svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐธรรมนูญในพื้นที่สีเทา! รำลึกวันรัฐธรรมนูญ 2564

10 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันที่ 10 ธันวาคม หรือ "วันรัฐธรรมนูญ" ของสังคมไทยเวียนมาครบรอบอีกวาระหนึ่ง ว่าที่จริงแล้วในบริบทการเมืองไทยนั้น วันรัฐธรรมนูญแทบจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก ยกเว้นเป็นวันหยุดราชการ ที่เราจะได้พักผ่อนเพิ่มอีกวันหนึ่ง

อีกทั้ง ผู้คนในสังคมเอง ก็แทบจะไม่มีความทรงจำหลงเหลืออยู่มากนักกับการกำเนิดของ "รัฐธรรมนูญสยาม" ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในปี 2475 

 

ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างมากจากฝ่ายอนุรักษนิยมและจารีตนิยม ที่ต้องการ "ด้อยค่า" ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม จนทำให้ "คณะราษฎร์" กลายเป็น "ตัวร้าย" ในการเมืองไทย ทั้งยังนำไปสู่ปรากฎการณ์ "หักล้างประวัติศาสตร์" ที่ฝ่ายขวาต้องการทำลายผลพวงของการเปลี่ยนแปลงนั้น จนอาจต้องเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า "กบฎบวรเดชในศตวรรษที่ 21" ที่สะท้อนชัดถึงความต้องการ ที่จะพาสังคมปัจจุบันกลับสู่โลกของสยามในอดีต

 

แน่นอนว่า ความพยายามเช่นนี้ไม่เพียงเสริมสร้าง "อุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตย" เท่านั้น หากยังสะท้อนถึงภาวะของการขาดความตระหนักรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดในปีดังกล่าวของสยาม เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะได้เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงในเวทีโลก ในช่วงทศวรรษของปี 2473 (ทศวรรษของปี คศ. 1930) และสยามเองก็ถูกแวดล้อมด้วย "กระแสรัฐธรรมนูญนิยม" ที่ปรากฏตัวในช่วงเวลาดังกล่าว

 

อันทำให้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยมที่ก่อตัวขึ้นในสยามหลัง 2475 เป็นตัวแทนของ "ความเป็นสมัยใหม่" ของการสร้างรัฐสมัยใหม่ของสยาม และการเปลี่ยนเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างสันติ เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซีย ในจีน หรือในตุรกี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การสร้างรากฐานของระบอบรัฐธรรมนูญนิยมใช่เรื่องที่จะประสบความสำเร็จได้โดยง่ายในสยาม เพราะเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ รัฐประหารในการเมืองไทยครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกในปี 2490 ความสำเร็จเช่นนี้สะท้อนถึงการสิ้นสุดของ "ยุคคณะราษฎร์" เพราะทิศทาง และแนวนโยบายของผู้ก่อการครั้งนั้น ได้ถูกยกเลิกไป และรัฐประหารนี้ คือ จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างรากฐานของฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมในการเมืองไทยจวบจนปัจจุบัน

 

การปิดฉากคณะราษฎร์ยังส่งผลให้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยมที่เริ่มก่อตัวขึ้น ประสบภัยพิบัติตามไปด้วย และตามมาด้วยการรัฐประหารของฝ่ายขวาที่เกิดขึ้นมาเป็นลำดับ จนระบอบรัฐธรรมนูญแทบไม่มีความหมายอะไร เพราะการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้ "ธรรมนูญการปกครอง" ที่เกิดจากการยึดอำนาจของผู้นำทหาร และหลังการยึดอำนาจแล้ว

 

พวกเขาก็จะลงมือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง และหาหนทางกลับสู่อำนาจ ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียง "เกมกล" ของผู้นำรัฐประหารในการได้อำนาจรัฐหลังการเลือกตั้ง หรือกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า รัฐธรรมนูญเช่นนี้กลายเป็นปัจจัยของการสร้าง "ระบอบพันทาง" (ระบอบไฮบริด)

 

 

แต่เมื่อใดก็ตามที่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และผู้นำปีกขวาไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว พวกเขาพร้อมที่จะ "ฉีก" รัฐธรรมนูญได้เสมอ ในสภาวะเช่นนี้ การปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญจึงกลาย "ภาวะชั่วคราว" ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะสะดุดลงเมื่อใด และขณะเดียวกัน สถาบันตุลาการเอง ก็ยอมรับว่าการได้อำนาจรัฐด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จนถึงกับกล่าวว่า คณะรัฐประหาร คือ "องค์อธิปัตย์" ที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่เรากำหนดกติกาในทางการเมืองกันแล้วว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็น "กบฏ"

