svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผลการทดลองไวรัสโควิด-19 "โอมิครอน” ติดเซลล์ปอดได้ไม่เก่งเท่า “เดลตา”

16 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.อนันต์ นักไวรัสวิทยา ได้โพสต์ผลวิจัย สายพันธุ์ “โอมิครอน” ติดเซลล์ในทางเดินหายใจส่วนบนได้ดี แต่ความรุนแรงไม่มากไปกว่าสายพันธุ์อื่นๆ

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana  ถึงความคืบหน้าในการทดลองเพาะเลี้ยงไวรัสโอมิครอนจากต่างประเทศ

 

ระบุว่า ทีมวิจัยของฮ่องกงทำการทดลองเพาะเลี้ยงไวรัสโอมิครอนที่แยกได้จากผู้ป่วย ในเซลล์มนุษย์ที่แยกมาจากอวัยวะ 2 แหล่งคือ เซลล์หลอดลม (Bronchus) และ เซลล์ปอด (Lung)

 

โดยทีมวิจัยถามคำถามว่า เมื่อนำไวรัสโอมครอนมาติดเซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้ เทียบกับไวรัสโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา และ สายพันธุ์ดั้งเดิม ความสามารถในการเพิ่มจำนวนของไวรัสแต่ละชนิดจะมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร ผลการทดลองออกมาน่าสนใจ

 

 

ผลการทดลองไวรัสโควิด-19 "โอมิครอน” ติดเซลล์ปอดได้ไม่เก่งเท่า “เดลตา”

 

ในกลุ่มเซลล์หลอดลม ซึ่งเป็นเซลล์ในทางเดินหายใจส่วนบน พบว่า ไวรัสโอมิครอนสามารถเพิ่มจำนวนได้ดีที่สุด สร้างอนุภาคไวรัสออกมากที่สุด มากกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 70 เท่า โดยเฉพาะ 24 ชั่วโมงแรกของการวัดปริมาณไวรัส แต่พอต่อไปสัก 48 ชั่วโมงเดลต้าก็ไวขึ้น ความต่างลดน้อยลงแต่ก็ยังน้อยกว่าโอมิครอนอยู่พอสมควร

 

 

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา

 

ในกลุ่มเซลล์ปอด โอมิครอนเหมือนจะติดเซลล์ปอดได้ไม่เก่งเท่าเดลตา และ สายพันธุ์ดั้งเดิม เพราะ ไวรัสที่ติดเซลล์ปอดในกลุ่มของโอมิครอนได้ออกมาน้อยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 10 เท่า

 

 

ผลการทดลองไวรัสโควิด-19 "โอมิครอน” ติดเซลล์ปอดได้ไม่เก่งเท่า “เดลตา”

 

แต่ที่น่าสนใจคือ เดลตาก็น้อยกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมเช่นเดียวกันในการทดลองชุดนี้ เปรียบเทียบระหว่างเดลต้าและโอมิครอนในเซลล์ปอด โอมิครอนน้อยกว่าเดลต้าเล็กน้อยและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

 

ชัดเจนว่าโอมิครอนติดเซลล์ในทางเดินหายใจส่วนบนได้ดีมาก ซึ่งอาจจะอธิบายได้ว่าทำไมไวรัสสายพันธุ์นี่ถึงแพร่กระจายได้ดี นอกเหนือจากความสามารถหนีภูมิคุ้มกันของไวรัส และ ผลในเซลล์ปอดก็ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีว่า ไวรัสอาจจะติดเซลล์ปอดได้ไม่ดีเท่าไวรัสดั้งเดิม  ซึ่งข้อมูลสนับสนุนเรื่อง ความรุนแรงของโอมิครอนคงจะไม่มากไปกว่าสายพันธุ์อื่นๆก่อนหน้านี้ แต่จะลดลงหรือไม่อย่างไรเทียบกับเดลต้าที่สร้างความเสียหายอย่างมากยังไม่ชัดเจนจากข้อมูลที่นำมาเทียบกับเดลต้าชุดนี้

 

ผลการทดลองไวรัสโควิด-19 "โอมิครอน” ติดเซลล์ปอดได้ไม่เก่งเท่า “เดลตา”

 

เอกสารอ้างอิง

https://www.med.hku.hk/.../20211215-omicron-sars-cov-2...

 

ที่มา : เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana

logoline