svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ธ.ก.ส. หนุนเกษตรกรสร้างอาชีพตั้งเป้า 6 หมื่นราย

29 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ธ.ก.ส. หนุนเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความมั่นคงทางรายได้ผ่านโครงการ 1 สาขา สร้างอาชีพสู้วิกฤติโควิด-19 ตั้งเป้าส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกร แรงงานคืนถิ่น และบัณฑิตจบใหม่จำนวนกว่า 6 หมื่นราย

29 พฤศจิกายน 2564 นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเกิดภัยธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในมิติด้านการดำเนินชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่ New Normal มิติด้านรายได้ที่ลดลงจากปัญหาการเลิกจ้างงาน ผลผลิตการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงผลกระทบจากราคาผลผลิตตกต่ำ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวข้ามวิกฤต ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ธ.ก.ส. ได้ดำเนิน “โครงการ 1 สาขา สร้างอาชีพสู้วิกฤติโควิด-19” โดยให้ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศกว่า 1,200 สาขา ค้นหาเกษตรกรลูกค้า บุคคลในครัวเรือนเกษตรกรลูกค้า ผู้ที่ลงทะเบียนขอสินเชื่อโควิด-19 แรงงานคืนถิ่น บัณฑิตจบใหม่ที่ยังว่างงานและสนใจที่จะนำความรู้มาพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงกลุ่มบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพลูกค้าเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นต้น เพื่อเข้าร่วมการพัฒนา ฟื้นฟู และสร้างอาชีพใหม่ ๆ โดยให้มีการส่งเสริมอาชีพอย่างน้อย 1 อาชีพต่อ 1 สาขา เป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 10,000 ราย ภายในปี 2564 และอีก 50,000 ราย ในปี 2565
 

สมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

สำหรับการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย การสนับสนุนการพึ่งตนเอง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ผ่านระบบ E-Learning หรือแหล่งเรียนรู้ เช่น ชุมชนต้นแบบฯ / ศูนย์เรียนรู้ฯ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น โดยนำความองค์ความรู้ทักษะ มาเป็นแนวทางปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฏีใหม่ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง และพึ่งพาซึ่งกันและกันในการต่อยอดการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ สร้างกิจกรรมทางธุรกิจ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ร่วมจัดทำแผนชีวิต หรือแผนครัวเรือน และกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับครัวเรือน เช่น โครงการ 459 โครงการเกษตรกรรมยั่งยืน (เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ และเกษตรธรรมชาติ) เป็นต้น

​การสนับสนุนการสร้างอาชีพ โดยยึดหลักการรวมกลุ่มและการมีส่วนร่วมของสมาชิก การจัดทำแผนพัฒนาของกลุ่ม (แผนอาชีพ หรือแผนธุรกิจ) พร้อมกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ จากนั้นต่อยอดการพัฒนาสู่โครงการอื่น ๆ อาทิ โครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย โครงการเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer โครงการสนับสนุนชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่มจากไม้ตลอดห่วงโซ่การผลิต  การปลูกพืชทางเลือกใหม่ เป็นต้น โดยการพัฒนาเสริมทักษะ ด้านการผลิต  การจัดการตลาด  การสร้างกิจกรรมทางธุรกิจ (การผลิต  การแปรรูป  การรวบรวม การบริการ) และการประสานภาคีเครือข่ายในการสนับสนุนองค์ความรู้ ปัจจัยการผลิต เครื่องจักร และเทคโนโลยี


​นอกจากนี้ยังเตรียมพร้อมในการพัฒนาช่องทางการตลาด Online ที่เชื่อมโยงไปสู่ตลาด Social Commerce และตลาด Offline  รองรับการจำหน่ายผลผลิตทั้งภายในและภายนอกชุมชน เช่น ตลาดนัดของดีวิถีชุมชน ส่วนงานราชการ เรือนจำ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน PTTOR เป็นต้น รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือค่าลงทุน อาทิ สินเชื่อร่วมกลุ่ม สินเชื่อสู้ภัยโควิด สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน เป็นต้น


โครงการดังกล่าว นอกจากมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย กลุ่มผู้เปราะบางที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ มีความมั่นคงทางอาหาร สามารถพึ่งพาตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นลำดับแรกแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะต่อยอดในการสร้างอาชีพให้กับแรงงานคืนถิ่น บัณฑิตจบใหม่ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ด้านเทคโนโลยี มาร่วมพัฒนาภาคการเกษตร ทดแทนกลุ่มเกษตรกรที่มีอายุมาก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ นายสมเกียรติ กล่าว

logoline