svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ทำไมพรรคใหญ่ถึงได้เปรียบ แต่พรรคเล็กรอวันดับ เมื่อใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

24 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำไมพรรคใหญ่ ทั้งเพื่อไทย พลังประชารัฐ และ ประชาธิปัตย์ ถึงต้องการ ในขณะที่พรรคเล็กและพรรคตั้งใหม่ ถึงดิ้นพล่าน อะไรคือสาเหตุ?

พลันที่สภาฯมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 83 และ 91  ที่มานายกฯ และใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ เพียงร่างเดียว จากจำนวนทั้งหมด 13 ฉบับ เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมาและ โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2564 ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยมีผลในวันที่ 21 พ.ย. หลังจากนี้เป็นขั้นตอนการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองภายใน 180 วัน  หลังจากวันที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยร่วมกันพิจารณาระหว่าง (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) กกต.รัฐบาล วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดข้อยุติร่วมกันก่อนเสนอให้รัฐสภาพิจารณา เป็นมติออกมาใช้บังคับต่อไป

 

  • ปฐมเหตุ

 

ทำไมต้องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ วัตถุประสงค์เพื่อความมีเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคใหญ่ที่ส่งส.ส.มากและได้รับคะแนนเสียงเข้ามาสูง คะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อชัดเจน ไม่ตกน้ำ ส่วนพรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก จะเป็นผู้ถูกเลือกเข้าร่วมมีอำนาจต่อรองน้อย นี่จึงเป็นเหตุ ที่ทำให้พรรคใหญ่ต้องการใช้บัตร 2 ใบ ในการก้าวเข้าสู่อำนาจอย่างมั่นคง

ทำไมพรรคใหญ่ถึงได้เปรียบ แต่พรรคเล็กรอวันดับ เมื่อใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

  • ความต่างของระบบบัตร 2 ใบกับใบเดียว

 

ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed Member Apportionment System- MMA) ซึ่งถูกใช้มาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 มีเพียงบัตรเลือก ส.ส.เขต ผลคะแนนจากการเลือก ส.ส.เขตของแต่ละพรรคจะถูกนำไปคำนวณ เทียบสัดส่วนกับคะแนนรวมทั้งประเทศ ก่อนได้ออกมาเป็นจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี จากนั้นแต่ละพรรคจะได้รับการเติมจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพิ่มเข้าไปจาก ส.ส.เขตเดิมที่มีอยู่ ให้เทียบเท่าจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรคนั้นๆ แต่หากพรรคใดมีจำนวน ส.ส.เขตเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก เช่น กรณีพรรคเพื่อไทย ที่ไม่มีส.ส.บัญชีรายชื่อเลย และในส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งหมดเป็นระดับแกนนำพรรค รวมถึงหัวหน้าพรรค โดยสรุป คือ “เลือกคน แถมพรรค

 

ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นข้อเสนอของทั้งพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ คือระบบแบบผสมเน้นเสียงข้างมาก หรือระบบคู่ขนาน (Mixed Member Majoritarian System – MMM) ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2544 โดยแยกที่มาของ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อออกจากกันชัดเจนด้วยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ การจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อมาจากคะแนนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยตรงเท่านั้น โดยไม่มีคะแนน ส.ส.เขตมาเกี่ยวข้อง และไม่มีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.พึงมี กล่าวโดยเข้าใจคือ “เลือกคนที่ชอบ เลือกพรรคที่ใช่”

ทำไมพรรคใหญ่ถึงได้เปรียบ แต่พรรคเล็กรอวันดับ เมื่อใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

จากผลการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่ที่นั่งเดียว ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นพรรคใหญ่ ไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่พรรคอื่นอย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกล ที่ได้ส.ส.เขตไม่มากเท่าพรรคเพื่อไทย กลับได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่จำนวนไม่น้อย ที่สำคัญเกิดปรากฏการณ์ “สูตรคำนวณพิสดาร”และคำด้อยค่า “ส.ส.ปัดเศษ” ที่ถูกยกมากล่าวอ้างถึงพรรคเล็กเนืองๆ

