เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เพื่อกระตุ้นต่อมรักษ์โลกและปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อม Nation STORY มีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับเส้นทางของขยะมูลฝอย จากหน่วยงานราชการที่เป็นแบบอย่างในเรื่องของการจัดการกับขยะอย่าง “กรุงเทพมหานคร” มาฝาก
ในขณะที่เราทิ้งขยะเศษอาหารลงถัง หรือเวลาที่เราไปจ่ายตลาดแล้วเห็นพ่อค้า แม่ค้าคัดผักหรือผลไม้ที่ไม่สวยทิ้ง เคยสงสัยกันไหมว่า เศษอาหารเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน?
ครั้งนี้ขอพาทุกท่านติดตามการเดินทางของขยะเศษอาหาร จากจุดทิ้งขยะสู่การแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ผ่านการทำงานของ “ภาคิน งามประเสริฐ” พนักงานเก็บขยะ สำนักงานเขตดุสิต ผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทำงานเก็บขยะเศษอาหารในกรุงเทพมหานคร
ช่วงเช้าของทุกวัน ภาคินและทีมงานเริ่มต้นภารกิจเก็บกวาดตลาดมหานาค พวกเขาออกเดินทางด้วยรถเก็บขยะ มุ่งหน้าสู่จุดทิ้งขยะที่เต็มไปด้วยขยะเศษอาหารจากร้านค้าและแผงขายของ
"เมื่อมาถึงจุดรับขยะ เราจะเริ่มแยกขยะโดยแยกถุงพลาสติกออกจากเข่งผัก เพื่อที่เราจะเอาผักอย่างเดียว ไปทำปุ๋ยต่อไป" ภาคินอธิบายถึงขั้นตอนแรกของกระบวนการ
"เราไม่เทรวมนะครับ ขยะอินทรีย์จะถูกแยกออกจากขยะประเภทอื่นๆ อย่างเด็ดขาด" ภาคินย้ำถึงจุดยืนของโครงการไม่เทรวม งานแยกขยะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนจัด พวกเขาต้องเผชิญกับความร้อนและกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง แต่ด้วยความทุ่มเทและความมุ่งมั่น พวกเขาทำงานอย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว แยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
"เหนื่อยนะครับ ยิ่งวันที่ร้อน ๆ เนี่ย ตับแตกเลย" ภาคินเล่าด้วยรอยยิ้ม
"บางวันก็ 3 ตัน บางวันก็ 4 ตัน ครับ แล้วแต่วันเลย อย่างช่วงสงกรานต์ก็ไม่ได้หยุดนะ ขยะก็ราวๆ นั้นเลย" ภาคินเผยถึงปริมาณขยะเศษอาหารที่พวกเขาต้องจัดการในแต่ละวัน
50% ของกองขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นขยะเศษอาหาร ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า
"ต้องทำงานแข่งกับเวลาครับ เพราะรถเข้ามาในตลาดตลอด และถนนไปได้ทางเดียว เลยต้องแข่งกับเวลา" ภาคินอธิบายถึงอีกหนึ่งความท้าทาย เขาเสริมว่าการทำงานส่วนใหญ่ราบรื่นเพราะพ่อค้า แม่ค้าในตลาดให้ความร่วมมืออย่างดีในการแยกขยะเศษอาหารเบื้องต้น
พวกเขาต้องทำงานอย่างรวดเร็ว เก็บขยะให้เสร็จภายใน 10 โมง เพื่อให้รถขนขยะประเภทอื่นคันต่อไปสามารถเข้ามาทำงานต่อได้ เพื่อไม่รบกวนพ่อค้า แม่ค้าในตลาด รวมถึงประชาชนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย
เราติดตามรถเก็บขยะมาถึงจุดหมายปลายทาง นั่นคือศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ที่นี่มีกระบวนการแปรรูปขยะเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ
ขยะเศษอาหารถูกเทลงบนกองใหญ่ พนักงานจะทำการคัดแยกอีกครั้ง เพื่อให้มีแต่ขยะเศษอาหารเท่านั้น ก่อนนำไปผสมกับวัสดุอื่นๆ เช่น ใบไม้ เศษไม้ มูลสัตว์ ฯลฯ หมักจนได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง แล้วนำไปแจกจ่ายให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการ
โครงการ "ไม่เทรวม" พิสูจน์แล้วว่า กทม. แยกขยะจริง และการแยกขยะช่วยลดปริมาณขยะอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2566 ปริมาณขยะลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตันต่อวัน ส่งผลดีทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ดังนี้
ความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่แยกขยะก่อนทิ้ง ส่งผลดีต่อระบบการจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร ร่วมสร้างเมืองหลวงให้สะอาด ประชาชนสามารถเริ่มแยกขยะง่าย ๆ เพียงใส่ถุงแยกประเภท หรือใส่ถุงดำพร้อมเขียนข้อความระบุประเภทขยะ ดังนี้