svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สหรัฐอนุมัติยา " โมลนูพิราเวียร์ " สู้โอมิครอน แม้จะมีความเสี่ยง

24 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากอนุมัติให้ใช้ยาแพ็กซ์โลวิดในการรักษาโรคโควิด-19 ได้วันเดียว อาหารและยาสหรัฐก็อนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาตัวที่ 2 แม้ว่ายาตัวหลังจะมีประสิทธฺภาพน้อยกว่า และก่อให้เกิดผลข้างเตียงที่อันตรายมากกว่า

หน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพของสหรัฐ เมื่อวันพฤหัสบดี ( 23 ธันวาคม ) ได้อนุมัติยาตัวที่ 2 สำหรับการใช้รักษาโรคโควิด-19  ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับยาที่ใช้งานได้ง่าย ๆ อีกตัวหนึ่ง ในการต่อสู้กับการติดเชื้อโอมิครอนที่กำลังมาแรง

 

การอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาครั้งนี้ มีขึ้น 1 วันหลังจากที่ทางหน่วยงานได้อนุมัติในแบบเดียวกันให้กับยา " แพ็กซ์โลวิด " ของบริษัทคู่แข่งอย่างไฟเซอร์ ซึ่งยาเม็ดดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นทางเลือกแรกในการรักษาไวรัส ด้วยประโยชน์ที่เหนือกว่า และผลข้างเคียงที่เบากว่า

 

ด้วยเหตุนี้ ยาเม็ดของเมอร์คจึงคาดว่าจะมีบทบาทต่อการระบาดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ความสามารถในการกำจัดอาการรุนแรงของโควิด-19 ของมันนั้น น้อยกว่าที่ประกาศไว้ในตอนแรก และฉลากยา ก็จะเตือนถึงปัญหาด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรง ซึ่งก็รวมถึงโอกาสที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิด

 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุญาตให้ใช้ยาของเมอร์คสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอาการของโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุดในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะเช่นโรคอ้วนและโรคหัวใจ สหราชอาณาจักร  ได้อนุมัติยาตัวนี้เป็นครั้งแรกในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

สหรัฐอนุมัติยา " โมลนูพิราเวียร์ " สู้โอมิครอน แม้จะมีความเสี่ยง

 

 

ยาของเมอร์คที่รู้จักกันในชื่อ " โมลนูพิราเวียร์ " จะมีคำเตือนไม่ให้ใช้ในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรคุมกำเนิดในระหว่างการรักษา และสองสามวันหลังจากนั้น ขณะที่ฝ่ายชายควรใช้การคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือนหลังจากรับยาครั้งสุดท้าย 

 

ข้อจำกัดดังกล่าวคาดว่าจะต้องมีขึ้น หลังจากที่คณะที่ปรึกษาขององค์การอาหารและยาได้รับรองยาตัวนี้อย่างหวุดหวิดเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเตือนว่าการใช้ยาจะต้องได้รับการควบคุมอย่างเคร่งครัดเพื่อผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์สูงสุด

 

ส่วนยาเม็ดของไฟเซอร์นั้นทำงานแตกต่างออกไป จึงไม่มีความเสี่ยงแบบเดียวกัน นอกจากนี้ ในการทดสอบ ยาของไฟเซอร์ก็ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าประมาณ 3 เท่า ซึ่งช่วยลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้เกือบ 90% ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อเทียบกับ 30% ของเมอร์ค

 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่า แล้วยาของเมอร์คในสหรัฐอเมริกาจะมีบทบาทใหญ่ ๆ หรือไม่

สหรัฐอนุมัติยา " โมลนูพิราเวียร์ " สู้โอมิครอน แม้จะมีความเสี่ยง

 

 

สำหรับตอนนี้ การตัดสินใจขององค์การอาหารและยา ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพในการต่อต้านไวรัสที่คร่าชีวิตชาวอเมริกันไปแล้วกว่า 800,000 คน ในขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะเตรียมพร้อมสำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อระดับสถิติใหม่ การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตที่เกิดจากเชื้อโอมิครอน ยาต้านไวรัส ซึ่งก็รวมทั้งของเมอร์ค คาดว่าจะมีประสิทธิภาพในการต่อต้านโอมิครอน

 

การตัดสินใจขององค์การอาหารและยา วางอยู่บนพื้นฐานของผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยเกือบ 7% ที่รับยาไป ยังต้องไปโรงพยาบาลและอีก 1 รายเสียชีวิตเมื่อสิ้นสุดระยะการทดสอบ 30 วัน เมื่อเทียบกับ 10% ของผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก ที่ยังต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  และมีผู้เสียชีวิต 9 ราย

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง ได้ตกลงที่จะซื้อยาให้เพียงพอสำหรับการรักษาผู้คน 3.1 ล้านคน

 

สหรัฐฯ จะจ่ายประมาณ 700 ดอลลาร์สำหรับยาของเมอร์คแต่ละคอร์ส ซึ่งกำหนดให้ผู้ป่วยต้องกินยา 2 เม็ดวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 5 วัน ขณะที่การพิจารณาโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและคิงส์คอลเลจลอนดอน ประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายแค่ประมาณ 18 ดอล ลาร์สำหรับการรักษาแต่ละคอร์ส ซึ่งใช้ยา 40 เม็ด

 

ยาของเมอร์ค จะแทรกข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ลงไปในรหัสพันธุกรรมของไวรัส เพื่อชะลอการขยายพันธุ์ ผลกระทบทางพันธุกรรมนั้นทำให้เกิดความกังวลว่ายานี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวอ่อนในครรภ์ของมนุษย์และแม้กระทั่งกระตุ้นให้เกิดเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงมากขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอาหารและยาบอกว่าความเสี่ยงนั้นส่วนใหญ่เป็นในทางทฤษฎี เพราะผู้คนใช้ยาในช่วงเวลาแค่สั้น ๆ

สหรัฐอนุมัติยา " โมลนูพิราเวียร์ " สู้โอมิครอน แม้จะมีความเสี่ยง

 

 

logoline