 

ส่วนพรรคขนาดกลาง จะได้ประโยชน์จากระบบ MMA มากเป็นพิเศษ ได้รับจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูงกว่า MMM หลายเท่าตัว เพราะถึงแม้จะชนะเลือกตั้งระบบเขตไม่มาก แต่คะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขตที่พรรคได้รับก็ไม่ถูกทิ้งไปเปล่า เมื่อนำคะแนน ส.ส.เขตทั้งหมดมารวมกัน พรรคขนาดกลางจะได้รับการคำนวณ ส.ส.พึงมีที่สูงเกินกว่าจำนวน ส.ส.เขตทั้งหมดมากเป็นรางวัลใหญ่ทีเดียว

 

พรรคเล็กบางพรรคก็ได้ประโยชน์จากระบบนี้เหมือนกัน แม้จะไม่มากเท่าพรรคขนาดกลาง ด้วยความที่มีคะแนนเสียงน้อยกว่า แต่ก็มีโอกาสได้รับจัดสรรที่นั่งบัญชีรายชื่ออย่างน้อย 1 ที่นั่งสูง เมื่อเอาคะแนนระบบเขตมารวมกันได้จำนวนมากพอ หรืออาจได้รับที่นั่งจากเศษชดเชยในกรณีที่มีพรรคใหญ่ได้ ส.ส.เขตเกินจำนวน ส.ส.พึงมี อย่างที่เกิดกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่เศษเหลือกว่า 20 ที่นั่งของพรรคเพื่อไทย ถูกกระจายไปให้พรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมาก

ทำไมพรรคใหญ่ถึงได้เปรียบ แต่พรรคเล็กรอวันดับ เมื่อใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

  • ข้อดีข้อเสียของระบบเลือกตั้ง MMM-MMA

 

ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 40 (MMM) ทำให้เกิดสถาบันพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มากกว่าระบบเลือกตั้งปี 60 (MMA) โดยเฉพาะในกลุ่มพรรคขนาดใหญ่ นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่บรรดาพรรคใหญ่เสนอให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งปี 40 MMM กันอีกครั้ง เพราะเห็นข้อได้เปรียบของตัวเอง รวมถึงพรรคพลังประชารัฐที่ทุกวันนี้จัดเป็นพรรคใหญ่ไม่แพ้พรรคอื่นๆ และอาจเห็นถึงข้อได้เปรียบของพรรคตัวเอง จึงต้องการกลับไปใช้ระบบนี้เหมือนกัน

 

ระบบ MMA ทำให้หน้าตาของรัฐบาลออกมาในรูปรัฐบาลผสมหลากหลายพรรค มีการต่อรองภายในพรรคร่วมรัฐบาลกันอย่างละเอียดทีเดียว จนมีเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลต่ำ เป็นรัฐบาลที่เข็มแข็งมีเอกภาพได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 คือ การนำสูตรคำนวณการได้มาส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพิสดารมาใช้ ทำให้พรรคขนาดเล็กที่คะแนนเสียงไม่ถึงคะแนนเลือกตั้งพึงมี สามารถเข้าไปนั่งในสภาฯได้และมีอำนาจต่อรองพอสมควรทีเดียว ให้การอุ้มรัฐบาล

 

  • อะไรทำให้มั่นใจ

 

***ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยจะคัมแบคอีกครั้ง หลังเจอพิษบัตรใบเดียวในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพื่อหวังผลได้รับเสียงถล่มทลายดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อปี 2540, 2548 หรือ 2554

 

***แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพลังประชารัฐก็ยังมี 250 เสียงจาก ส.ว.ตุนไว้ในมือ ดังนั้นต่อให้กลับไปใช้บัตร 2 ใบ พลังประชารัฐก็ยังถือไพ่ต่ออยู่ดี โดยไม่จำเป็นต้องง้อเสียงจากพรรคขนาดกลางและ “ขนาดเล็ก” ให้เป็นหนามหยอกอก