 

ผลเช่นนี้ทำให้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยมในไทยอยู่ใน "พื้นที่สีเทา" มาโดยตลอด และขณะเดียวกันก็เป็นระบอบที่ฝ่ายอนุรักษนิยม-จารีตนิยมสุดขั้ว มักจะแสดงการต่อต้านด้วยความรังเกียจเสมอ การขับเคลื่อนของฝ่ายต่อต้านเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้การพัฒนาประชาธิปไตยไทยต้อง "ประสบอุบัติเหตุ" ในระหว่างการเดินทางเสมอ สภาวะเช่นนี้ทำให้ สิ่งที่เรามักจะถูกพร่ำสอนมาอย่างยาวนานว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นกฎหมายแม่บทที่ใครจะละเมิดมิได้นั้น ไม่มีความหมายที่แท้จริง เพราะรัฐธรรมนูญไทยถูกฉีกมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จน "วันรัฐธรรมนูญ" แทบจะกลายเป็น "ความย้อนแย้ง" ในการเมืองไทยอย่างยิ่ง และดูเหมือนว่า เราจะจดจำ "วันฉีกรัฐธรรมนูญ" ได้มากกว่า "วันรัฐธรรมนูญ"

 

มุมมองทางรัฐศาสตร์     

 

แต่ถ้าเราต้องคิดเพิ่มเติมด้วยมุมมองทางรัฐศาสตร์แล้ว เราอาจจะกล่าวถึง "รัฐธรรมนูญในอุดมคติ" ด้วยข้อสังเกตอย่างสังเขป 5 ประการ ดังนี้

 

 

1)  รัฐธรรมนูญ คือ เครื่องมือของการกำหนดทิศทางการพัฒนาทางการเมืองของประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญไม่เพียงกำหนดความสัมพันธ์ทางการเมืองของสามสถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น (คือ สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) หากสาระของรัฐธรรมนูญยังเป็นเครื่องบ่งชี้ ถึงรูปแบบการปกครองของรัฐนั้นๆ ตลอดรวมถึงอุดมคติทางการเมืองแห่งรัฐอีกด้วย

 

2) รัฐธรรมนูญ คือ การกำหนดกระบวนการการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันการได้อำนาจรัฐนั้น จะได้มาบนพื้นฐานของ "ฉันทานุมัติประชาชน" ที่ผ่านการแข่งขันทางการเมืองอย่าง "เสรีและเป็นธรรม" (หลักการ free and fair elections)

 

3) รัฐธรรมนูญ คือ ข้อกำหนดในการสร้างพื้นฐานของกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ที่จะเดินไปสู่การสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งของสังคมการเมือง (ขั้นตอนของ democratic consolidation ในทางทฤษฎี)

 

4) รัฐธรรมนูญ คือ ปัจจัยเบื้องต้นที่เป็น "ฉันทามติ" ของกลุ่มการเมืองและภาคประชาสังคม ที่จะใช้เป็นกรอบกติกาการเมืองของประเทศ ไม่ใช่เป็นกฎหมายเพื่อการสร้างความได้เปรียบทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ประเด็นเรื่องของ democratic procedures ในกระบวนการเมือง)

 

5) รัฐธรรมนูญ คือ หลักประกันพื้นฐานของการมีองค์ประกอบหลักสี่ส่วนของระบอบประชาธิปไตย คือ นิติรัฐ เสรีภาพทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิมนุษย์ชน ซึ่งองค์ประกอบทั้งสี่ได้รับการยอมรับว่าเป็น "บรรทัดฐานสากล" ของอารยรัฐในเวทีการเมืองโลกปัจจุบัน

 

โลกแห่งความย้อนแย้ง!

 

ด้วยมุมมองของรัฐธรรมนูญทางรัฐศาสตร์เช่นนี้ อาจจะพอช่วยสำหรับการคิดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยในอนาคตได้บ้าง ไม่ใช่เป็น "รัฐธรรมนูญสีเทา" อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับวันรัฐธรรมนูญที่เวียนมาครบรอบอีกครั้ง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ผู้นำการเมืองไทยในปัจจุบันก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการยึดอำนาจ และถ้าวันนี้พวกเขาต้องออกมาแสดงบทในเวทีสาธารณะ ถึงความสำคัญของระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว พวกเขาจะกล่าวเช่นไร หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียง "ตลกร้าย" ในการเมืองไทย ที่ "คนฉีกรัฐธรรมนูญ" สุดท้ายแล้วก็ต้องอยู่ในอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ… โลกของการเมืองไทยของฝ่ายขวาช่างย้อนแย้งสิ้นดี!

logoline