4.พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ จากพรรคประชาธิปัตย์ : คะแนน 16,255 คะแนน

5.นายศักดิภัทร์ สวามิวัสดุ์ จากเศรษฐกิจใหม่ : คะแนน 5,873 คะแนน

 

6.นายปัณณธร รัตน์ภูริเดช พรรคเสรรีวมไทย : คะแนน 2,593 คะแนน

7.นายบวรกิตติ์ สันทัด พรรคภูมิใจไทย : คะแนน 1,666 คะแนน

8.สุรวัช สุนทรศารทูล พรรครวมพลังประชาชาติไทย : คะแนน 760 คะแนน

9.นายวีรพัส เทพา พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย : คะแนน 578 คะแนน

10.พลตรีเจริญ สุดโสภา พรรคชาติไทยพัฒนา : คะแนน 380 คะแนน

 

11.นางประภัสสร ชูทอง พรรคเพื่อชาติ : คะแนน 348 คะแนน

12.นายชุมพล รุ่งวิชานิวัฒน์ พรรคชาติพัฒนา : คะแนน 241 คะแนน

13.นายธัชชา ภิรมย์ชาติ พรรคประชาชนปฏิรูป : คะแนน 237 คะแนน

14.นายศุภกร จงนภาศิริกูล พรรคพลังท้องถิ่นไท : คะแนน 170 คะแนน

15.นางสาวนันทวัน อินธิแสง พรรคประชาชาติ : คะแนน 147 คะแนน

 

16.นายกฤษฎา แรงสูงเนิน พรรคประชากรไทย : คะแนน 98 คะแนน

17.นายฐิตินันท์ ชวนอยู่ ประชานิยม : คะแนน 81 คะแนน

18.นายพสันต์ ดิษเจริญ พลังประชาธิปไตย : คะแนน 71 คะแนน

19.นางสาวโสพรรณา ทิพย์โยธา พรรคครูไทยเพื่อประชาชน : คะแนน 59 คะแนน

20.นายพิชิต จันทร์ประเสิรฐ พรรคประชาภิวัฒน์ : คะแนน 58 คะแนน

21.นายธงชัย เสี่ยงเทียนชัย พรรคพลังสังคม : คะแนน 55 คะแนน

22.นายณัฐพล วิสุทธิวงศ์ พรรคภราดรภาพ : คะแนน 54 คะแนน

23.นายฐิตินันทน์ แก้วกิตติกาญจนา พรรคพลังชาติไทย : คะแนน 52 คะแนน

24.นายรุ่งโรจน์ อิบบรอฮีม พรรคประชาธรรมไทย : คะแนน 49 คะแนน

25.จ่าสิบเอกไพบูลย์ ภู่ธงแก้ว พรรคพลังไทสร้างชาติ : คะแนน 46 คะแนน

 

26.นางกรรวิการ์ บุตรเนียร พรรคพลังปวงชนไทย : คะแนน 41 คะแนน

27.นางกนกวรรณ กล่ำเครือ พรรคภาคีเครือข่ายไทย : คะแนน 38 คะแนน

28.นายสมปอง เพิ่มพูล พรรคพลังศรัทธา : คะแนน 25 คะแนน

29.นางอรอุสา งามเบญจวิชัยกุล พรรคมติประชา  : คะแนน 23 คะแนน

30.นายฟ้าใส บินสุมัน พรรคมหาชน : คะแนน – คะแนน

logoline