 

***ส่วนโอกาสที่พรรคก้าวไกล หรือชื่อเก่าคืออนาคตใหม่ ที่ได้ประโยชน์เต็มๆ จากระบบบัตรใบเดียว ชนิดกวาด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุดในสภา จะได้ ส.ส.เข้ามาเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 หรือไม่ คงลำบากหน่อย เพราะกลุ่มที่จะเลือกพรรคก้าวไกล คือกลุ่มอายุ 18-24 ปี ถ้ารวมทั้งประเทศมีมาก แต่หากแยกเป็นรายเขตเลือกตั้ง จำนวนยังน้อยกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในอายุกลุ่มดังกล่าว ทำให้ก้าวไกลไม่มีทางจะได้ ส.ส.เขตมากเหมือนปี 2562 ที่ตอนนั้นคนเลือก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทั้งที่ไม่ได้รู้จักผู้สมัคร ส.ส.เขต รวมถึงได้คะแนนจากอานิสงส์จากพรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรค แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว

 

***ส่วนพรรคเล็กที่สามารถเข้ามาในสภาฯได้หลายพรรค จากการปัดเศษคะแนน จะไม่ได้ถือแต้มต่อรองพรรคใหญ่อีกต่อไป มิหนำซ้ำอาจไม่ได้กลับเข้าสภาฯรอบสอง และจะหายออกไปจากสารบบ โดยอาจจะต้องไปร่วมกับพรรคใหญ่หรือพรรคขนาดกลาง

 

***อนาคตพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส.อยู่ในสภาฯนับสิบพรรค รวมถึงพรรคตั้งใหม่ที่นักการเมืองหลายคนไปตั้งกันตอนนี้ เช่น นายกรณ์ จาติกวณิช คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เมื่อใช้บัตรสองใบพรรคเหล่านี้จะเป็นอย่างไร? คงต้องควบรวมพรรคหรือย้ายกลับพรรคเดิม เพื่อให้มีชื่ออยู่ในสภาฯ

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ตอบโจทย์กับ 2 พรรคใหญ่ อย่างเพื่อไทยและพลังประชารัฐ และในระยะยาวนั้นจะเป็นการวางรากฐานให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ เพราะระบบเลือกตั้งโดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบคู่ขนานนั้น จะเอื้อให้พรรคขนาดใหญ่ที่มี ส.ส.เขตมาก ที่มาจากฐานคะแนนระดับพื้นที่ เมื่อได้ ส.ส.เขตหลายคน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเพิ่มขึ้น โอกาสได้ ส.ส.จึงมากตามไปด้วย

ทำไมพรรคใหญ่ถึงได้เปรียบ แต่พรรคเล็กรอวันดับ เมื่อใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

  • สุดท้ายประชาชนว่าอย่างไร?

นิด้าโพลสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เลือกตั้งบัตร 2 ใบ ใครได้เปรียบ” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง

พรรคการเมืองที่ประชาชนคิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง พบว่า

  • ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.38 ระบุว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เปรียบ
  • รองลงมา ร้อยละ 23.75 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
  • ร้อยละ 22.00 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย
  • ร้อยละ 18.36 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ
  • ร้อยละ 4.86 ระบุว่า พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
  • ร้อยละ1.29 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย
  • และร้อยละ 2.28 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคเพื่อชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคกล้า พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยภักดี และพรรคประชาช

ทำไมพรรคใหญ่ถึงได้เปรียบ แต่พรรคเล็กรอวันดับ เมื่อใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

  • ความคืบหน้าการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และว่าด้วยพรรคการเมือง

 

1.ประเด็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะกำหนดวิธีคิดคำนวณที่มีหลักการว่า ให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนหารเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนมีสิทธิ์ได้ส.ส. กรณีที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ครบ 100 คน โดยให้ใช้คะแนนของพรรคเรียงลำดับตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ เพราะเศษคะแนนของพรรคที่ได้ไม่ถึงคะแนนเฉลี่ย เมื่อรวมคะแนนที่ประชาชนเลือกควรได้ส.ส. ด้วย

