svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สุรชาติ"ถอดบทเรียน 14 ตุลาฯสงครามความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม

14 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สุรชาติ บำรุงสุข" ฉายภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กับการต่อสู้ทางความคิดระหว่างฝ่ายอนุรักษ์-เสรีนิยม ท่ามกลางบริบทคนรุ่นใหม่ไม่เอาเผด็จการ ก่อนพวกขวาสุดโต่งปรับตัวพาประเทศออกจากความขัดแย้ง

14 ตุลาคม 2564 รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความขัดแย้งช่วงเหตุการณ์เดือนตุลา เกิดขึ้นระหว่างอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม ซึ่งถ้าเริ่มต้นจากการทำรัฐประหารปี 2505 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อด้วย จอมพล.ป พิบูลสงคม ปี 2501 ทำให้เกิดการตอกย้ำกระแสการสู้กันทางความคิด จนไปจบที่เหตุการณ์ใหญ่สุด คือ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติทางการเมืองครั้งที่ 2

 

เหตุการณ์ 14 ตุลา เหมือนเป็นมรดกต่อสู้ของคนหนุ่มสาวทั่วโลก เปรียบเสมือนการปฏิวัติฝรั่งเศส ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นความคิดชัดเจน คือ ไม่เอาเผด็จการ พอรื้อระบบทหาร เกิดกระแสแนวคิดเสรีนิยม ภูมิทัศน์ใหญ่ที่ตามมา คือ การจัดระเบียบทางการเมือง แล้วการเลือกตั้งก็เริ่มฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ตาม หลัง 14 ตุลา เกิดการประท้วงจากคนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะชาวนาในชนบท ซึ่งคนเหล่านี้ถูกสังคมลืม ทั้งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ 14 ตุลา ยังมีเรื่องใหญ่ คือ ความขัดแย้งของผู้นำทหาร อีกทั้ง ได้เห็นตัวละครซ้อนในการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา มีการเคลื่อนไหวของปีกที่ไม่เอาผู้นำทหารในยุคนั้น คือ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร

 

"สำหรับผม ยุคนั้นนี่คือ 3 ป. เพียงแต่เป็น 3 ป. อีกแบบหนึ่ง จอมพลถนอม กิตติขจร , จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ตัวละครใหญ่ที่เรียกว่า รัฐบาล 3 ทหาร ในระหว่างนั้นมันก็มีเงื่อนไขความขัดแย้งในกองทัพ ภายในวงจรของกลุ่มผู้มีอำนาจ มันซ้อนอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเหมือนเป็นการเปิดโจทย์ชุดใหม่ให้กับสังคมไทย" รศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

"สุรชาติ"ถอดบทเรียน 14 ตุลาฯสงครามความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม

รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกัน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ประเทศได้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง และมีโจทย์ชุดใหม่ คือ สงครามรอบบ้าน โดยช่วงปี 2516-2517 เริ่มเห็นกระแสสังคมนิยมผ่านคนรุ่นใหม่ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูบริบทจะเห็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเริ่มกังวล เรื่อยมากระทั่งปี 2518 โดย 3 ประเทศอินโดจีน เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง สอดรับกับทฤษฎีที่อเมริกันสร้างไว้ในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ว่าประเทศใดในตะวันออกเฉียงใต้ล้ม จะเกิดล้มตามกันเป็นโดมิโน

 

รศ.ดร.สุรชาติ อธิบายต่อว่า ปี 2517-2518 เมื่อเกิดความผันผวน รัฐบาลขณะนั้น นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงตัดสินใจเปิดความสัมพันธ์กับจีนเพื่อถ่วงดุล โดยหลังรัฐบาล 6 ตุลา 2519 มีทิศทางนโยบายเอียงไปทางขวาจัด หรือ อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง แต่พอถึงจุดหนึ่ง ปีกอนุรักษ์นิยม รวมถึงผู้นำทหารบางส่วน เริ่มคิดใหม่ว่า นโยบายขวาสุดโต่ง มันอาจไม่เอื้อให้ประเทศไทยรอดจากสงครามกลางเมือง ที่ตามมา คือ ความพยายามจะเปลี่ยนทิศทางของประเทศ คือ รัฐประหารในปี 2520

 

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า จากนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาเป็นนายกฯ และเริ่มปรับเชิงนโยบาย เกิดรัฐธรรมนูญ 2521 และเลือกตั้งในปี 2522 ต่อมา พล.อ.เกรียงศักดิ์ ต้องลาออกด้วยแรงกดดันของกลุ่มยังเติร์ก แล้วต้นปี 2523 ได้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ

 

"สุรชาติ"ถอดบทเรียน 14 ตุลาฯสงครามความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยม-เสรีนิยม

ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ จาก คำสั่ง 16/23 และ คำสั่ง 65/25 แสดงว่าในรอยต่อจากรัฐประหาร ปี 20 ถึงสมัยนายกฯ เปรม ความน่าสนใจอีกมิติหนึ่งก็คือ เอาเข้าจริงๆ แล้ว ปีกอนุรักษ์นิยมไทยก็ปรับตัว และพร้อมที่จะออกาจากความขัดแย้ง เพื่อปรับทิศทางให้กับประเทศ และพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยเริ่มมีอาการถดถอย พอถึงเดือนตุลาคม ปี 2526 สงครามคอมมิวนิสต์ในไทยก็จบลง

 

"คนรุ่นผม คือ คน 3 ตุลา เพราะผ่านทั้ง เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่เป็นเหมือนการก่อตัวของคนรุ่นใหม่ ผ่าน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกปราบจนต้องเข้าไปสู้ในชนบท แต่พอถึง ตุลาคม 2526 ความขัดแย้งมันก็จบ ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ในเดือนตุลาคมอีกเช่นกัน ในปี 2526 การเมืองไทยคลี่คลายไปอีกรูปแบบหนึ่ง หรือพูดง่ายๆ คือการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ชีวิตคน และที่ใหญ่ที่สุด ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ของการเมืองไทย" รศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

 

นอกจากนี้ หลังปี 2526 ไทยอยู่ในฐานะที่โดดเด่นในภูมิภาค กลายเป็นประเทศมีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดเพราะขณะนั้นรอบบ้านมีปัญหากันหมด แต่ไทยสามารถปิดฉากสงครามชุดใหญ่ที่สุดได้ และคนรุ่นตนที่เข้าฐานที่มั่นในชนบท ก็กลับเข้าเมือง กลับมาเรียนหนังสือ กลับมาประกอบอาชีพ ฯลฯ จึงเป็นการจบสงครามแบบสวยที่สุด และไทยกลายเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพ แล้วก็นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

logoline