 

2.สิทธิ์ที่จะส่งผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องเกิดขึ้นหลังจากที่ส่ง ส.ส.เขตแล้ว ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดจำนวนเขตที่ให้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ไว้ ดังนั้น จึงหมายความว่า ส่ง ส.ส. 1 เขต สามารถส่งส.ส.บัญชีรายชื่อได้

 

3. การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. จะยังคงใช้หลักการการคัดสรรเบื้องต้น แต่ได้ปรับเกณฑ์การสรรหาโดยให้สิทธิตัวแทนประจำจังหวัด จำนวน 150 คน จากเดิมที่กำหนดให้ใช้ตัวตัวแทนจากเขตเลือกตั้งเขตละ 100 คน หรือใช้สาขาพรรค ที่กำหนดจำนวน 500 คน

 

4. การกำหนดให้สมาชิกต้องชำระค่าธรรมเนียม จากกฎหมายเดิมกำหนดให้ ชำระแบบรายปีๆละ ไม่ต่ำกว่า 50 บาท หรือตลอดชีพ 1,000 บาท โดยจะปรับให้เป็น 200 บาทตลอดชีพ

 

5. ข้อกำหนดให้พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกพรรคเพื่อดำรงสถานะความเป็นพรรคการเมือง ที่กำหนดให้ภายใน 5 ปีต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 30,000 คน เปลี่ยนเป็น ภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิก 2,000 คนและภายใน 3 ปี มีสมาชิก 5,000 คน

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่คณะทำงานเห็นไม่ตรงกันและต้องถกในรายละเอียดอีกครั้ง คือ ประเด็นว่าด้วยการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการให้แยกหมายเลข ระหว่าง ส.ส.เขต และแบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่พรรคอื่นเห็นด้วยให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้ง ผู้สมัครแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่เห็นต่าง หากไม่ได้ข้อสรุป ได้ตกลงว่าจะให้แต่ละพรรคใช้กลไกของกรรมาธิการ และการแปรญัตติพิจารณา

 

ประเด็นที่คณะทำงานเห็นไม่ตรงกันและต้องถกในรายละเอียดอีกครั้ง คือ ประเด็นว่าด้วยการกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการให้แยกหมายเลข ระหว่าง ส.ส.เขต และแบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่พรรคอื่นเห็นด้วยให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้ง ผู้สมัครแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่เห็นต่าง หากไม่ได้ข้อสรุป ได้ตกลงว่าจะให้แต่ละพรรคใช้กลไกของกรรมาธิการ และการแปรญัตติพิจารณา

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา พรรคร่วมรัฐบาล ร่วมกันยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อประธานรัฐสภาแล้ว

 

โดยสาระสำคัญได้แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้มีสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรง ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง คือ ปรับลดค่าธรรมเนียมการสมัคร จากปีละ 100 เหลือปีละ 20 บาท ส่วนกระบวนการไพรมารี่โหวต ใช้กระบวนการที่เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ คือ สมาชิกมีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดสรรให้ได้ผู้สมัครแต่ละเขต ในส่วนของวิธีการที่กำหนดให้ทำไพรมารี่โหวตโดยลงคะแนน ให้รับฟังความเห็นสมาชิกผ่านตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือตัวแทนสาขา

 

คาดว่า ประธานรัฐสภา จะบรรจุระเบียบวาระได้ประมาณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 65 จากนั้น จะพิจารณาวาระ 2 – 3 ซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือน กรกฎาคม 65 จะแล้วเสร็จ

 

การเมือง คือ การแสวงหาอำนาจ แต่อำนาจเป็นของประชาชน ใครได้เปรียบเสียเปรียบ อยู่ในมือเรา ปลูกอะไรก็ได้อย่างนั้น ถ้าไม่ด่าง 

ขอบคุณภาพจากรายการเนชั่น อินไซต์ และ ฐานเศรษฐกิจ

 

logoline